หุ้น-น้ำมัน-ทองคำป่วนหนัก ทั่วโลกผวาวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

หุ้น น้ำมัน ทองคำ

หุ้น-น้ำมัน-ทองคำ-ธัญพืชป่วนหนัก หลัง “ปูติน” สั่งกองกำลังทหารบุกเข้าพื้นที่ “โดเนตสก์-ลูฮันสก์” ในยูเครน ขณะที่สหรัฐ-อียูเตรียมออกมาตรการคว่ำบาตร กระทบทันทีเศรษฐกิจไทย หลังน้ำมันดิบพุ่งใกล้ 100 เหรียญ/บาร์เรล ทองคำสูงกว่า 1,900 เหรียญ/ออนซ์ ตลาดหุ้นร่วงหนัก อาจเห็นภาพเทขายทำกำไร ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง อนาคตเนื้อสัตว์แพง เหตุราคาข้าวสาลียูเครน วัตถุดิบสำคัญในอาหารสัตว์พุ่งถึง กก.ละ 12 บาท จนผู้ผลิตส่งสัญญาณอาจตรึงราคาต่อไปไม่ไหว จับตามาตรการดูแลราคาพลังงานของรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนได้พัฒนาความตึงเครียดไปจนถึงขีดสุด เมื่อ วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย แถลงสั่งกองกำลังทหารบุกเข้าพื้นที่ “โดเนตสก์-ลูฮานสก์” ซึ่งอยู่ที่แคว้นดอนบาสในยูเครน จากข้ออ้าง “เพื่อรักษาสันติภาพ” ในพื้นที่ที่มีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ฝักใฝ่รัสเซียเคลื่อนไหวอยู่ และส่งผลให้หลายฝ่ายหวาดวิตกถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะตามมา

ไม่ว่าจะเป็น การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน, ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในหลายชาติ, ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันดิบและก๊าซ, อาหาร และธัญพืชสำคัญ  โดยเฉพาะราคาข้าวสาลี-ข้าวโพด-ข้าวบาร์เลย์-ข้าวไรย์ ซึ่งมีแหล่งเพาะปลูกสำคัญอยู่ในพื้นที่โดเนตสก์-ลูฮานสก์

แพทริเซีย โคเฮน และแจ็ค อีวิงก์ นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์ของนิวยอร์กไทมส์ ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาถึงผลกระทบว่าจะรุนแรงเพียงใด แต่เชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นในทันทีนั้นจะไม่เท่ากับผลกระทบจากการล็อกดาวน์โควิดช่วงปี 2020 รัสเซียชาติส่งออกพลังงานรายใหญ่โดยเฉพาะน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ

ส่วน เจสัน เฟอร์แมน นักเศรษฐศาสตร์จากฮาร์วาร์ด กล่าวว่า โดยพื้นฐานแล้วรัสเซียเสมือนปั๊มน้ำมันขนาดใหญที่เติมให้ยุโรป โดยยุโรปได้รับก๊าซธรรมชาติเกือบ 40% และน้ำมัน 25% จากรัสเซีย และมีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากค่าพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นที่ล้วนเป็นต้นทุนของการผลิตทั้งหมดทั้งมวลในยุโรป

นอกเหนือจากการเป็นแหล่งพลังงานและธัญพืชแล้ว การคว่ำบาตรรัสเซียยังสร้างความหวั่นวิตกต่ออุตสาหกรรมเหล็ก ที่เกรงว่าจะขาดแคลนโลหะจำเป็นอย่าง พาลลาเดียม อะลูมิเนียม และนิกเกิล ที่ปรับราคาสูงขึ้นเช่นกัน

ตะวันตกเล็งคว่ำบาตร

ล่าสุดชาติพันธมิตรตะวันตกทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรปต่างให้คำมั่นเตรียมพิจารณาการ “คว่ำบาตรรัสเซีย” เพื่อลงโทษกรณีรุกรานยูเครน อีกทั้งแสดงจุดยืนว่าจะไม่สนับสนุนสถานะความเป็นรัฐอิสระของ “โดเนตสก์-ลูฮานสก์” มีความเป็นไปได้ว่า ชาติพันธมิตรตะวันตกที่นำโดยสหรัฐ อาจเตรียมบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียในหลากหลายวิธี อาทิ

