เปิดปมรัฐบาล “ทะลุวินัยการคลัง” ประยุทธ์เต็มกลืนหาเงินอุ้ม “ประกันราคาข้าว”

นาข้าว
รายงาน

หลังจากขยายเพดานหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จาก 60% เป็น 70% ไปเมื่อเดือน ก.ย. ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานก็ได้อนุมัติขยายเพดานการกำหนดอัตราชดเชยค่าใช้จ่าย หรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานรัฐในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

เป็นการขยับเพดานจากเดิมที่กำหนดว่า ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นไม่เกิน 35% ชั่วคราว 1 ปี

ทั้งนี้ เพดานดังกล่าว เกิดจากการอุดหนุนหรือชดเชยค่าใช้จ่ายให้กับรัฐวิสาหกิจเพื่อทำโครงการหรือมาตรการตามนโยบาย ซึ่งรัฐบาลจะไปตั้งงบประมาณใช้คืนให้ในปีต่อ ๆ ไป(ทยอยตั้งหลายปี) ดังนั้น การขยายกรอบดังกล่าว จึงเป็นการเปิดเพดานเพื่อให้“ติดหนี้รัฐวิสาหกิจ” ได้เพิ่มขึ้นนั่นเอง

โดยตามกรอบเดิมที่ 30% ในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลจะสามารถอุดหนุนหรือชดเชยได้ไม่เกิน 9.3 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อขยับขึ้นอีก 5% ทำให้อุดหนุนหรือชดเชยได้เพิ่มขึ้นอีก 1.55 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับกรอบเดิมที่ยังเหลืออยู่ 5,360 ล้านบาท (ณ 19 พ.ย. 2564) ส่งผลให้มีช่องอุดหนุนหรือชดเชยเพิ่มขึ้นได้อีกกว่า 1.6 แสนล้านบาท

การที่รัฐต้องขยายเพดานดังกล่าว เนื่องจากโครงการประกันรายได้ หรือประกันราคาพืชผลเกษตรต่าง ๆ มีความต้องการใช้เงิน “เพิ่มขึ้นมาก” ในปีงบประมาณนี้ โดยเฉพาะโครงการประกันราคาข้าวที่ปีนี้ต้องใช้เงินมากถึง 8.9 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่ใช้เงินในระดับกว่า 5 หมื่นล้านบาท จนที่ผ่านมา รัฐบาลต้องบริหารจัดการโดยใช้วิธีทยอยจ่ายเป็นงวด ๆ ซึ่งงวดแรกจ่ายไปได้แค่ 1.3 หมื่นล้านบาท

ADVERTISMENT

จึงนำมาสู่การ “ทะลุกรอบวินัยทางการคลัง” ในที่สุด

โดยเมื่อตรวจสอบการใช้เงินในโครงการประกันราคาข้าวของรัฐบาล จะเห็นว่ามีการใช้งบประมาณเพิ่มสูงขึ้นก้าวกระโดดทุกปี ๆ คือ ปีแรก ปีการผลิต 2562/63 ใช้เงินที่กว่า 1.94 หมื่นล้านบาท จากนั้น ปีการผลิต 2563/64 เพิ่มเป็น 4.81 หมื่นล้านบาท และล่าสุด ปีการผลิต 2564/65 เพิ่มเป็นกว่า 8.9 หมื่นล้านบาท (ยังไม่รวมโครงการช่วยเหลือค่าบริหารจัดการข้าววงเงินรวม 5.49 หมื่นล้านบาท กับมาตรการคู่ขนาน ชะลอการขายข้าว ที่รัฐบาลต้องจ่ายขาดอีกกว่า 7,700 ล้านบาท)

ADVERTISMENT

แหล่งข่าวจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการประกันราคาพืชผลการเกษตร ให้ข้อมูลว่า การใช้เงินประกันราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นมากในปีนี้ เกิดจากราคาข้าวที่ตกต่ำ แต่ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า มีตัวเลขเกษตรกรเข้ามาร่วมโครงการมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเกษตรกรบางส่วนเห็นรัฐมีนโยบายสนับสนุน จึงมาขึ้นทะเบียนพื้นที่ปลูกข้าวมากขึ้น และยังมีการเปิดลงทะเบียนหลายรอบ มีรอบเก็บตกด้วย

“ต้องยอมรับว่าเกษตรตำบลไม่สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด ก็จะมีปัญหาว่าคนทำนาจริง ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน และเจ้าของที่ดินก็ไม่ได้ทำ ซึ่งเมื่อเป็นงานนโยบายที่มีต่อเนื่องกันมาหลายปี ก็เริ่มมีการใช้ช่องว่างของโครงการ

