ปมร้อนภาษีคริปโทเคอร์เรนซี แนะหยุดนักลงทุนย้ายเงินออก

พีรเดช ตันเรืองพร
สัมภาษณ์

กรณีการเตรียมจัดเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซีของกรมสรรพากรกลายเป็นประเด็นร้อนแรงข้ามปีจนถึงขณะนี้ทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่่เกี่ยวข้องไม่สามารถนิ่งเฉยได้ ต้องลุกขึ้นมาแสดงความคิดความเห็น

1 ในนั้น มีสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO) รวมอยู่ด้วย ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “พีรเดช ตันเรืองพร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด 1 ในผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และในฐานะประธาน TDO หลากหลายแง่มุมทั้งที่เกี่ยวกับเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซี และอนาคตอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย

Q : ธุรกิจของอัพบิต

ตลาดคริปโทเคอร์เรนซี เป็นอุตสาหกรรมที่ใหม่มาก ซึ่งอัพบิต (Upbit) ถือเป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของเกาหลีใต้ โดยหลังจากเปิดตัวแพลตฟอร์ม อัพบิต เมื่อเดือนตุลาคม 2560 ก็ติด 1 ใน 2 ของแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอันดับต้น ๆ ของเกาหลีใต้ โดยไม่ติดขัดอะไร ทำให้เรารู้ว่าแพลตฟอร์มอัพบิตมีความเสถียรค่อนข้างมาก

ส่วนในไทยเป็นความร่วมมือระหว่าง Upbit APAC Pte. Ltd. และนักลงทุนไทย ได้แก่ ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ สมโภชน์ อาหุนัย และปรีชา ไพรภัทรกุล ตั้งบริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้น โดยเริ่มเข้ามาตั้งแต่ปี 2561 แต่เพิ่งได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและใบอนุญาตนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมลอนช์แพลตฟอร์มในไทยเมื่อเดือนมกราคมปี 2564

Q : บทบาท TDO กรณีภาษีคริปโท

TDO และสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย มีนัดหารือกับกรมสรรพากร ในวันที่ 20 มกราคมที่จะถึงนี้ แต่ในเบื้องต้นที่ทางสมาชิกสมาคมได้มีการหารือร่วมกันไปแล้ว เราไม่เห็นด้วยกับวิธีการจัดเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซีในลักษณะที่ผู้เทรดจะต้องโดนหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% สำหรับทุกรายการ (transaction) ที่มีกำไร เช่น ลงทุน 100,000 บาท ขายบิตคอยน์ได้ 200,000 บาท เท่ากับ 100,000 บาท ที่มีกำไรจะต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15%

ตามแนวทางนี้เท่ากับว่าธุรกรรมใด ๆ ก็ตามที่มีกำไรจะโดนเก็บภาษีทุกรายการ ยกตัวอย่างชัด ๆ คือ ถ้าต้นปีลงทุนซื้อคริปโทเคอร์เรนซี ด้วยเงิน 1 ล้านบาท แล้วปลายปีเงินเหลือ 8 แสนบาท แต่ระหว่างปีมีการชอร์ตขายที่ได้กำไร 1 ล้าน หรือ 2 ล้านบาท ก็จะโดนเก็บภาษีหมดเลย แม้ในสิ้นปีจะขาดทุนถึง 2 แสนบาทก็ตาม หลายคนมองว่าท้ายสุดแล้วขาดทุนก็ยังต้องเสียภาษี

แต่ก่อนที่จะไปหารือกับหน่วยงานรัฐ สมาชิกสมาคมต้องหารือ และเคาะแนวทางที่เห็นว่าเหมาะสมที่จะนำไปใช้ในการเก็บภาษีร่วมกันก่อน

Q : ตัวแพลตฟอร์มต้องทำอะไรบ้าง

ถ้าเป็นการหักภาษี ณ ที่จ่าย (withholding tax) ก็น่าจะบังคับให้ผู้ที่เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยเป็นผู้เก็บ กรณีนี้ถ้ามีการซื้อขายอยู่บนแพลตฟอร์มซื้อขายในไทย เจ้าของแพลตฟอร์มก็อาจช่วยจัดการให้ได้ แต่หากนักลงทุนโอนทรัพย์สินไปต่างประเทศแล้วโอนกลับมา แพลตฟอร์มก็ไม่สามารถคำนวณให้ได้ เนื่องจากไม่รู้ต้นทุน เมื่อไม่รู้ต้นทุนก็ไม่สามารถคำนวณกำไร ขาดทุนได้ และไม่สามารถบังคับให้นักลงทุนแจ้งได้ หรือหากบังคับให้แจ้งก็อาจได้ข้อมูลที่ไม่ตรงความเป็นจริงก็ได้

