ครม.เคาะ ประกันราคาข้าว-ยางพารา 1.4 แสนล้าน

ข้าว

ครม.เคาะ ประกันรายได้ข้าว 33 งวด 76,080 ล้านบาท ท็อปอัพ ไร่ละ 1,000 บาท-ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน 4.69 ล้านครัวเรือน 54,972 ล้านบาท พ่วงประกันราคายางพารา เฟสสาม 10,065 ล้านบาท เบ็ดเสร็จ 3 โครงการ 141,117 ล้านบาท

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติวงเงินรวม 76,080.95 ล้านบาท ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 เพิ่มเติม

โดยแบ่งเป็นวงเงินจ่ายชดเชยให้เกษตรกรจำนวน 74,569.31 ล้านบาท และค่าใช้จ่าย ธ.ก.ส. จำนวน 1,511.64 ล้านบาท หลังจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 วงเงินจ่ายขาด เบื้องต้นรวมทั้งสิ้น 18,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นตามมติ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564 /65 วงเงินจ่ายขาด 89,306.39 ล้านบาท มาตรการคู่ขนาน ฯ วงเงินจ่ายขาด 6,955.98 ล้านบาท และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 วงเงินจ่ายขาด 54,972.72 ล้านบาท รวมวงเงินจ่ายขาดทั้งสิ้น 151,235.09 ล้านบาท

นายธนกรกล่าวว่า การประชุม ครม.เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน มีมติมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจัดหาแหล่งเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการประกันรายได้เพิ่มเติม ภายใต้กรอบวงเงินจำนวน 76,080.95 ล้านบาทโดยดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐบาล 2561 ตลอดจนกฎหมายระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบันได้มีประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่องกำหนดอัตราชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ข้อ 2 กำหนดให้อัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐต้องรับชดใช้ค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินร้อยละ 35 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี จากเดิมที่ไม่เกินร้อยละ 30

นายธนกรกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันท์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานบอร์ด นบข. ต้องการเห็นพี่น้องเกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายข้าวเปลือกในราคาที่เหมาะสม ป้องกันความเสี่ยงในการจำหน่ายผลผลิต และช่วยเกษตรกรในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามนโยบายของรัฐที่แถลงต่อรัฐสภาไว้

นายธนกรกล่าวว่า รวมถึง ครม.ยังมีมติอนุมัติกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 54,972.72 ล้านบาท สำหรับโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564 /65 และมอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดหาแหล่งเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการ

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 มีมติเห็นชอบ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 วงเงินจ่ายขาดรวม 54,972.72 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณจ่ายขาดให้เกษตรกรวงเงิน 53,871.84 ล้านบาท ค่าชดเชยต้นทุนเงิน ธ.ก.ส. อัตราร้อยละ 2 วงเงิน 1,077.44 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการของ ธ.ก.ส. รายละ 5 บาทเป็นวงเงิน 23.44 ล้านบาท

โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรประมาณ 4.69 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ จะได้รับการช่วยเหลือในอัตราไร่ละ 1,000 บาทไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท โดยระยะเวลาจ่ายเงินตั้งแต่เดือนกันยายน 2564-เมษายน 2565

นายธนกรกล่าวถึงวัตถุประสงค์โครงการว่า ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จากสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ภัยแล้ง โรคระบาด รวมทั้งสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้น ยังมุ่งสนับสนุนให้เกษตรกรมีเงินทุนในการพัฒนาคุณภาพในการผลิตข้าว ดำเนินงานโดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หรือ ธ.ก.ส. ช่วยเหลือเกษตรกรในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับ คือ เกษตรกรมีรายได้ส่วนเหลือเพิ่มขึ้น มีเงินไว้สำหรับใช้จ่ายภายในครัวเรือน กระตุ้นการใช้จ่ายในระดับเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจประเทศ

นายธนกรกล่าวว่า นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 วงเงินรวม 10,065.69 ล้านบาท โดยเป็นการประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและเกษตรกรที่แจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทยภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 จำนวน 1,880,458 ราย โดยพื้นที่สวนยางกรีดได้ 19.16 ล้านไร่และประกันรายได้ในระหว่างตุลาคม 2564-มีนาคม 2565

หลักเกณฑ์และข้อกำหนดโครงการ ดังนี้

-เป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่
-ผลผลิตยางแห้ง จำนวน 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน รายละไม่เกิน 25 ไร่
-ผลผลิตยางก้อนถ้วย จำนวน 40 กิโลกรัม/ไร่/เดือน รายละไม่เกิน 25 ไร่
-กำหนดเงินค่าประกันรายได้ โดยราคายางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กิโลกรัม
-แบ่งสัดส่วนรายได้เจ้าของส่วนร้อยละ 60 และคนกรีดร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด

สำหรับงบประมาณ 10,065.69 ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณสำหรับประกันประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง 9,783.61 ล้านบาท งบประมาณสำหรับชดเชยต้นทุนเงินธนาคาร ภายในวงเงินไม่เกิน 195.68 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและค่าธรรมเนียมโอนเงิน ธ.ก.ส. ให้เกษตรกรชาวสวนยาง 5 บาทต่อรายจำนวน 9.4 ล้านบาท และงบบริหารโครงการจำนวน 77 ล้านบาท

“โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางในกรณีที่ราคายางตกต่ำในช่วงวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อเพิ่มรายได้ เกษตรกรชาวสวนยางได้เงินส่วนต่างของรายได้ที่ควรได้รับ ทำให้ชาวสวนยางมีรายได้สม่ำเสมออย่างทั่วถึง นับเป็นมาตรการทางอ้อม ที่นำมาใช้แทนการแทรกแซงราคายาง เพื่อลดการบิดเบือนกลไกตลาดในอนาคต”

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติยังได้หารือและเห็นชอบหลักการในการดำเนินมาตรการคู่ขนานอื่น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางและผู้ประกอบกิจการยาง อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกำหนดแหล่งที่มาของงบประมาณให้มีความชัดเจน เหมาะสม เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ก่อนดำเนินการต่อไป