สแกนโลกสินทรัพย์ดิจิทัล “คริปโท-โทเค็น” โอกาสบนความเสี่ยง

ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์
ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย
สัมภาษณ์

เป็นเทรนด์ร้อนข้ามปี และร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ กับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะคริปโทเคอร์เรนซี ทั้งในกลุ่มนักลงทุนทั่วไป และธุรกิจต่าง ๆ ที่หันมาให้ความสนใจ รวมถึงประเด็นล่าสุดกรณีกรมสรรพากรกำลังจะเรียกเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซี

“ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์” นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทยปีที่ผ่านมาถือว่าคึกคักเป็นอย่างมาก โดยอัตราการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ เพิ่มจากปี 2563 ที่มีผู้เปิดพอร์ต 3 แสนบัญชี เป็นกว่า 2 ล้านบัญชี ณ สิ้นปี 2564 โดยนักลงทุนในประเทศไทยจะแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มที่เข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น เป็นสัดส่วนถึง 60% เป็นรายย่อยที่มีการลงทุนเฉลี่ย 500-2,500 บาท

2. กลุ่มที่ซื้อเพื่อเก็บออม

3.กลุ่มที่ทำฟาร์มเหรียญ โดยกลุ่มนี้จะเข้าไปซื้อเหรียญในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วนำเหรียญคริปโทที่ตนเองถืออยู่ไปฝากไว้กับผู้พัฒนาแพลตฟอร์มที่ให้บริการ DeFi (decentralized finance) ต่าง ๆ ได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียม เป็นต้น

ส่องกระแสลงทุนปี’65

กระแสการตื่นตัวเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีจะยังเกิดขึ้นต่อเนื่องหรือไม่อาจตอบยาก เพราะคนส่วนใหญ่เข้ามาลงทุน จาก “ราคา” ไม่ได้มองเห็นคุณประโยชน์ของเทคโนโลยีจริง ๆ แต่เชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไปจึงจะเข้าใจประโยชน์ของเทคโนโลยี และสินทรัพย์ดิจิทัลว่า คือ “อะไร” ถึงจุดนั้นการ “เก็งราคา” หรือเก็งกำไรจะลดน้อยลง

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะคริปโทเคอร์เรนซีได้รับความนิยมทั่วโลก ทั้งผู้เล่นไทย และในทุกประเทศ ซึ่งล้วนมีมุมมองไม่ต่างกัน คือ เพื่อเก็งกำไร แต่อาจไม่ได้เข้าใจว่า แต่ละเหรียญสร้างขึ้นเพื่ออะไร

“คนส่วนใหญ่เข้ามาโดยไม่ได้เข้าใจว่าโปรเจ็กต์นี้สร้างขึ้นมาเพื่ออะไร รู้แค่ว่าถ้ามีเหรียญนี้แล้วราคาขึ้น ก็รวย เป็นเหตุผลว่าทำไมไทยจึงมีสัดส่วนคนที่เปิดพอร์ตลงทุนในอัตราเฉลี่ย 500-2,500 บาทจำนวนมาก พูดง่าย ๆ คือกระแสการลงทุนคริปโทเคอร์เรนซีฟูขึ้นมาชั่วคราว เป็นช่วงที่ตลาดยังค้นหาวงจรของตนเอง เมื่อถึงรอบก็จะค้นพบว่า ประโยชน์จริง ๆ คืออะไร”

จำแนก “สินทรัพย์ดิจิทัล”

ความหมายของคำว่า “สินทรัพย์ดิจิทัล” ตามคำนิยมของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 คริปโทเคอร์เรนซี หมายถึง หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ สินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ เช่น บิตคอยน์, Ethereum

ส่วนที่ 2 โทเค็นดิจิทัล (digital token) หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้น เพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในส่วนแบ่งรายได้หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ และสิทธิอื่น ๆ แยกย่อย 2 ส่วน คือ

1.investment token คือ เหรียญที่ใช้ระดมทุนแบบ ICO (initial coin offering) คือ การระดมทุนรูปแบบหนึ่งที่บริษัทจะเสนอแนะ กำหนดขายโทเค็นที่กำหนดสิทธิต่าง ๆ ของผู้ลงทุน

2.ยูทิลิตี้โทเค็น (utility token) เหรียญพร้อมใช้ ไม่เป็นการระดมทุน แต่เป็นเหรียญที่สร้างขึ้นมาเพื่อแสดงสิทธิในสินค้าและบริการที่สร้างเสร็จแล้ว แบ่งเป็น 1.utility token พร้อมใช้ และ 2.utility token ไม่พร้อมใช้

