3 แนวรบสำคัญทางเศรษฐกิจในปี 2565

เศรษฐกิจ
เช้านี้ที่ซอยอารีย์
พงศ์นคร โภชากรณ์
([email protected])

ปี 2565 จะเป็นปีที่มีความท้าทายมาก ๆ อีกปีหนึ่งของเศรษฐกิจไทย นอกเหนือจากผลกระทบของโอไมครอนต่อเศรษฐกิจโลก การท่องเที่ยว และการสาธารณสุขของไทยแล้ว ยังมี 3 เรื่อง ที่เป็นแนวรบสำคัญและเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ 3 แนวรบที่ว่า ได้แก่

แนวรบที่ 1 การบริโภคของประชาชน แผนการรบคือต้องอัดโครงการพยุงการบริโภค : เราต้องพยุงการบริโภคภาคเอกชนไม่ให้ทรุดตัว การบริโภคภาคเอกชนมีสัดส่วนประมาณ 55% ของ GDP ถือเป็นเครื่องยนต์ที่มีขนาดแรงม้ามากเป็นอันดับ 2 รองจากการส่งออกสินค้า

แม้ว่าวันนี้การส่งออกสินค้าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่พอถามว่าการส่งออกจะดีลากยาวไปตลอดปีหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้ เพราะเศรษฐกิจโลกกำลังเจอไวรัสสายพันธุ์ “โอไมครอน” ที่ดุดันกว่าเดิมมาก

หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ผันผวนและไม่แน่นอนมากขึ้น การฝากผีฝากไข้ไว้กับการส่งออกสินค้าจึงมีความเสี่ยงสูง การใช้จ่ายภาครัฐก็มีแรงม้าไม่มากพอ แถมเหยียบคันเร่งนาน ๆ ไม่ได้ เพราะจะมีปัญหาภาระทางการคลังและหนี้สาธารณะตามมา

ฉะนั้น การบริโภคจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการประคับประคองเศรษฐกิจในปี 2565 เครื่องยนต์การบริโภคสามารถแตกเป็นเครื่องยนต์ย่อย ๆ ได้ 67 ล้านเครื่องยนต์ เพราะทุกคนในระบบเศรษฐกิจถือเป็นผู้บริโภคที่มีการจับจ่ายใช้สอยทุกวัน ในจำนวนนี้เกือบ 40 ล้านคนอยู่ในวัยกำลังแรงงาน

ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักของการบริโภคและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ดังนั้น โครงการกระตุ้นการบริโภคยังมีความจำเป็นอย่างมาก เช่น การกระตุ้นการบริโภคของผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ของคนมีรายได้น้อยถึงรายได้ปานกลางผ่านโครงการคนละครึ่ง

ของคนมีรายได้ปานกลางถึงรายได้สูงผ่านโครงการช้อปดีมีคืน เป็นต้น แต่ถ้าสถานการณ์ทรุดหนักกว่าที่คาด การปัดฝุ่นทำโครงการเราไม่ทิ้งกันอีกสักรอบน่าจะดี เพราะเป็นโครงการที่ได้ผลแรงและเร็ว

แนวรบที่ 2 ร้านค้ารายย่อย แผนการรบคือต้องเอาร้านค้ารายย่อยเข้าแพลตฟอร์มถุงเงิน : เราต้องปกป้องเอ็มเอสเอ็มอี (MSMEs) ให้อยู่รอด ทั้งประเทศเรามีเอ็มเอสเอ็มอีประมาณ 3.1 ล้านราย มีการจ้างงานประมาณ 12.7 ล้านคน

ในจำนวนนี้เป็นกิจการขนาดย่อย ๆ ที่มีการจ้างงานไม่เกิน 5 คน (micro) ประมาณ 2.7 ล้านราย หรือประมาณ 87% ของกิจการเอ็มเอสเอ็มอีทั้งหมด มีการจ้างงานประมาณ 5.3 ล้านคน หรือประมาณ 42% ของการจ้างงานเอ็มเอสเอ็มอีทั้งหมด

กิจการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโควิด-19 มากที่สุดคงหนีไม่พ้นกิจการด้านการท่องเที่ยว ที่พักแรม และร้านอาหาร กิจการรายเล็กเหล่านี้หายใจรวยรินตามจังหวะการล็อกดาวน์และคลายล็อกดาวน์ เดี๋ยวปิด เดี๋ยวเปิด รายได้ไม่แน่นอน ลามไปถึงการจ้างงานพนักงานในร้าน บางรายปิดกิจการ ทำให้ลูกจ้างต้องอพยพย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนา

แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัฐบาลมีมาตรการคนละครึ่ง เราชนะ และพยุงกำลังซื้อผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยให้ร้านค้ารายเล็กรายน้อยบางส่วนอยู่รอดได้ พอค้าขายได้ มีรายได้ไหลเข้ากระเป๋า ลูกจ้างแรงงานไม่ตกงานมากนัก สะท้อนได้จาก GDP ของร้านค้ารายย่อยในไตรมาสที่ 3 ปี 2564

ที่รายงานโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ว่าขยายตัวได้ถึง 8.0% ในขณะที่ GDP ของประเทศขยายตัวได้เพียง 0.3% เท่านั้น ดังนั้น โครงการต่าง ๆ ที่ช่วยกระตุ้นการบริโภค จะมีส่วนอย่างมากที่ทำให้กิจการรายย่อยอยู่รอด เศรษฐกิจฐานรากหมุนเวียนได้ ชะลอการเลิกจ้าง

และคงไม่ผิดถ้าจะกล่าวว่า การบริโภค เอ็มเอสเอ็มอี การจ้างงาน ผูกโยงกันและมีความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ส่วนตัวผมคิดว่ารัฐบาลต้องสร้างแรงจูงใจให้ร้านค้ารายย่อย ๆ สมัครเข้าเป็นร้านถุงเงินให้มากขึ้น เพราะเป็นการเพิ่มช่องทางการค้าขาย

แนวรบที่ 3 ผู้มีรายได้น้อย แผนการรบคือต้องปรับเปลี่ยนวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ : เราต้องดูแลผู้มีรายได้น้อย 13.5 ล้านคน โดยเฉพาะคนจน (มีรายจ่ายต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือ poverty line) จำนวน 9.9 ล้านคน (จำนวนคนจนแบบลงทะเบียน) ให้ทั่วถึงและรวดเร็ว

ในปี 2565 หากสถานการณ์ของโอไมครอนรุนแรงกว่าเดลต้าจริงอย่างที่หลายประเทศเผชิญ เศรษฐกิจปากท้องของพี่น้องประชาชนฐานรากมีโอกาสไม่น้อยที่จะทรุดตัวลงอีกครั้ง จริงอยู่ที่ในปี 2563 มีโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการเยียวยาเกษตรกร

โครงการเยียวยากลุ่มเปราะบาง และโครงการพยุงกำลังซื้อผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยให้จำนวนคนจนเพิ่มขึ้นไม่ถึง 500,000 คน มาอยู่ที่ 4.8 ล้านคน (จำนวนคนจนแบบสุ่มสำรวจ) แทนที่จะเพิ่มเป็น 11 ล้านคน แต่ในปี 2564 เราขยายความช่วยเหลือขึ้นไปดูแลคนที่มีรายได้ปานกลางและรายได้สูงผ่านโครงการคนละครึ่ง

โครงการเราชนะ และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ทำให้เม็ดเงินที่ใช้ดูแลคนจนลดลง ดังนั้นในปี 2565 ซึ่งสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ เศรษฐกิจฐานรากทรุด คนตกงานมากขึ้น จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น เราอาจจะต้องเตรียมเม็ดเงินในการดูแลคนจนให้มากขึ้นด้วย

โดยใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นเครื่องมือบรรเทาภาระค่าครองชีพ ส่วนตัวผมคิดว่า หากสถานการณ์ล็อกดาวน์เกิดขึ้นอีกครั้ง เราน่าจะปรับลดวงเงินค่าโดยสารเดินทางลง

เพราะการเดินทางข้ามจังหวัดซึ่งเดิมมีน้อยอยู่แล้วกลับน้อยลงไปอีก แต่ควรไปเพิ่มวงเงินในการซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็นแทน ซึ่งน่าจะเหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของผู้มีรายได้น้อยได้มากกว่า

หากรัฐบาลสามารถรักษาแนวรบทั้ง 3 แนวนี้ไว้ได้ โดยการพยุงการบริโภคของพี่น้องประชาชน ปกป้องเอ็มเอสเอ็มอีให้อยู่รอด และดูแลผู้มีรายได้น้อยและคนจนได้ทั่วถึง

พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจในปี 2565 ไม่ทรุดตัวลงอีกรอบ และเป็นปีที่มีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด