แบงก์เขย่า ลดคน-ลดสาขา SCB แชมป์ปิดกว่า 200 แห่ง

แบงก์สบช่องวิกฤตโควิด โหมลดสาขาลูกค้าย้ายไปใช้ “โมบายแบงกิ้ง” เผย 2 ปี ธนาคารลดสาขารวมกว่า 600 แห่ง “ไทยพาณิชย์” แชมป์ลดมากสุด 201 สาขา ธปท.ชี้แบงก์เดินหน้าลดค่าใช้จ่ายทั้ง “ลดคน-ลดสาขา” ช่วยดันกำไรโต หันจ้างพนักงานเอาต์ซอร์ซ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2562 จนถึง ก.ย. 2564 จำนวนสาขาและจุดให้บริการในประเทศของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีการปรับลดลงจำนวน 664 สาขา จากรวม 6,809 สาขา เหลือ 6,145 สาขา

โดย 5 ธนาคารพาณิชย์ที่มีการปรับลดสาขามากสุดในช่วงโควิด-19 ระบาด อันดับ 1 คือ ธนาคารไทยพาณิชย์มีจำนวนสาขาที่ปรับลดลงมากสุดที่ 201 สาขา จาก 1,034 สาขา เหลือ 833 สาขา รองลงมา ธนาคารกรุงไทยลดลง 79 สาขา จาก 1,105 สาขา เหลือ 1,026 สาขา อันดับ 3 ธนาคารกรุงศรีอยุธยาปรับลดลง 37 สาขา จาก 703 สาขา เหลือ 666 สาขา

อันดับ 4 ธนาคารกสิกรไทยลดลง 31 สาขา จาก 894 สาขา เป็น 863 สาขา และธนาคารกรุงเทพลดลง 30 สาขา จาก 1,148 สาขา เหลือ 1,118 สาขา ขณะที่ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) มีจำนวนสาขาปรับเพิ่มขึ้น 252 สาขา จาก 401 สาขา เป็น 653 สาขา ซึ่งเป็นผลจากการควบรวมกิจการ

ธปท.ชี้แบงก์โหมลดค่าใช้จ่าย

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มปิดสาขาลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และน่าจะยังคงทยอยปรับลดสาขาลงต่อไปอีก โดยธนาคารพาณิชย์จะหันไปให้ความสำคัญในด้านดิจิทัลมากขึ้น เช่น ช่องทางโมบายแบงกิ้ง หรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการแต่งตั้งแบงกิ้งเอเย่นต์มากขึ้น โดยสาขาจะทำหน้าที่ทำธุรกรรมที่มีซับซ้อนแทน

“จะเห็นว่าผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/2564 ทั้งระบบมีกำไรสุทธิ 3.85 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวของปีก่อน 45.1% โดยสาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองที่ลดลง และการปรับลดค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างดี โดยธนาคารสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ราว 6% ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นการปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนของกิจการสาขาและพนักงานเป็นสำคัญ” นางสาวสุวรรณีกล่าว

ลดสาขา-ลดคนจ้างเอาต์ซอร์ซ

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีการปรับลดสาขาลงอย่างต่อเนื่องและเร็วขึ้น จากเดิมแต่ละปีจะลดลงราว 200 แห่ง แต่ปัจจุบันทะลุ 300 แห่งต่อปีแล้ว ซึ่งมาจากหลายปัจจัย

เช่น พฤติกรรมการผู้บริโภคและลูกค้าของธนาคารที่เปลี่ยนไปใช้ออนไลน์มากขึ้น ทำให้ธนาคารลดน้ำหนักเรื่องของสาขาลง เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มตัวแทนธนาคาร (banking agent) จุดให้บริการและช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยจะเห็นว่าจำนวนบัญชีโมบายแบงกิ้งมีสูงกว่าจำนวนประชากรแล้ว

และแน่นอนว่า โดยธรรมชาติเมื่อสาขาปรับลดลงและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จำนวนพนักงานก็ต้องปรับลดลง หรือถูกหมุนไปทำงานด้านอื่น ๆ แทน รวมถึงจะเห็นภาพธนาคารและธุรกิจอื่น ๆ หันไปใช้วิธีจ้างพนักงานเอาต์ซอร์ซแทนพนักงานประจำมากขึ้น

