คลังตะลุยเก็บภาษียกแผง “คริปโท-หุ้น-ที่ดิน-ความเค็ม”

คริปโท

กระทรวงการคลังตะลุยเก็บภาษียกแผง “คริปโทเคอร์เรนซี-หุ้น-ที่ดิน-ความเค็ม”

วันที่ 27 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์โควิดส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลง เนื่องจากได้ออกมาตรการลดหย่อนภาษี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน อย่างไรก็ดี เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี กระทรวงการคลังจึงได้เดินหน้าศึกษาภาษีตัวใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งความชัดเจนในการเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซี การศึกษาภาษีหุ้น และภาษีความเค็ม เป็นต้น รวมทั้งได้เดินหน้าเก็บภาษีที่ดินในอัตราปกติปีแรก หลังจากที่ลดภาษีที่ดินลง 90% มานานกว่า 2 ปี

สำหรับการเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซี เริ่มตั้งแต่ปี 2561 ตามพระราชกำหนดการประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีการชำระภาษีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในปี 2564 คริปโทเคอร์เรนซีได้รับความนิยมมากขึ้น ตามบริบทเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีทั้งศูนย์การซื้อขาย โบรกเกอร์ และการระดมเงินผ่าน ICO

โดยในปีภาษี 2564 กรมสรรพากรต้องการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ผู้ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จึงได้กำหนดช่องการแสดงรายได้ด้วยการประเมินตัวเองอย่างชัดเจน แต่ยังมีข้อสงสัยในเรื่องการคำนวณภาษีจากนักลงทุน กรมสรรพากรจึงเร่งหาทางออก เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับนักลงทุน โดยมีการหารือร่วมธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก.ล.ต. และภาคเอกชน อาทิ สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งจะได้ข้อสรุปภายใน ม.ค.นี้ เพื่อให้ทันการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กำหนดภายใน 30 มี.ค. 2565

นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังเดินหน้าศึกษาภาษีขายหุ้น ซึ่งอยู่ในประมวลรัษฎากรตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ได้รับการยกเว้นมานานกว่า 30 ปี และเดิมกรมสรรพากรจะเดินหน้าเก็บภาษีตั้งแต่ปี 2564 แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย จึงได้เว้นออกไปก่อน อย่างไรก็ดี กรมสรรพากรก็ยังไม่ได้สรุปเรื่องแนวทางในการเก็บภาษีขายหุ้น อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการเก็บภาษีจากต่างประเทศ ทั้งรูปแบบภาษีที่เก็บจากกำไรจากการขาย (capital gain) และภาษีธุรกิจเฉพาะ (ธุรกรรมการขาย)

พร้อมกันนี้กระทรวงการคลังยังได้มอบหมายให้กรมสรรพสามิตไปศึกษาแนวทางการเก็บภาษีความเค็ม เพื่อควบคุมปริมาณการใช้โซเดียมในส่วนประกอบของอาหาร เนื่องจากส่งผลเสียระยะยาวต่อสุขภาพ ซึ่งในเบื้องต้นจะใช้รูปแบบเดียวกับการจัดเก็บภาษีความหวาน ที่ใช้ปริมาณเป็นตัวกำหนดอัตราการเสียภาษี ส่วนจะเริ่มใช้เมื่อไหร่ ยังต้องรอดูความเหมาะสมของสถานการณ์ รวมทั้งความพร้อมของทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรม ร้านอาหาร และผู้บริโภค

โดยมีเป้าหมายลดการบริโภคลงให้เหลือ 2,800 มิลลิกรัมต่อวันต่อคน หรือลดลงให้ได้ 20% ภายใน 8 ปี โดยพิจารณาจากองค์การอนามัยโลก ที่ได้กำหนดปริมาณเหมาะสมในการบริโภคโซเดียมไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ขณะที่คนไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ย 3,600 มิลลิกรัมต่อวัน

โดนนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลักการเก็บภาษีเพื่อความเป็นธรรม โดยผู้ที่ใช้ทรัพยากร ผู้มีรายได้ ก็มีหน้าที่ที่จะต้องเสียภาษี โดยที่มีการยกเว้น เพื่อสนับสนุนให้มีการลดต้นทุน แต่อย่าลืมว่าการลดต้นทุนเฉพาะด้านภาษีไม่ใช่ส่วนเดียว ยังมีต้นทุนทางด้านค่าธรรมเนียม และอื่น ๆ จากตลาดหลักทรัพย์ฯ โบรกเกอร์ เป็นต้น ซึ่งตลอด 30 ปี ไม่ได้มีการเก็บภาษีหุ้น แต่ตลาดหุ้นก็มีการเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ซื้อขายอยู่แล้ว

“การเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซี และแนวคิดในการเก็บภาษีหุ้น เป็นเรื่องของการขยายฐานภาษี ซึ่งไม่ได้มีการขยายฐานภาษีมานานแล้ว ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจเติบโตแล้ว การจัดเก็บรายได้ของรัฐเพื่อนำมาพัฒนาก็ควรที่จะเพิ่มขึ้น แต่รายได้จีดีพีของเราเพิ่มตลอด แต่รายได้จากการจัดเก็บไม่ได้เพิ่มขึ้นมามากเท่าไหร่ เพราะส่วนหนึ่งได้ไปยกเว้นไว้เยอะ เพื่อสนับสนุน แต่การสนับสนุน เมื่อถึงเวลาสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง แข่งขันกับประเทศอื่นได้ ก็ควรจะลดน้อยถอยลงมา” นายอาคมกล่าว