หรือนักลงทุนมีการโอนทรัพย์สินไปต่างประเทศแล้วโอนกลับเข้ามายังประเทศไทยเพื่อไม่ให้โดนจัดเก็บภาษีก็ทำได้ แต่นั่นจะหมายถึงการผลักนักลงทุนไทยให้ไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ

Q : แนวทางจัดเก็บภาษีในต่างประเทศ

จากศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีคริปโทของหลายประเทศ ก็มีทั้งการนำภาษีมาลบขาดทุน มีแนวทางและวิธีการที่หลากหลาย แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

หากเกณฑ์ง่ายที่สุด capital gain คือนำกำไรมาบวกลบ การขาดทุน แต่แนวทางที่เกิดขึ้นขณะนี้ คือ การคิดกำไรขาดทุนเป็นรายธุรกรรม

หากแนวคิดการจัดเก็บภาษีแบบรายธุรกรรมจริง ๆ จะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซีในประเทศไทย

ผลที่เกิดขึ้น คือ นักลงทุนก็จะขนเงินออกลงทุนกับ exchange ต่างประเทศ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนั้น คือ แพลตฟอร์ม exchange ที่ให้บริการในไทยก็จะไม่เติบโต จะทำหน้าที่เป็นเพียงคนแลกเปลี่ยนสกุลเงินเท่านั้น เพราะการทำเทรดดิ้งจะเกิดขึ้นเฉพาะใน exchange ต่างประเทศเท่านั้น

นั่นจึงเป็นหน้าที่ของสมาคมที่จะออกมาผลักดัน เพื่อให้การวางแนวทางการจัดเก็บภาษีเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้เดินหน้าต่อได้

ตลาด exchange ในไทยมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ปัจจุบันคนเทรดคริปโทเคอร์เรนซียังมีไม่มาก ยังไม่แมสเหมือนการลงทุนในตลาดหุ้น

Q : การส่งเสริมผลักดันอุตสาหกรรม

ในประเทศไทย มีผู้กำกับดูแลด้านคริปโทเคอร์เรนซี แต่เราไม่มีผู้กำหนดนโยบาย (policy maker) เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำให้สิ่งที่ออกมาจากผู้กำกับ หรือหน่วยงานรัฐ ที่จะเป็นเรื่องของการกำกับอุตสาหกรรมมากกว่า โดยไม่ได้มองว่าอุตสาหกรรมจะไปรอดหรือไม่รอด ไม่ได้มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่าอุตสาหกรรมนี้สร้างโอกาสได้อย่างไร หรือทำเงินให้ประเทศได้แค่ไหน

นั่นทำให้ในเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา (ปี 2564) เกิดการรวมตัวของผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จำนวน 8 ราย ประกอบด้วย

1.บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด (ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและใบอนุญาตนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล)

2.บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (ผู้ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล)

3.บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ผู้ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล)

4.บริษัท อีอาร์เอ็กซ์ จำกัด (ผู้ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล)

5.บริษัท เอสอี ดิจิทัล จำกัด (บริษัทที่ให้บริการด้านที่ปรึกษาทางการเงินในการออกสินทรัพย์ดิจิทัล)

6.บริษัท คอยส์ ทีเอช จำกัด (ผู้ได้รับใบอนุญาตผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล)

7.บริษัท บิทาซซ่า จำกัด (ผู้ได้รับใบอนุญาตนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล)

และ 8.บริษัท จีเอ็มโอ-แซด.คอม คริปโทนอมิคซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (ผู้ได้รับใบอนุญาตนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล) ร่วมกันก่อตั้งสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทยขึ้น

ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มเข้ามาอีก 2 ราย เป็น 10 ราย คือ บิทคับ ออนไลน์ (ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล) และบริษัท กุหลาบ (ทำเรื่อง DeFi-decentralized finance) และอยู่ระหว่างเชิญผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้รายอื่น ๆ เข้ามาร่วมอีก

เป้าหมายหลักคือ การส่งเสริมผลักดันให้อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโต รวมถึงเป็นกระบอกเสียงให้ผู้ประกอบการ และนักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อสร้างความสมดุล และความโปร่งใส ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน และการปฏิบัติงานภายใต้ข้อกำหนด และการกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานกำกับดูแลอื่นอย่างเคร่งครัด