เพื่อทำให้องค์กรคล่องตัวและลดต้นทุน แต่ยังคงเห็นธนาคารคุมเข้มเรื่องเกณฑ์บริหารความเสี่ยงตามหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น การให้บริการอย่างมีธรรมาภิบาล (market conduct) เป็นต้น

“การแข่งขันของแบงก์ต่อไปจะต้องรวดเร็ว สะดวกยิ่งขึ้น แต่เชื่อว่าสาขาจะไม่หายไป แต่จะไปตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ธุรกรรมที่ซับซ้อน แต่ถ้าเป็นธุรกรรมแบบเดย์ทูเดย์ ฝากถอนโอนจ่ายจะไปอยู่บนแอปออนไลน์หมด

สำหรับสาขาที่ลดลง ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่มีสาขาที่ความหนาแน่นมากเกินไป และเชื่อว่าแบงก์มีการรีวิวสม่ำเสมอ หากพื้นที่ไหนกลับมาเป็นพื้นที่ธุรกิจแบงก์ก็คงพิจารณากลับมาเปิดได้” นางสาวธัญญลักษณ์กล่าว

BBL ปรับตามพฤติกรรมลูกค้า

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การพิจารณาควบรวมสาขาเป็นไปตามแผนการปรับตัวของธนาคาร เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากการเติบโตของดิจิทัล ซึ่งการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีนี้เป็นแรงผลักดันให้เห็นการปรับตัวที่เพิ่มขึ้น โดยช่องทางดิจิทัลสามารถเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการทำธุรกรรมในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น

“การปรับเปลี่ยนของธนาคารคงต้องขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของลูกค้าว่าปรับเปลี่ยนได้เร็วเพียงใด ซึ่งปกติลูกค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่จะปรับพฤติกรรมได้เร็วกว่า ดังนั้น สาขาแบงก์แบบเต็มรูปแบบ ที่ตั้งเดี่ยว ๆ ในพื้นที่เหล่านี้อาจต้องทบทวนปรับลดลงก่อน

ส่วนสาขาในห้างสรรพสินค้าต้องดูตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่กับปริมาณธุรกรรมเป็นสำคัญ รวมถึงพัฒนาบริการดิจิทัลแบงกิ้งให้มีประสิทธิภาพสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้มากขึ้น” นายทวีลาภกล่าว

อย่างไรก็ตาม ช่องทางสาขาก็ยังมีความสำคัญในการให้บริการลูกค้าทั้งรายย่อยและธุรกิจ เช่น บริการสินเชื่อ การขอรับคำแนะนำ และช่วยเหลือลูกค้าแก้ปัญหา ซึ่งการมีสาขาที่ครอบคลุมยังคงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความมั่นใจในการใช้บริการช่องอื่น ๆ สาขาจึงยังมีบทบาท ทั้งในแง่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริการ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า และธนาคารก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรในสาขาด้วย

KBANK นำร่องสถานีแบตฯอีวี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการปรับลดสาขา อีกด้านหนึ่งธนาคารก็มีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสาขาธนาคารมากขึ้น นอกจากการทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทยได้ร่วมมือกับพันธมิตรบริษัท เอช เซม มอเตอร์ โดยนำร่องใช้พื้นที่สาขาธนาคาร 12 แห่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ “H SEM Power Station” สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นการใช้สาขาธนาคารมากกว่าการทำธุรกรรมการเงินเพียงอย่างเดียว

ประกอบด้วยสาขาสำนักงานใหญ่ พหลโยธิน สาขาถนนรางน้ำ สาขาสี่แยกวังหิน สาขาสุขุมวิท 101 สาขาคลองจั่น สาขาบางปะกอก สาขาท่าพระ สาขาถนนอโศก-ดินแดง สาขาสมุทรปราการ สาขาบางเมฆขาว สาขาโพธิ์สามต้น และสาขาถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อตอบโจทย์ธนาคารกสิกรไทยที่มุ่งสนับสนุนลูกค้าก้าวสู่เศรษฐกิจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ แต่ในระยะต่อไปอาจจะเป็นการเพิ่มธุรกิจใหม่ของธนาคาร