เก็บภาษีคริปโท สรรพากรใช้ 3 แนวทาง ยอมให้นำขาดทุนหักกลบกำไร

คริปโท บิตคอยน์

กรมสรรพากร ประกาศผ่อนปรนเก็บภาษีคริปโทฯ 3 แนวทาง ให้นักลงทุนนำกำไรจากการซื้อขายมาหักกลบส่วนที่ขาดทุนได้-เว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย ธุรกรรมที่ทำผ่าน Exchange ภายใต้การกำกับ ก.ล.ต. พร้อมยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ออกประกาศ 31 ม.ค.นี้

วันที่ 28 มกราคม 2565 นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า จากการที่กรมสรรพากร ได้ทำงานร่วมกับผู้แทนสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ

รวมทั้งได้มีการส่งแบบสอบถามให้ทุกฝ่ายที่อยู่ในชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัลไทยในเรื่องการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อสรุปความชัดเจนในการเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น หลังจากที่ชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตเป็นวงกว้าง จากต้นปี 2564 มีผู้เทรด 1.7 แสนราย เพิ่มมาเป็น 2 ล้านรายในปัจจุบัน

นายเอกนิติ กล่าวว่า ล่าสุด กรมสรรพากรได้มีความเห็นร่วมกันกับภาคเอกชนว่าจะทำให้การคำนวณภาษีชัดเจนขึ้น โดยการกำหนดรูปแบบของภาษีเงินได้ ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน ทางกรมสรรพากรได้มีแนวทาง ดังนี้ 1. การจัดเงินได้ให้ชัดเจน โดยระบุประเภทเงินได้และผลประโยชน์ให้ครอบคลุมกำไร/รายได้จากการโอน/ผลประโยชน์อันใดจากสินทรัพย์ดิจิทัล

2. วิธีการคำนวณต้นทุนโดยใช้วิธีมาตรฐานการบัญชีรับรอง โดยสามารถทำได้ 2 วิธี คือ วิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) หรือวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost) โดยสามารถเปลี่ยนวิธีคำนวณในปีถัดไปได้

3. การวัดมูลค่าสินทรัยพ์ดิจิทัล ณ เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา

“ในรายละเอียดต่าง ๆ จะมีอยู่ในคู่มือการชำระภาษีของผู้มีเงินได้จากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งทางกรมสรรพากรกำลังพิจารณาร่วมกับ สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และสมาคมการค้าผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และจะดำเนินการเผยแพร่วันที่ 31 ม.ค.65 เพื่อให้ทันการยื่นแบบภาษีที่กำหนดไม่เกิน 30 มี.ค.65”

นอกจากนี้ กรมสรรพากรได้มีการผ่อนปรน หลายๆ ประการ ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน และยังอยู่ภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากรที่สามารถดำเนินการได้ โดยแบ่งออกเป็นในเรื่องของภาษีเงินได้ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามรายละเอียด ดังนี้

1. การคำนวณภาษีเงินได้พึงประเมิน (กำไร) นั้น ทางกรมสรรพากรจะดำเนินการเสนอให้มีการออกกฎกระทรวงเพื่อให้สามารถนำผลขาดทุนมาหักกลบกับกำไรได้ในปีภาษีเดียวกัน ซึ่งจะสามารถเข้าเงื่อนไขนี้เฉพาะ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ( Exchange) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เท่านั้น

2. ภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั้น กรณีธุรกรรมที่กระทำผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. จะไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แต่อย่างใด

3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรจะเสนอพระราชกฤษฎีกาให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับธุรกรรมที่กระทำผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

“ภาษีคริปโทเคอร์เรนซี ที่กฎหมายมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2561 ระบุว่าให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% แล้วปลายปีให้ยื่นรวมมาคำนวณตามเรทโครงสร้างเงินเดือนของตัวเอง ที่ 0-35% โดยหลักการก็เหมือนกับหลายๆ ประเทศ ฉะนั้น คนที่เทรดแม้จะมีกำไร แม้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ แต่กรณีถ้าไม่รู้ตัวตนก็ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ปลายปีก็ต้องมานำรวมคำนวณด้วยเช่นเดียวกัน”

ทั้งนี้ ในอนาคตกรมสรรพากรจะพิจารณาหารือร่วมกับชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้เชิงนโยบายในอนาคต เพื่อแก้ไขกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสม อาทิ การแก้ประมวลรัษฎากรมาตรา ๕๐ ที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยให้ผ่าน ผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange เป็นผู้หัก และนำส่งกรมสรรพากร การเปลี่ยนประเภทการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ (Financial Transaction Tax) สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ เป็นต้น

ทั้งนี้ต้องดูความเหมาะสมและบริบทต่าง ๆ โดยรอบอีกครั้ง