1) ข้อจำกัดด้านการเงิน ซึ่งจะทำให้บรรดาธนาคารรัสเซียทำธุรกิจในต่างประเทศยากขึ้น แต่การคว่ำบาตรนี้จะมีผลเสียต่อเศรษฐกิจสำหรับประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ซึ่งธนาคารมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับสถาบันการเงินของรัสเซีย

2) ห้ามทำธุรกรรมด้วยเงินดอลลาร์ สหรัฐอาจสั่งห้ามรัสเซียทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสกุลดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหมายความว่าเอกชนรัสเซียจะถูกจำกัดอย่างมากโดยเฉพาะการซื้อขายพลังงาน 3) การกีดกัน “พันธบัตรรัสเซีย” เพื่อสกัดกั้นการเข้าถึงตลาดตราสารหนี้ระหว่างประเทศของรัสเซีย ท่ามกลางความสามารถของสถาบันและธนาคารตะวันตกในการซื้อพันธบัตรรัสเซียถูกจำกัดอยู่แล้วในขณะนี้ หากบรรดาชาติตะวันตกใช้วิธีการดังกล่าว ยิ่งกีดกันรัสเซียจากการเข้าถึงแหล่งทุนต่างชาติ อีกทั้งยิ่งทำให้ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลง

4) การแบนธนาคารรัสเซียด้วยการสั่งขึ้นบัญชีดำธนาคารรัสเซียบางแห่ง ซึ่งมาตรการดังกล่าวแทบไม่ได้ส่งผลกระทบใด ๆ เนื่องจากนักลงทุนหลายคนไม่ได้ทำธุรกรรมกับธนาคารเหล่านั้น แต่ก็อาจกระทบกับนักธุรกิจตะวันตกบางรายที่มีเงินฝากในธนาคารรัสเซีย

5) การแบนสินค้ารัสเซีย สหรัฐอาจใช้คำสั่งหยุดบริษัทที่ขายสินค้าใด ๆ ที่มีเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ หรืออุปกรณ์ของอเมริกาต่อรัสเซีย โดยเฉพาะ “เซมิคอนดักเตอร์”

6) จำกัดส่งออกพลังงาน ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของรัสเซีย แต่มาตรการนี้อาจทำให้ประเทศและบริษัทต่าง ๆ ที่เป็นลูกค้าซื้อน้ำมันจากบริษัท Gazprom หรือ Rosneft ถือเป็นการผิดกฎหมาย รวมถึงโครงการส่งพลังงาน Nord Stream ด้วย

และ 7) การคว่ำบาตรรายบุคคลกับผู้ที่ใกล้ชิดรัฐบาลรัสเซีย และสนับสนุนการรุกรานดินแดนยูเครน ซึ่งอาจรวมถึงผู้นำรัสเซียด้วย ในรูปแบบการอายัดทรัพย์สินในต่างแดน หรือการห้ามเดินทาง แต่มาตรการนี้แทบไม่ส่งผลใดต่อรัสเซียมากนัก เนื่องจากมีการบังคับใช้อยู่แล้วในบางส่วน

ล่าสุดเมื่อคืนที่ผ่านมา อังกฤษได้ประกาศคว่ำบาตรรัสเซียแล้ว โดยซีเอ็นบีซีรายงานว่านายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวต่อฝ่ายนิติบัญญัติในสภาผู้แทนราษฎรว่า มาตรการคว่ำบาตรชุดแรกจะพุ่งเป้าไปยังธนาคาร 5 แห่งของรัสเซีย ได้แก่ รอสซิย่า, ไอเอสแบงก์, เจเนอรัลแบงก์, พรอมส์เวียสแบงก์ และแบล็คซีแบงก์

รวมถึง 3 บุคคลร่ำรวย ได้แก่ เกนนาดี ทิมเชนโก, บอริส โรเตนเบิร์ก และ อิกอร์ โรเตนเบิร์ก ซึ่งจอห์นสันระบุว่าทั้งสามมีความใกล้ชิดกับทางการรัสเซียเป็นอย่างมาก โดยหลังจากนี้ทรัพย์สินของพวกเขาในอังกฤษจะถูกอายัด และพวกเขายังถูกห้ามไม่ให้เดินทางเข้าอังกฤษอีกด้วย

ขณะที่เยอรมนีได้ระงับการรับรองท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 2 ที่ถูกออกแบบมาเพื่อนำส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังยุโรป

โลกป่วน-น้ำมันพุ่งซ้ำเติมเงินเฟ้อ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าหลังความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทวีความรุนแรงขึ้นหลังมีรายงานว่าทหารรัสเซียได้ยิงกลุ่มผู้ก่อวินาศกรรมที่ลุกล้ำพรมแดน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 65 ปรับสูงขึ้นอีกครั้ง โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 95.39 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส 91.07 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล น้ำมันดิบดูไบ 91.86 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และมีการมองถึงโอกาสน้ำมันดิบจะขยับขึ้นไปถึง 100 เหรียญสหรัฐ

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เมื่อ 22ก.พ.2565 มีวาระการพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงานหลายประเด็นเกี่ยวกับแนวทางอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ภาคครัวเรือน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการของรัฐ และแนวทางดูแลเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศ แต่ยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากต้องศึกษารายละเอียดและหารือแนวทางต่างๆ เพิ่มเติมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความชัดเจนก่อน รวมถึงระยะเวลา และแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในมาตรการดังกล่าว เพื่อนำกลับมาเสนอ กบง. อีกครั้งในเร็วๆ นี้ จึงยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ โพสต์เฟซบุ๊กว่า ได้ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ต่าง ๆ ในตลาดการเงินโลก ทั้งในส่วนของราคาหุ้นในยุโรป น้ำมัน ทองคำ พาลลาเดียม ค่าเงินดอลลาร์ “ราคาน้ำมันที่กำลังเพิ่ม หากไปไกลมากก็จะกดดันปัญหาเรื่องเงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ ให้แย่ลงไปอีก

ส่วนสินทรัพย์รัสเซียจากที่สหรัฐประกาศไว้ว่า จะ sanction (คว่ำบาตร) ทางการเงินและการค้าต่อรัสเซีย ด้วยมาตรการที่ ‘United, Swift and Severe’ โดยนโยบายดังกล่าวจะกดดันกับตลาดการเงินของรัสเซียเพิ่มเติม โดยเฉพาะจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันต่างประเทศที่ลงทุนในรัสเซียไปแล้ว และต้องเร่งถอนธุรกรรมออกมา” ดร.กอบศักดิ์ระบุ

เช่นเดียวกับ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ที่โพสต์เฟซบุ๊กโดยระบุในตอนหนึ่งว่า รัสเซียกุมกล่องดวงใจของเศรษฐกิจยุโรปและโลกไว้ นั่นคือก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ โดยยุโรปซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียกว่า 1 ใน 3 และรัสเซียส่งออกน้ำมันดิบมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และถ้ายุโรปคว่ำบาตรรัสเซีย รัสเซียสามารถตอบโต้โดยการปิดท่อก๊าซ ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในยุโรปแน่นอน

“ที่ผ่านมายุโรปก็แสดงความลังเล เพราะจะหยิกเล็บก็เจ็บเนื้อตัวเอง มีแต่สหรัฐที่ขู่หนัก เพราะสงครามไม่ได้อยู่หลังบ้านตัวเอง แต่ก็คงจะไม่ส่งทหารเข้าไปช่วยแบบเต็มที่ และทั้งสองฝ่ายเล่นสงครามแบบ information warfare อย่างหนักหน่วง” ดร.พิพัฒน์ระบุพร้อมเตือนว่า

ในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนและคาดเดายากขนาดนี้ อย่าไป bet (คาดเดา) ไปทางใดทางหนึ่ง แต่ควรพิจารณาผลกระทบในแต่ละ scenario (สถานการณ์) แล้วบริหารความเสี่ยงกันดีกว่า

หวั่น “หุ้นไทย” ดิ่งหนักซ้ำรอยเทรดวอร์

ด้านดัชนีหุ้นไทย (SET Index) เปิดตลาดช่วงเช้าวันที่ 22 ก.พ. ร่วงลงทันที ไปอยู่ที่ 1,673.31 จุด หรือปรับตัวลง -21.01 จุด ก่อนจะรีบาวนด์ขึ้นมา และมาปิดตลาดช่วงเย็นอยู่ที่ระดับ 1,691.12 จุด ปรับลง -3.2 จุด หรือคิดเป็น -0.19% มีมูลค่าซื้อขายรวมทั้งสิ้น 93,075 ล้านบาท โดยนายภาสกร ลิมมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

จากความกังวลจะเกิดสงครามรัสเซียและยูเครนเริ่มทวีความรุนแรงและมีโอกาสสู้รบกันสูงขึ้น ฉะนั้นต้องดูท่าทีชาติตะวันตกจะออกมาแบบไหน ถ้ามีมาตรการคว่ำบาตร (sanction) เพียงอย่างเดียว เชื่อว่าภาพดัชนีตลาดหุ้นไทยบริเวณ 1,675-1,650 จุด “น่าจะเอาอยู่”

อย่างไรก็ดี ปัญหาคือถ้าเกิดมีการตอบโต้ที่หนักจากฝั่งชาติตะวันตก และรัสเซียไม่ยอม อาจเกิดเป็น “สงครามเต็มรูปแบบ” ขึ้นมาได้ กรณีนี้ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อ SET Index ดิ่งลงหนักสุดราว 5% หรือร่วงกว่า 90 จุด โดยอาจจะมาอยู่บริเวณระดับ 1,600 จุด แต่ยังน้อยกว่าถ้าเทียบเคียงช่วงเกิดสงครามทางการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐและจีน ที่ SET Index ปรับตัวลงหนักกว่า 10%

ทั้งนี้ เนื่องด้วยตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นเอเชียจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรป เพราะได้รับผลกระทบแค่ทางอ้อมจากความเสี่ยงทางการเมืองระหว่างประเทศ (political risk) ไม่ใช่ผลกระทบโดยตรงเหมือนกรณีสงครามทางการค้า และแม้ว่าการเกิดสงครามจะดูน่ากลัว แต่เชื่อว่าจะถูกจำกัดไว้ไม่ให้ลุกลามออกไปกว้างขึ้น

“นักลงทุนต้องรอดูท่าทีชาติตะวันตกก่อนว่า จะแค่คว่ำบาตรหรือเปล่า ไม่ควรรีบตัดสินใจลงทุน เพราะไม่แน่ใจว่า end game ของรัสเซียจะขนาดไหน ขณะเดียวกันทางสหรัฐและยุโรปจะปล่อยผ่านหรือจะไม่ยอม ซึ่งไม่ว่าจะตัดสินใจออกมาแบบไหน จะมีผลกระทบตรงกันข้ามทันที” นายภาสกรกล่าว

ส่วนทิศทางเงินทุนต่างชาติ (fund flow) ตอนนี้เม็ดเงินจะไหลเข้าตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ (EM) โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานและธนาคารพาณิชย์ ฉะนั้นตลาดหุ้นไทยจะได้แรงหนุนตรงนี้เพราะมีสัดส่วนหุ้นน้ำมัน โรงกลั่น และธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างมาก

“ทิสโก้” ประเมินผลกระทบมีจำกัด

ด้าน นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) กล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI) ปรับตัวขึ้นแรงจากราว 80 เหรียญ/บาร์เรลในช่วงเดือน ม.ค. มาอยู่เหนือ 90 เหรียญในเดือน ก.พ. (ราคาน้ำมันดิบปัจจุบัน เวสต์เท็กซัส 91.07 เหรียญ-เบรนต์ 95.39 เหรียญต่อบาร์เรล) จากความกังวลต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น โดย TISCO ESU คาดว่าความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนจะส่งผลกระทบ “จำกัด” ต่ออุปทานน้ำมันดิบโลก จาก 2 เหตุผล

1) ยุโรปกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงานอย่างหนัก จึงไม่น่าเลือกใช้มาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานเพื่อตอบโต้รัสเซีย กับ 2) มาตรการคว่ำบาตรสินค้าพลังงานจะส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียอย่างจำกัด เนื่องจากรัสเซียสามารถส่งน้ำมันดิบไปขายในตลาดอื่น ๆ ได้ ประกอบกับสหรัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ถ้าตกลงกันได้ อิหร่านจะสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันได้อย่างน้อย 1 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันดิบ WTI กลับมาเทรดอยู่ในช่วง 85-90 เหรียญ

หนุนราคาทองคำขยับสู่ขาขึ้น

นายธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฮั่วเซ่งเฮง กล่าวว่า ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยหลักที่หนุนราคาทองคำให้ปรับตัวขึ้น เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย โดยมองว่าทองคำมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้ จากความกังวลในสถานการณ์ดังกล่าว แต่ทองคำจะปรับตัวขึ้นไปได้มากแค่ไหน คงต้องติดตามสถานการณ์ว่าจะจบลงหรือลุกลามไปขนาดไหน “ปัจจุบันทองคำปรับตัวมาอยู่ที่เหนือ 1,900 เหรียญ/ออนซ์แล้ว เราจึงให้แนวต้านถัดไปที่ 1,920-1,930 เหรียญ” นายธนรัชต์กล่าว

นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) กล่าวว่า ปัจจุบันราคาทองคำอยู่ในช่วงที่ซื้อมากเกินไป (overbought) แล้ว แต่ที่ราคาทองคำไม่สามารถย่อลงมาได้ เนื่องจากข่าวความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ฉะนั้นถ้าถามว่าทองคำจะปรับขึ้นต่อ หรือว่าจะย่อลงมา ปัจจัยหลัก ๆ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์รัสเซียและยูเครน

“คงต้องติดตามดูว่าสถานการณ์จะจบลงเมื่อไหร่ แต่ถ้าหากยังไม่จบ ก็มองว่าจะส่งผลให้ทองคำปรับตัว sideway up ขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น ถือว่าเป็นจังหวะดี ถ้าทองคำย่อตัวเป็นโอกาสทยอยสะสม หากทองคำปรับตัวขึ้นต่อให้แนวต้านไว้ที่ 1,920 เหรียญ/ออนซ์ หากผ่านไปได้ก็จะมีแนวต้านอีก 2 จุด ที่ 1,945 เหรียญ/ออนซ์ และ 1,955 เหรียญ/ออนซ์ ส่วนแนวรับ หากทองคำมีการย่อตัวลงมามองไว้ที่ 1,900 เหรียญ/ออนซ์ เป็นแนวรับแรก หากผ่านไปได้ก็จะมีแนวรับอีก 2 จุด ที่ 1,880 เหรียญ/ออนซ์ และ 1,865 เหรียญ/ออนซ์” นางพวรรณ์กล่าว

แนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า

ส่วน นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงิน ตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย มองว่า เงินบาทจะอ่อนค่าไปอยู่ที่ระดับ 32.50 บาท/เหรียญสหรัฐ แต่จะไม่เห็นหลุดแนวต้านที่ 32.75 บาท โดยปัจจัยที่กดดันบาทอ่อนค่า นอกจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนแล้ว ยังมาจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วย และหากรัสเซียและยูเครนเจรจาและตกลงกันได้ ก็จะเริ่มเห็นเงินบาท “กลับมาแข็งค่าได้เร็วขึ้น”

ส่วนหนึ่งมาจากทิศทางราคาทองคำโลกที่ก่อนหน้าราคาสูงไปรออยู่ที่ระดับ 1,950-1,960 เหรียญ/ออนซ์ จะเริ่มเห็นแรงเทขายทำกำไรออกมา ประกอบกับสถานการณ์ดีขึ้นจะส่งผลต่อค่าเงินบาทให้กลับมาแข็งค่าอยู่ในระดับ 32.10 บาท/เหรียญ จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 32.40 บาท/เหรียญ

ส่วนกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ประเมินว่า ตลาดพันธบัตร (บอนด์) ยังคงมีโอกาสเห็นนักลงทุนเข้ามาซื้ออยู่ ขณะที่ตลาดหุ้นอาจจะเห็นภาพเทขายทำกำไรได้ แต่จะไม่เห็นภาพการไหลออกของตลาดหุ้นรุนแรง “เราจะเห็นสถานการณ์ความไม่แน่นอนอยู่กับเราไปอีกราว 1 เดือน

ซึ่งจะส่งผลต่อความผันผวนของตลาดการเงิน หลังจากนั้นทุกอย่างจะเริ่มดีขึ้น และค่อยมาติดตามประเด็นนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 16 มี.ค.นี้ แต่ระหว่างนี้คงเห็นเงินบาทอ่อนค่า แต่ไม่มาก เพราะราคาทองคำยังช่วยพยุงไว้” นายพูนกล่าว

ไทยขาดดุลการค้ายูเครน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และได้กำชับให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยยังคงคาดการณ์เป้าส่งออกปีนี้ไว้ไม่น้อยกว่า 4-5%