ยูทิลิตี้โทเค็นบูม

สำหรับกรณีการเรียกเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซี ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มกราคมที่่ผ่านมา กรมสรรพากรได้เรียกสมาคมเข้าไปชี้แจง ทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ เช่น เงินที่ได้จากคริปโทเคอร์เรนซีมีการคำนวณอย่างไรแต่ยังไม่มีข้อสรุป แต่คาดว่าภายในเดือนนี้น่าจะชัดเจนขึ้น

“ด้วยราคาเหรียญที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง คนก็มองว่าเป็นการเก็งกำไร ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด อยู่ที่ว่าคุณต้องการอะไรจากตลาด สิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดไทยช่วงนี้ คือ หลายบริษัทกำลังออกยูทิลิตี้โทเค็น ซึ่งต้องพิจารณาว่าเหรียญที่ออกมาจะใช้ประโยชน์อย่างไร ดังนั้น ผู้ที่จะลงทุน ต้องไปศึกษาว่า เหรียญนั้นสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร”

เช่น ถ้ามีเหรียญ A แล้ว จะสามารถเจอนักแสดงในสังกัดนั้นได้ คนก็จะซื้อเหรียญนั้น ส่วนราคาที่ขึ้นลงนั้นมาจากความคาดหวังของคนซื้อ

แนะศึกษาก่อนลงทุน

ในกรณีที่มีการนำคริปโทเคอร์เรนซี ยูทิลิตี้โทเค็น มาแลกเปลี่ยนสินค้า และบริการต่าง ๆ “นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย” เตือนว่า ผู้ที่แบกรับความเสี่ยง คือ ผู้ใช้ เนื่องจากร้านค้าต้องรับเงินเป็นเงินบาท ด้วยการแปลงอัตราจากผู้ประกอบการซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งจะได้ค่าธรรมเนียม ท้ายที่สุดจะเหมาะสมหรือไม่ที่จะนำ “ยูทิลิตี้โทเค็น” มาใช้แลกเปลี่ยนสินค้าก็ต้องให้ผู้ใช้เป็นคนตัดสินใจ

“สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ การนำคุณประโยชน์ของเทคโนโลยีมาทำเป็นมาร์เก็ตติ้ง เพื่อดึงให้คนสนใจ โดยที่เนื้อหาอาจไม่ได้พัฒนาไปในทิศทางที่ควรจะเป็น แต่เมื่อถึงเวลาที่คนไม่ได้สนใจมากก็จะกลับไปพัฒนาเรื่องที่ควรพัฒนา เชื่อว่าจะเป็นจุดที่คนได้ค้นพบว่า ประโยชน์จริง ๆ และก้าวสู่การเป็น mass adoption”

“ศุภกฤษฎ์” ทิ้งท้ายว่า แม้คริปโทเคอร์เรนซีจะเป็นกระแสที่มาแรง แต่ผู้ที่จะตัดสินใจลงทุน ต้องระมัดระวัง เพราะมีความเสี่ยงสูง เช่น ถ้าเก็บไม่ดี เก็บไม่เป็น ก็อาจจะโดนแฮกหมดทั้งกระดาน หรือหายด้วยเพราะเก็บรักษาไม่ถูก และก่อนลงทุนควรต้องศึกษาให้ดีให้เข้าใจว่าเหรียญนั้น ทำอะไร มีโปรเจ็กต์ที่มีประโยชน์อย่างไร อย่ามองแต่ผลตอบแทน และราคาเหรียญที่ขึ้นเร็วลงเร็ว ที่สำคัญอย่าเข้ามา เพราะอยากรวยเร็ว

“ผู้ลงทุนต้องศึกษารายละเอียดของเหรียญให้ดี มีบางเหรียญที่เกิดขึ้นด้วยโปรเจ็กต์ ประโยชน์บนโลกสินทรัพย์ดิจิทัล คืออะไร ถ้าไม่เข้าใจจะมีความเสี่ยงมาก เพราะจากสถิติใน 100 โปรเจ็กต์ที่เกิดขึ้น มีโปรเจ็กต์ที่ขาดทุนเกือบ 90% มีทั้งโปรเจ็กต์ที่ตั้งใจทำแล้วเจ๊ง และตั้งใจมาโกง หรืออาจมีคนที่ลงทุนแล้วระยะหนึ่ง แต่ท้ายสุด โปรเจ็กต์ปิดตัวไปก็มี เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง ไม่ใช่ทุกคนเข้ามาแล้วจะได้ มีทั้งคนได้คนเสีย”