หอการค้าไทย มอง “ตลาดหุ้น-น้ำมัน-คริปโท” ตัวชี้วัดเศรษฐกิจฟื้นตัว

รูปชีพจรเศรษฐกิจ

อธิการบดี ม.หอการค้าไทย มองเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันดีขึ้นเป็นลำดับ ดูได้จากตลาดหุ้น-ราคาน้ำมัน – คริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้และสะท้อนภาพรวมการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ด้าน “MD ฟินันเซีย ไซรัส” แนะหุ้นเด่นปี 65 “CK-CPALL-CRC-GPSC” เข้ารอบ

วันที่ 12 มกราคม 2565 รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันดีขึ้นเป็นลำดับ ดูได้จากตลาดหุ้น และราคาน้ำมัน รวมถึงคริปโทเคอร์เรนซี การสังเกตการณ์ภาพรวมของเศรษฐกิจ จะเห็นได้จากพฤติกรรมของผู้บริโภคในด้านกำลังซื้อ รวมถึงราคาน้ำมันในตลาดโลก กล่าวคือหากราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น จะเป็นการชี้วัดได้ถึงความต้องการซื้อของภาคประชาชนเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น การเดินทาง การขนส่ง การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ฯลฯ จากช่วงปลายปี 2563 จะเห็นได้ว่าราคาน้ำมันอยู่ 60 – 65 ดอลลาร์ต่อบาเรล

จนกระทั่งปลายปี 2564 ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ราคาน้ำมันอยู่ที่ 80-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และจนกระทั่งการแพร่ระบาดของโอมิครอนเกิดขึ้น องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก หรือโอเปก (OPEC) ได้ทำการควบคุมปริมาณน้ำมันให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยราคาน้ำมันลดลงมาอยู่ที่ 70-75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะฉะนั้นการที่ราคาน้ำมันปรับตัวดีขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าโลกมีความต้องการใช้น้ำมันมากขึ้น ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจโลกมีความฟื้นตัว ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกดีขึ้น ประเทศไทยจึงได้อานิสงส์นี้อย่างชัดเจน

โดยสังเกตได้จากอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 15 ของธุรกิจส่งออกซึ่งถือเป็นจุดชูโรงทางเศรษฐกิจ ตลอดระยะเวลา 5-10 ปีที่ผ่านมา  ซึ่งรวมถึงการส่งออกทั่วโลก โดยเป็นผลพวงมาจากประชากรโลกได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่น้อยกว่า 3 เข็ม ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นที่จะกลับมาใช้ชีวิตและจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการผ่อนปรนมาตรการการล็อกดาวน์หลังจากเดือน ก.ย. 2564 จนกระทั่งการมาของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อย่างโอมิครอน ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเกิดการผันผวนอีกครั้ง เนื่องจากยังขาดข้อมูลที่ชี้ชัดถึงระดับความรุนแรง และความสามารถในการป้องกันโรคจากวัคซีน แต่ยังไม่เป็นที่น่าวิตกกังวลนัก

“ธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตน่าจับตามอง 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ธุรกิจสุขภาพและความงาม อาทิ โรงพยาบาล คลินิกเสริมความงาม ดูแลผิวพรรณ, ธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ e-Commerce , Cashless Society รวมถึงแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ และกลุ่มธุรกิจที่สอดคล้องกับค่านิยมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง Green Environment อย่างเช่น รถยนต์ไฟฟ้า Electronic Vehicle (EV) แผงโซลาร์เซลล์” อธิการบดี ม.หอการค้าไทย กล่าว

ด้านนายกัณฑรา ลดาวัลย์ ณ อยุธยา กรรมการบริหาร บมจ.หลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า หุ้นที่จับตามองในปี 2565 คือ CK  มีราคาปัจจัยพื้นฐานอยู่ 26 บาท หากมีการเปิดประเทศจะนำไปสู่ความเคลื่อนไหวด้านการลงทุนเพื่อก่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าอีกหลายเส้นทาง และต่อมาคือ CPALL โดยมีราคาพื้นฐานอยู่ที่ 82 บาท ซึ่งล่าสุดการเข้าซื้อกิจการของ Lotus ซึ่งแม้ว่าเดิมที่จะอยู่ในภาวะขาดทุน แต่การควบกิจการจะส่งผลให้ Lotus มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในกับ CPAll ประกอบกับการขยายกิจการในส่วนของร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ลาว ซึ่งยังอยู่ในช่วง Growth stage

รวมถึง CRC ราคาปัจจัยพื้นฐานอยู่ที่ 40 บาท โดยไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 เริ่มกลับมาทำกำไร ถึงแม้จะมีประเด็นว่าการค้าปลีกจะถูกชะงักโดย e-Commerce นั้น ไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวล เนื่องจากเป็นบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของประเทศ ซึ่งมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าทั้งทาง offline และ online จึงถือว่าเป็นหนึ่งในหุ้นไทยที่น่าสนใจ ต่อมาอยู่ในกลุ่มธุรกิจพลังงานสะอาด อย่าง GPSC ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 100 บาท อย่างที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่างรถยนต์ไฟฟ้า EV กำลังจะเข้ามาตีตลาด

ในขณะที่ภาครัฐเองก็มีแนวโน้มที่จะลดหย่อนภาษี จึงมีความน่าสนใจในแง่ของการลงทุน และ JR ราคาปัจจัยพื้นฐานอยู่ที่ 10 บาท ซึ่งความน่าสนใจนั้นก็เนื่องมาจากแนวทางการแก้ปัญหาสายส่งไฟฟ้าในประเทศไทยที่กำลังจะเพิ่มขึ้นในอนาคต และอื่น ๆ อีกหลายตัว

“สำหรับแนวทางการจัดพอร์ตการลงทุนสำหรับนักลงทุนชาวไทย ยังควรยึดหุ้นไทยเป็นหลัก เนื่องจากนักลงทุนไทยมีความใกล้ชิดกับข้อมูล สามารถเข้าใจทิศทางความเคลื่อนไหวของธุรกิจได้ไม่ยาก ในขณะที่หุ้นต่างประเทศ เราสามารถซื้อผ่านกองทุนรวมได้ ซึ่งถึงแม้ว่าหุ้นต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา จีน เวียดนาม ฯลฯ จะมีความน่าสนใจ อย่างไรก็ตามก็ควรจัดพอร์ตผ่านกองทุนรวม ภายใต้การดูแลของโบรกเกอร์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ” นายกัณฑรากล่าว