จากสถิติการค้าในปี 2564 ปรากฏประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าไปยูเครน มูลค่า 4,228 ล้านบาท หรือขยายตัว 37.36% และมีการนำเข้าสินค้าจากยูเครน มูลค่า 8,199 ล้านบาท หรือขยายตัว 24.6% โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มูลค่า 1,037 ล้านบาท ขยายตัว 169.09%), ผลิตภัณฑ์ยาง (671 ล้านบาท หรือ 28.43%), ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (542 ล้านบาท หรือ 28.39%), อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (285 ล้านบาท หรือ 0.47%) และเม็ดพลาสติก (264 ล้านบาท หรือ 106.91%)

ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากยูเครน ได้แก่ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช (4,419 ล้านบาท หดตัว 16.52%), เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (3,013 ล้านบาท ขยายตัว 726.51%), ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ (133 ล้านบาท หรือ 141.99%), สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ (112 ล้านบาท หรือ 20.66%) และแร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ (112 ล้านบาท หรือหดตัว 2.50%)

ข้าวสาลีพุ่ง อาหารสัตว์แพง

ด้าน นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากยูเครนถือเป็นแหล่งนำเข้า “ข้าวสาลี” ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์ ล่าสุดขณะนี้ราคาข้าวสาลีนำเข้าปรับขึ้นไปเป็นกิโลกรัมละ 12 บาท

จากเดิมก่อนที่จะมีวิกฤตในปี 2564 มีราคากิโลกรัมละ 8- 9 บาท หรือปรับขึ้นไปกิโลกรัมละ 3 บาท คิดเป็น 34-35% ส่งผลให้ราคาข้าวสาลีนำเข้า “สูงกว่า” ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ และส่งผลกระทบทางอ้อมถึงต้นทุนวัตถุดิบอื่น ๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะหากนำเข้าจากยูเครนไม่ได้ก็ต้องหันไปนำเข้าจากแหล่งอื่น ซึ่งก็จะมีราคาสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

“แม้สถานการณ์ความตึงเครียดจะยังไม่กระทบต่อการขนส่ง แต่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นแรงกดดันจากก่อนหน้านี้ที่มีการปรับขึ้นค่าขนส่ง ค่าระวางเรือไปแล้ว 2-3 เท่า และในส่วนผู้ประกอบการเองไม่ได้มีการสต๊อกวัตถุดิบไว้มากนัก

เพราะจะต้องนำเข้าข้าวสาลีตามมาตรการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าของกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ซื้อข้าวโพด 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ซึ่งหากเทียบแล้วในแต่ละปี ผู้ประกอบการจะสามารถนำเข้าข้าวสาลีได้ประมาณ 1,000,000 ตัน ซึ่งจะเป็นการนำเข้าแบบปีต่อปี หากถามว่าจะตรึงราคาด้วยสต๊อกเดิมถึงเมื่อไหร่ ก็คงจะตอบไม่ได้” นายพรศิลป์กล่าว

“ทางสมาคมเคยขอปรับขึ้นราคากับกระทรวงพาณิชย์ แต่ไม่ได้รับการพิจารณาและทางสมาคมขอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยลดภาษีนำเข้ากับถั่วเหลือง 2% ก่อนหน้านี้เพื่อเยียวยาผลกระทบเรื่องต้นทุนวัตถุดิบ แต่ก็ไม่ได้รับพิจารณาเช่นกัน จากนี้ผู้ประกอบการแต่ละรายที่ให้ความร่วมมือในการตรึงราคาก็จะพิจารณาตามความเหมาะสมของสายป่านของแต่ละรายว่าจะตรึงราคาได้นานสักเท่าใด” นายพรศิลป์กล่าว

ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ประเด็นปัญหารัสเซียกับยูเครน ส่วนใหญ่ในภาคธุรกิจก็ยังให้ความเป็นห่วงและกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และได้มีการหยิบยกประเด็นนี้เข้าไปหารือ ในการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก หรือ APEC Business Advisory Council (ABAC) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

แต่สำหรับประเทศไทยนั้นมองว่าได้รับผลกระทบน้อยและไม่รุนแรง หากเทียบกับประเทศที่มีปัญหาข้อพิพาทกัน โดยรัฐบาลเองก็ได้เข้ามาดูแลในเรื่องของพลังงาน เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาสินค้า อัตราเงินเฟ้อ รวมไปถึงค่าไฟฟ้าหรือก๊าซหุงต้มด้วย