ธุรกิจแห่ออก “หุ้นกู้” คาดหนุนยอดปีนี้ทะลุ 1 ล้านล้าน แซงหน้าปี’62

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เผยธุรกิจแห่ออกขายหุ้นกู้ปีนี้เกินคาด ชี้มีโอกาสทะลุ 1 ล้านล้านบาท แซงหน้าปี 2562 สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่เติบโตดีอย่างต่อเนื่อง เผยผลประชุม กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ในการประชุมเดือน พ.ย.นี้ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 และ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 4 มีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงจากการสำรวจเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 64 

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ยอดออกหุ้นกู้ในรอบ 10 เดือนเพิ่มขึ้น 59% อยู่ที่ประมาณ 896,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.และ ส.ค. เป็น 3 เดือนที่มียอดการออกหุ้นกู้ทะลุ 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้เชื่อว่าในเดือน พ.ย.นี้ก็จะเป็นอีกเดือนที่มียอดการออกหุ้นกู้ทะลุ 1 แสนล้านบาท รวมถึงในช่วงที่เหลือของปีนี้ก็มองว่าจะมียอดการจำหน่ายหุ้นกู้รุ่นใหม่เพื่อทดแทนรุ่นเดิม (Rollover) อยู่ที่ประมาณ 1.12 แสนล้านบาท ขณะที่ยอดการออกน่าจะไม่ต่ำกว่า 1.4 แสนล้าน เพราะฉะนั้นชัดเจนว่ายอดของการออกหุ้นกู้ในปีนี้น่าจะแซงหน้าปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่มียอดออกหุ้นกู้สูงสุดที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท

“โดยปัจจัยที่ทำให้ปีนี้มียอดการออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้น มาจากการที่พันธบัตรรัฐบาลที่มีการปรับตัวเพิมขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี แม้ว่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย รวมถึงเรื่องของ ESG ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทให้มีการออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้นในปีนี้ ซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินการของบริษัทที่เติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง” นางสาวอริยากล่าว

อริยา ติรณะประกิจ
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ

ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบเดือน พ.ย. 64 นี้อยู่ที่ระดับ 50 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากครั้งที่แล้วและยังอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)” สะท้อนมุมมองของตลาดที่คาดว่าการประชุม กนง. ในเดือน พ.ย.นี้ ทาง กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.5 เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และธุรกิจต่าง ๆ เช่น สินเชื่อฟื้นฟู และพักทรัพย์พักหนี้ ความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงลดลง

อย่างไรก็ตาม ต้องคอยจับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและตัวเลขผู้ติดเชื้อหลังเปิดเมือง หากสถานการณ์โควิดกลับมาแย่ลงและเศรษฐกิจฟื้นตัวน้อยกว่าคาดธนาคารแห่งประเทศไทยอาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้อีก

ส่วนดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 และ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 4 อยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)” โดยดัชนีอยู่ในระดับเดียวกันจากครั้งที่แล้วจากการมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากขึ้นคาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนอาจปรับตัวสูงขึ้น

โดยผู้ตอบแบบสอบถามบางส่วนคาดว่าอัตราผลตอบแทนอาจไม่ปรับสูงขึ้นไปมากกว่านี้แล้ว สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 5 และ 10 ปี น่าจะไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับ 1.24% และ 06 ตามลำดับ ณ วันที่ทำการสำรวจ (21 ต.ค. 64) โดยปัจจัยที่มีผลต่อการคาดการณ์ ได้แก่ อุปสงค์และอุปทานในตลาดตราสารหนี้ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก