DeFi คืออะไร เกิดขึ้นตอนไหน มีความเสี่ยงหรือไม่ เรื่องควรรู้ก่อนลงทุน

DeFi คืออะไร เกิดขึ้นตอนไหน มีความเสี่ยงหรือไม่
ภาพจาก pixabay

ทำความรู้จักการเงินแบบกระจายอำนาจ หรือ Decentralized Finance (DeFi) เกิดขึ้นได้อย่างไร มีความเสี่ยงหรือไม่ ก่อนตัดสินใจลงทุน

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว รวมถึงการนำบล็อกเชนเข้ามาใช้ทำธุรกรรมต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือ DeFi (Decentralized Finance) หรือ การเงินแบบกระจายอำนาจ

DeFi คืออะไร ?

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Bitkub ให้คำจำกัดความไว้ว่า DeFi คือแอปพลิเคชัjนทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ไม่จําเป็นต้องมีตัวกลางอย่างธนาคารหรือสถาบันการเงินต่าง ๆ ถูกต่อยอดมาจากเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งทำหน้าที่คอยจัดเก็บข้อมูลธุรกรรม มีเป้าหมายเพื่อสร้างบริการทางการเงินที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน โดยแพลตฟอร์ม DeFi สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองไม่ต้องมีผู้ควบคุมเนื่องจาก Smart Contract หรือ สัญญาอัจฉริยะ ในระบบสามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองเมื่อเงื่อนไขครบตามกำหนด

DeFi ส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นบน Ethereum Chain เนื่องจาก Ethereum ใช้ภาษาโปรแกรม Solidity ที่เอื้อต่อการสร้าง Smart Contract และยังเป็นเครือข่ายบล็อกเชนที่ใหญ่ที่สุดรองจาก Bitcoin จึงมีผู้ใช้เป็นจำนวนมาก

จุดประสงค์ของ DeFi

“ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” เขียนไว้ในคอลัมน์ Pawoot.com ว่า DeFi เกิดขึ้นมาจากความต้องการทำธุรกรรมทางการเงินที่รวดเร็ว ไร้ตัวกลาง และมีค่าใช้จ่ายต่ำ การใช้ระบบการเงินแบบดั้งเดิมต้องพึ่งพาความช่วยเหลือของสถาบันการเงินหรือธนาคาร ในการสร้างความน่าเชื่อถือในการตรวจสอบธุรกรรมนั้น ๆ โดยทั้งหมดมีค่าธรรมเนียมที่สูง อีกทั้งยังมีระยะเวลาดำเนินการที่นานกว่าอีกด้วย

แต่เมื่อไร้ตัวกลาง เราจะได้รับประโยชน์ทางการเงินมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อฝากเงินธนาคารโดยได้ดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี ธนาคารนำเงินของเราไปปล่อยกู้คิดดอกเบี้ย 4-6% ธนาคารรับดอกเบี้ยเฉลี่ย 5% เหลือกำไรให้เราแค่ 0.5%

นั่นหมายถึงตัวกลางอย่างธนาคารได้ประโยชน์ หรือกำไรเยอะมากจากการที่เอาเงินเราไปปล่อยต่ออีกที ทำไมธนาคารต้องหักเงินไว้จำนวนมาก ก็เพราะมีคนเป็นหมื่นคน มีสาขามากมาย ต้นทุนธนาคารมีมหาศาล ทำให้มีภาระที่ต้องหาเงินมาเพื่อจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้

ด้วยปัญหาทั้งหมดข้างต้นเหล่านี้ DeFi จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อสร้างระบบทางการเงินที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถส่งและรับรายการธุรกรรมได้อย่างรวดเร็วบนระบบบล็อกเชนโดยชำระค่าใช้จ่ายเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายการทำธุรกรรมในแบบดั้งเดิม

ยิ่งไปกว่านั้น DeFi ยังมอบโอกาสการเชื่อมต่อกันระหว่างผู้ใช้แบบไร้พรมแดนด้วยระบบที่ผู้ใช้สามารถเลือกสมัครหรือเชื่อมต่อได้ด้วยตนเอง แบบไม่พึ่งตัวกลางใด ปัจจัยนี้ส่งผลให้ DeFi มีความกระจายอำนาจ

ทำไม DeFi ดอกเบี้ยสูง

เมื่อไม่มีตัวกลาง DeFi จึงเป็นแพลตฟอร์มเสมือนธนาคารออนไลน์ที่ฝากเงินไว้เพื่อไปปล่อยที่อื่นต่อ เงินที่นำไปฝากไม่ใช่เงินเฟียตหรือเงินบาท แต่เป็นเงินสกุลคริปโทเคอร์เรนซี

ดอกเบี้ยของ DeFi สูงกว่า 100% สาเหตุที่ได้รับดอกเบี้ยอัตราสูงมาก เนื่องจาก ไม่มีตัวกลาง มีแต่ระบบ ต้นทุนต่าง ๆ จึงไม่มากเท่าเดิม จากการหัก 3-4% เพื่อเป็นค่าบริการ แต่ DeFi อาจเหลือเพียง 0.2-0.5% จึงทำให้ได้รับดอกเบี้ยเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่า

อีกทั้งในโลกของ DeFi เราสร้างสกุลเงินของตัวเองขึ้นมา และเปิดโอกาสให้คนเข้ามาฝากเงินกับเราได้ เมื่อกระตุ้นให้คนนำเงินมาฝากได้ นั่นหมายถึงการมีสภาพคล่อง เราสามารถเอาสภาพคล่องที่มีอยู่ไปปล่อยที่อื่นต่อหรือสร้างดอกเบี้ยกลับเข้ามาได้ ยิ่งมีคนฝากมากเท่าไหร่ก็ยิ่งสร้างรายได้ให้เรามากเท่านั้น และนำรายได้ที่ได้มากลับไปคืนคนที่มาฝากกับเราได้เยอะมากขึ้นได้

ฉะนั้น การจะกระตุ้นให้คนเข้ามาฝากกับเรามากขึ้น คือการสร้างสกุลเงินของตนเองขึ้นมาอีกสกุล ในโลกคริปโทสร้างได้ไม่ยาก เราเรียกสกุลเงินที่สร้างขึ้นมาของแพลตฟอร์มนั้น ๆ ว่า governance token สกุลเงินเหล่านี้เมื่อมีคนเอามาฝากมากขึ้น มีคนต้องการมากขึ้น มีดีมานด์ และซัพพลาย สกุลเงินที่เราสร้างก็จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยที่เขาได้ไป ก็จะได้เป็นสกุลเงินที่เราสร้างขึ้นไปแทน

ฉะนั้น เมื่อเป็นสกุลเงินที่สร้างขึ้นเอง เราสามารถให้ดอกเบี้ยสูงได้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าการฝากเงินในโลก DeFi บางแห่ง ดอกเบี้ย 100% หรือ 1,000% ก็มี คำถามคือ ผู้ให้บริการ DeFi เหล่านั้น มีความน่าเชื่อถือหรือไม่

DeFi มีความเสี่ยงหรือไม่

DeFi เป็นบริการทางการเงินที่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นไม่นาน เมื่อเจ้าของเขียนโค้ดไม่ดีก็มีโอกาสโดนโจมตีได้ไม่ยาก เราจึงจำเป็นต้องดูสถานที่ที่จะนำเงินไปฝากไว้ใน DeFi หรือเว็บไซต์เหล่านั้นว่าน่าเชื่อถือหรือไม่

เว็บไซต์ DappRadar.com เป็นเว็บไซต์จัดอันดับภาพรวมผู้ให้บริการ DeFi โดยดูที่ TVL (total value locked) คือ มูลค่าเงินที่คนนำไปฝากไว้ของแต่ละผู้ให้บริการ ซึ่งผู้ให้บริการเหล่านี้เปิดโอกาสให้คนที่มีเงินสกุลคริปโทนำเงินไปฝากไว้ มีหลายวิธี เช่น บางคนนำไป stake หรือเรียกว่าการไป farm หรือบางคนเรียกภาพรวมเหล่านี้ว่า การทำ yield farming

อย่างไรก็ตาม การลงทุนคริปโทเคอร์เรนซีย่อมมีความเสี่ยง และระบบ DeFi ก็ย่อมมีความเสี่ยงเฉพาะตัวด้วยเช่นกัน เนื่องจากว่าระบบ DeFi ถูกสร้างบนแพลตฟอร์มของ Ethereum เมื่อบล็อกเชนของ Ethereum มีการปรับปรุงหรือขยายขนาดระบบให้รองรับจำนวนผู้ใช้ที่มากยิ่งขึ้น ปัญหาที่อาจตามมาได้คือความค้างคาของรายการธุรกรรมต่าง ๆ และค่าธรรมเนียมที่แพงขึ้นในช่วงเวลานั้น ๆ

นั่นอาจส่งผลให้เกิดความขัดข้องของระบบและปิดกั้นไม่ให้ผู้ใช้สามารถเข้าระบบเพื่อตรวจสอบสินทรัพย์ตัวเองได้ รวมทั้งยังมีอีกหลากหลายปัจจัยทางการตลาดที่ยังสามารถส่งผลต่อผู้ใช้บนระบบ DeFi ได้โดยตรงไม่ว่าจะเป็นราคาของเหรียญที่ลดฮวบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบทั้งหมด

เมื่อ DeFi ทำงานบน Ethereum ด้วยกลไก Smart Contract ที่ช่วยควบคุมหลากหลายรายการการดำเนินงานเอาไว้ ก็ย่อมมีความเป็นไปได้ว่าจะมีผู้ไม่หวังดีต้องการแฮกระบบเพื่อประโยชน์ส่วนตน โดยอาจรอจังหวะที่มีเหตุขัดข้องในซอฟต์แวร์ของ Smart Contract หรือช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงโปรโตคอลการทำงานของระบบ

รูปแบบของ DeFi ที่ได้รับความนิยม

ทั้งนี้ DeFi มีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้งานตามความต้องการของผู้ใช้ โดยรูปแบบของ DeFi ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดได้แก่

  • Decentralized Exchanges (DEXs): คือแพลตฟอร์มสําหรับการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อผู้ใช้กับผู้ใช้โดยตรง (Peer-to-Peer) เพื่อให้ผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนกันได้โดยไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง
  • Stablecoins: คือสกุลเงินดิจิทัลที่ผูกมูลค่าไว้กับสินทรัพย์อื่น เช่น เงินสกุล Dollar หรือ Euro เพื่อรักษาให้มูลค่าของเหรียญให้คงที่
  • Lending platforms: คือแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้สามารถเข้ามาฝากเหรียญหรือกู้ยืมเหรียญดิจิทัลต่าง ๆ ได้ โดยใช้สินทรัพย์ดิจิทัลค้ำประกันและมี Smart Contract ในการจัดการการกู้ยืมโดยอัตโนมัติ
  • “Wrapped” Bitcoins (WBTC): เป็นวิธีการส่ง Bitcoin ไปยังเครือข่ายของ Ethereum เพื่อให้สามารถใช้ Bitcoin บน DeFi ของ Ethereum ได้ โดยทาง Wrapped Bitcoin อ้างว่าเป็นเหรียญที่มีการผูกมูลค่ากับ Bitcoin ในอัตรา 1:1 เหรียญแรกของโลก
  • Prediction markets: เป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้สามารถซื้อขาย “การคาดการณ์” ในอนาคตได้ เทียบได้กับการซื้อขายบนตลาด Futures
  • Yield farming: เปรียบเสมือนการทํานาบนโลกคริปโท ที่ผู้ใช้งานจะสามารถเลือกแพลตฟอร์ม DeFi ต่าง ๆ ที่มอบกําไรหรือผลตอบแทนสูง ซึ่งเหมือนกับการหว่านเมล็ดพันธุ์ในนา ที่มีผลการเก็บเกี่ยวเป็นเหรียญหรือค่าธรรมเนียมที่ได้รับจากการปล่อยกู้ โดยรางวัลเหล่านี้จะได้รับกลับมาตามอัตราส่วนของจำนวนเหรียญที่ฝากไว้ให้กู้ยืมได้ และเป็นรางวัลของการเพิ่มสภาพคล่องผ่านการเพิ่มเหรียญลงในระบบกลาง

คำเตือนจาก ก.ล.ต.

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผยว่า ปัจจุบันเริ่มเห็นกรณีตัวอย่างเกี่ยวกับโครงการ DeFi มากขึ้น ซึ่งอาจมีกิจกรรมที่ครอบคลุมหลายธุรกรรมการเงิน รวมถึงมีการออกโทเค็นดิจิทัล เช่น LP token, governance token หรือ token ต่าง ๆ ให้แก่ผู้ที่ทำธุรกรรมในโครงการ DeFi

ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) การออกโทเคนดิจิทัลต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ต้องเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนด และเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเค็นดิจิทัลที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งได้แก่ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (exchange) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (broker) ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (dealer) ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (private fund management) และที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (investment advisor) ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจตามประเภทที่ได้รับอนุญาต

ดังนั้น หากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในโครงการ DeFi ในประเทศไทย มีการออกโทเค็นดิจิทัลให้แก่ผู้ใช้บริการ อาจเข้าข่ายการเสนอขายโทเค็นดิจิทัลที่ต้องได้รับอนุญาต และหากลักษณะหรือรูปแบบการให้บริการเข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่งข้างต้น ก็จะต้องได้รับใบอนุญาตและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด

รวมทั้งในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนำโทเค็นดิจิทัลที่ออกเสนอขายไปจดทะเบียนซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ จะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์การคัดเลือกและจดทะเบียน (Listing Rules) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.