ส่องหุ้นรับอานิสงส์หมูแพง โบรกชี้ ‘CPF-GFPT’ กำไรปีเสือทะยาน

ส่องหุ้นรับอานิสงส์หมูแพง โบรกชี้‘CPF-GFPT’กำไรปีเสือทะยาน
(Photo by Daniel LEAL / AFP)

ส่องหุ้น “CPF-GFPT-TFG” รับปัจจัยบวก“หมูแพง-ไก่ขึ้นราคา” โบรกฯ “กสิกรไทย”ประเมิน CPF กำไรมากขึ้น 163% ส่วน GFPT กำไรพุ่ง 352% จากปีก่อน เชื่อหมูแพงไม่ถึง 300 บาท/กิโลกรัม คาดรัฐบาลเข้าดูแล ด้าน “เอเซีย พลัส” คาดการณ์ราคา “หมู” ยืนระดับสูงตลอดไตรมาสแรก ขณะที่ราคา “ไก่” ฟื้น หนุนหุ้น “GFPT-TFG-CPF”

ส่องหุ้นรับอานิสงส์หมูแพง โบรกชี้‘CPF-GFPT’กำไรปีเสือทะยาน

นางสาวธรีทิพย์ วงษ์แสงไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากราคาสุกรที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น

คาดว่าผู้ประกอบการที่เป็นเกษตรกรรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยจะได้ประโยชน์ ทั้งบมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) และ บมจ.จีเอฟพีที (GFPT) เพราะมีฟาร์มที่ได้มาตรฐาน และสายป่านที่ยาวกว่า จึงได้รับความเสียหายจากโรคระบาดน้อยกว่า เมื่อเทียบกับเกษตรกรรายกลางและรายเล็ก

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าราคาสุกรปรับตัวขึ้นเร็วมาก จากช่วงก่อนหน้าที่ราคาไม่ได้ดีมากนักเมื่อเทียบกับต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นมาตลอด โดยเฉพาะจากราคาข้าวโพดและถั่วเหลืองที่ปรับขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว ดังนั้น ราคาสุกรที่ปรับสูงขึ้นในระยะสั้น น่าจะเป็นผลบวกต่อบริษัทเหล่านี้ที่ยังมีผลผลิตขายได้ ที่แรงกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้นน่าจะลดลง

“สังเกตได้ว่าจากต้นทุนที่สูงขึ้นและราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลง เราเห็นผลประกอบการที่ค่อนข้างปรับลงแรงไปแล้วในไตรมาส 3/2564 จากดีมานด์ที่ชะลอมากและมีผลขาดทุนในหลายบริษัท

ฉะนั้น ในระยะสั้นผู้ประกอบการที่มีสินค้าพร้อมขาย ก็น่าจะได้ประโยชน์จากราคาหมูที่เพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น รัฐบาลคงจะเข้ามาดูแล ซึ่งล่าสุดมีคำสั่งห้ามส่งออกหมูมีชีวิต

และกระทรวงพาณิชย์พยายามดูแลราคาหมูให้ลดลงภายใน 4-5 เดือนข้างหน้า เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้บริโภค”

โดย บล.กสิกรไทย ประเมินว่าราคาหมูยังคงแพงต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเทศกาลตรุษจีน เพราะเหลือระยะเวลาอีกแค่เดือนเดียว และเป็นช่วงที่ดีมานด์สูงประเทศไทยเปิดเมือง

แต่หลังจากนั้น ด้วยวัฏจักรของสุกรที่เป็นวัฏจักรระยะยาวราคาก็น่าจะลดความร้อนแรงลง หมายความว่า ราคาหมูตอนนี้อาจดึงดูดให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงหมูเพิ่มขึ้น แต่กว่าจะมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดต้องใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงราว 5-6 เดือน

“เรามองราคาหมูหน้าฟาร์มที่ 90บาท และราคาหมูหน้าเขียงที่กว่า 200 บาท คงจะไม่สูงไปกว่านี้มาก เพราะราคาตรงนี้ มีผลกระทบต่อผู้บริโภคเยอะ ฉะนั้น โอกาสขึ้นไปแตะ 300 บาทไม่น่าจะเห็น