โดยส่วนราชการหลายส่วน เริ่มมีการประเมินว่า วงเงินที่มาค่อนข้างสูง แต่ความเข้มแข็งในการตรวจสอบภาคประชาสังคมก็ยังน้อย ซ้ำร้ายกว่านั้น เมื่อเกษตรกรรู้ว่ารัฐมีการจำกัดปริมาณรับประกันครัวเรือนละไม่เกิน14 ล้านตัน

พอเข้าสู่ปีที่ 3 ก็มีคนที่ปลูกข้าวมาก ๆ ไปแตกโฉนดให้เป็นรายย่อย ๆ เพื่อให้คนในครอบครัวได้รับเงินประกันรายได้คนละ 14 ล้านตัน นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้จำนวนเกษตรกรเพิ่มขึ้น และกลายเป็นภาระหนักของรัฐบาลในที่สุด” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า โครงการประกันรายได้พืช 5 ชนิด ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน,ข้าว, ยางพารา, มันสำปะหลัง และข้าวโพดต้องยอมรับว่า เกี่ยวข้องกับประเด็นการเมือง ซึ่งเป็นรัฐบาลผสมและยิ่งช่วงนี้ใกล้จะมีการเลือกตั้ง จึงได้เห็นภาพที่พรรคการเมืองที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล พยายามกดดันให้มีการรีบจ่ายเงิน โดยอ้างถึงความเดือดร้อนของเกษตรกร

“ปฏิเสธไม่ได้ว่า การประกันรายได้ข้าวและพืชชนิดอื่น ๆ เป็นเรื่องทางการเมืองจากรัฐบาลผสม การช่วยเหลือเกษตรกรได้มากเท่าไหร่ ก็เป็นจุดแข็งสำหรับหาเสียงได้มากเท่านั้น ปัญหาข้าวราคาต่ำ จึงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องเสียที

เพราะการให้เงินประกัน ก็เหมือนเงินให้เปล่า สร้างความเคยชินให้กับชาวนาได้เงินง่าย ๆ ซึ่งจะไม่มีการเลิกปลูกและไม่มีทางพัฒนาผลผลิต แม้ที่ผ่านมารัฐจะมีการสนับสนุนสินเชื่อต่าง ๆ มากมาย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรต่อเนื่อง แต่ปัญหาที่แก้ไม่ตรงจุดก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย” แหล่งข่าวกล่าว

ปมปัญหาเหล่านี้ กำลังลุกลามบานปลาย จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีต้องออกปากหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่จังหวัดภูเก็ต ว่าต้องหาวิธีการใหม่ช่วยเหลือเกษตรกรแทนการประกันราคา

ทั้งยังตั้งคำถามดัง ๆ ว่า “คนที่ได้รับรายได้จากการประกันราคาได้จริงหรือเปล่า ข้าวที่ออกมาแล้วอยู่ที่ไหน แล้วทำไมชาวบ้านถึงบ่นว่าได้แค่ 6,000 บาท เป็นเพราะอะไร ทั้ง ๆ ที่เรามีการประกันรายได้ไปแล้ว”

ระดับนายกรัฐมนตรีออกปากเช่นนี้แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็น่าจะต้องตรวจสอบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ หากมีก็ต้องเอาผิด โดยยึดมาตรฐานเดียวกับโครงการจำนำข้าว ที่มีรัฐมนตรีติดคุกไปแล้ว

ขณะที่รัฐบาลก็ต้องมาพิจารณาด้วยว่า การที่ผู้นำรัฐบาลต้องกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเช่นนี้ เกิดจากเกมต่อรองทางการเมืองที่มุ่งทำนโยบายเพื่อฐานเสียงจนละเลยกรอบกติกาที่กำหนดไว้หรือไม่ เพราะในเมื่อมีกฎหมายวินัยการเงินการคลังอยู่ ก็ควรจะยึดตามกรอบที่วางไว้

กรณีนี้แม้ว่าจะแจ้งว่า จะขยายกรอบเป็น 35% แค่ชั่วคราว 1 ปี แต่ในทางกฎหมายก็ไม่ได้ระบุระยะเวลาไว้ จึงไม่ได้การันตีว่าปีหน้าจะสามารถลดเพดานการอุดหนุนหรือชดเชยกลับมาที่เดิมได้

สุดท้ายแล้ว หากรัฐบาลไม่สามารถกลับมาใช้กรอบเดิมได้อย่างที่ประกาศ เรื่องนี้จะกลายเป็นหอกที่กลับมาทิ่มแทงรัฐบาลแน่นอน