เพราะรัฐบาลน่าจะต้องเข้ามาบริหารจัดการ ไม่น่าจะปล่อยให้ขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะกระทบในวงกว้าง โดยในเชิงมูลค่าหุ้นต่อทิศทางราคาหมูที่ปรับสูงขึ้นและราคาไก่ที่สูงขึ้นไปก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปี 2564 เราเห็นราคาหุ้น CPF ยืนอยู่ที่ 23-24 บาท

ล่าสุดยืนอยู่ที่ 26-27 บาท สะท้อนภาพราคาหมูและประโยชน์ที่ได้รับประมาณหนึ่ง แต่ยังไม่ได้มีทิศทางปรับตัวต่อเนื่อง อาจต้องรอดูเรื่องผลกระทบในระยะกลางและยาว รวมไปถึงมาตรการภาครัฐที่จะเข้ามาด้วยอาจจะเป็นตัวเร่งในระยะถัดไป”

นางสาวธรีทิพย์กล่าวว่า แนวโน้มกำไรหุ้นกลุ่มนี้ในไตรมาส 4/2564 และไตรมาส 1/2565 น่าจะเป็นลักษณะค่อย ๆฟื้นตัวได้ หลังจากทำจุดต่ำสุดไปในไตรมาส 3/2564 จากผลกระทบล็อกดาวน์

รวมถึงผลกระทบจากนโยบายธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และกำลังการผลิตที่ลดลงจาก social distancing และมาตรการ bubble and seal ทั้งนี้ ประเมินว่ากำไรสุทธิปี 2565 ของ CPF อยู่ที่ 17,453 ล้านบาท เติบโต 163% จากปีก่อน

โดยแนะนำซื้อให้ราคาเป้าหมายสิ้นปีนี้ที่ 32 บาท ส่วนกำไร GFPT คาดจะอยู่ที่ 1,050 ล้านบาท เติบโต 352% จากปีก่อน จากราคาเนื้อไก่ที่ฟื้นขึ้นและกำลังการผลิตใหม่ที่เคยได้รับผลกระทบจากไฟไหม้ไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว จึงจะเห็นกำไรปีนี้ดีกว่าปีที่แล้วพอสมควร จึงแนะนำซื้อที่ราคาเป้าหมายสิ้นปีนี้ที่ 15 บาท

ขณะที่บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส รายงานว่า จากราคาสุกรหน้าฟาร์มวันที่ 29 ธ.ค. 2564 อยู่ที่ 94 บาท/กิโลกรัม ปรับเพิ่มขึ้นถึง 14.6% เทียบสัปดาห์ก่อนหน้านั้น และทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์

จากสาเหตุหลักมาจากปัญหาหมูขาดแคลน เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง เพราะมีโรคระบาดในหมูในหลายจังหวัด ขณะที่ความต้องการบริโภคหมูฟื้นตัวดีขึ้น จากเปิดเมืองและเข้าช่วงเทศกาลปีใหม่

โดยประเมินแนวโน้มราคาหมูหน้าฟาร์มจะยืนสูงต่อเนื่องในงวดไตรมาส 1/2565 ส่งผลบวกต่อ บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) และ CPF ที่มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจหมูในไทยราว 28% และ 10% ของรายได้รวม ส่วนราคาไก่ ณ วันที่ 29 ธ.ค. 2564 อยู่ที่ 38 บาท/กิโลกรัม

ทรงตัวสูงจากสัปดาห์ก่อน แต่ปรับเพิ่มขึ้นถึง 26.7% นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2564 และทำจุดสูงสุดในรอบ 4 ปี จากความต้องการบริโภคเนื้อไก่ฟื้นตัว หลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ ถือเป็นผลบวกต่อ GFPT, TFG และ CPF ที่มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจไก่ในไทยราว 70%, 48%, 10% ของรายได้รวม (ตามลำดับ)

ทั้งนี้ บล.เอเซีย พลัส แนะนำซื้อ CPF ราคาเป้าหมายที่ 28 บาท เนื่องจากปัจจุบันมีอัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี (P/BV) อยู่ที่ 0.9 เท่า และแนวโน้มธุรกิจในต่างประเทศฟื้นตัว นอกจากนี้ แนะนำเก็งกำไร TFG ราคาเป้าหมายที่ 4 บาท และ GFPT ราคาเป้าหมายที่ 13 บาท ได้ผลบวกจากทิศทางราคาหมูและไก่ฟื้นตัวชัดเจน