จับตาแก้สลากเกินราคา ทุบมังกรฟ้า ฉากบังหน้าเกมการเมือง?

ได้รับไฟเขียวจาก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ให้จัดการปัญหา “ขายสลากกินแบ่งเกินราคา”

ปัญหาสลากกินแบ่ง หรือลอตเตอรี่ ขายเกินราคา 80 บาท ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เงื้อง่ามาตั้งแต่ต้นรัฐบาล

กระทั่งเป็นนายกรัฐมนตรี ปีที่ 8 จึงได้สั่งการให้ “ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์” หรือ “แรมโบ้อีสาน” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาเกินกว่าที่กำหนดในสลากกินแบ่งรัฐบาล สนธิกำลังกับนายตำรวจ 9 ชีวิต “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.)

ปฏิบัติการเชือดแพลตฟอร์มขายสลากแพง

ปฏิบัติการสายฟ้าแลบ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2565 “เสกสกล” จับคู่กับ “บิ๊กโจ๊ก” ในฐานะรองประธานคณะทำงานฯ นำกำลังเข้าบุกเข้าตรวจค้นบริษัท มังกรฟ้า ล็อตเตอรี่ จำกัด ทั้งสำนักงานที่จังหวัดนนทบุรี และ มังกรฟ้า สาขาจังหวัดเลย

พร้อมกันนี้ มีการแถลงว่า ได้สืบสวนทราบว่าบริษัทดังกล่าว ไม่ได้รับการจัดสรรโควตา แต่มีการกว้านซื้อสลาก จากผู้ได้รับโควตาผู้ค้ารายย่อยและบุคคลทั่วไปมากกว่า 2 ล้านฉบับ แล้วนำเข้าสลากสู่ “แพลตฟอร์มมังกรฟ้า” เสนอขาย หรือแทรกแซงกลไกราคา “ทำให้ราคาสลากมีมูลค่าสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด”

ทำให้ต่อมาในวันที่ 27 มี.ค. 2565 ทางบริษัทมังกรฟ้า จึงได้ออกประกาศขอหยุดกิจการขายสลากออนไลน์ชั่วคราว นับตั้งแต่งวดประจำวันที่ 16 เม.ย. 2565 เป็นต้นไป จนกว่าบริษัทจะมีการประกาศให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง

จากนั้นวันที่ 28 มี.ค. 2565 “เสกสกล” ก็เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง นำทีมตำรวจ และ พ.ท.หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจค้นบริษัท ลอตเตอรี่ออนไลน์ จำกัด (กองสลากพลัส) ที่ซอยสุขุมวิท 63 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ

โดยระบุว่า ได้สืบสวนจนทราบว่า บริษัทดังกล่าวไม่ได้รับการจัดสรรโควตา แล้วมีการกว้านซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล จากผู้ได้รับโควตาผู้ค้ารายย่อยและบุคคลทั่วไป แล้วนำเข้าสู่ระบบแพลตฟอร์มกองสลากพลัส เสนอขายหรือแทรกแซงกลไกราคา “จนทำให้ราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลมีมูลค่าสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด”

“อนุชา” ยัน “มังกรฟ้า-กองสลากพลัส” ขายเกินราคา

ขณะที่ “อนุชา นาคาศัย” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาเกินกว่าที่กำหนดในสลากกินแบ่งรัฐบาล แถลงว่า จากการตรวจค้นบริษัท มังกรฟ้า ตรวจพบสลากกินแบ่งรัฐบาลมากกว่า 2 ล้านฉบับ นำมาเสนอขายในเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นของมังกรฟ้าในราคาเริ่มต้นฉบับละ 105 บาท ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

ส่วนการตรวจค้นบริษัท ลอตเตอรี่ออนไลน์ ผู้ประกอบกิจการแอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์ของกองสลากพลัส พบจำนวนสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวนกว่า 4.7 ล้านฉบับ

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายผล ตรวจสอบสลากกินแบ่งรัฐบาล ว่าเป็นสลากของตัวแทนจำหน่าย หรือผู้ซื้อ-จองล่วงหน้ารายใด เพื่อนำไปสู่การยกเลิกสัญญาตัวแทนจำหน่ายและยกเลิกการลงทะเบียน กรณีซื้อจองล่วงหน้าต่อไป” นายอนุชากล่าว

“มังกรฟ้า” โต้ไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคา

ด้าน “พชรล์ เมสสิยาห์พร” กรรมการผู้จัดการบริษัท มังกรฟ้า ลอตเตอรี่ จำกัด ได้มีการชี้แจงว่า มังกรฟ้า เป็นเพียงผู้ให้บริการช่องทางหนึ่ง โดยเปิดให้ผู้ค้าสลาก หรือผู้ที่มีโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล นำสลากหรือ ลอตเตอรี่ ที่มีอยู่ในมือ มาจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ “มังกรฟ้า” เปรียบเหมือนช่องทางอำนวยความสะดวกให้กับผู้ค้า และผู้ซื้อ ให้จับจ่ายสลากได้ง่ายขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์

“มังกรฟ้าจะได้ค่าสแกนลอตเตอรี่จากผู้ค้าสลาก ใบละ 3-5 บาทเท่านั้น ส่วนราคาขาย ผู้ขายซึ่งเป็นเจ้าของโควตาจะเป็นผู้กำหนดเองราคาเฉลี่ยที่ 80 – 105 บาท แล้วแต่ละเจ้าจะกำหนด ยืนยันว่ามังกรฟ้า หรือตนเอง ไม่มีสิทธิในการกำหนดราคา หรือบังคับให้ขายใบละ 80 บาท เพราะลอตเตอรี่ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของตน” นายพชรล์กล่าว

ส่วนที่มีการปิดบังบาร์โค้ดนั้น “พชรล์” กล่าวว่า เป็นเพราะได้รับการร้องเรียนและขอร้องจากผู้ค้าให้ช่วยปิดให้ เพราะเจ้าของโควตากังวลว่าจะถูกตัดสิทธิ ส่วนการนำสลากมาจำหน่ายผ่านช่องทางมังกรฟ้าจะผิดกฎหมายหรือไม่นั้น ตนไม่แน่ใจ แต่มองว่าเป็นเรื่องของยุคสมัย พร้อมยืนยันว่ารายได้ของมังกรฟ้ามาจากช่องทางเดียวคือ ค่าสแกน “ไม่มีรายได้จากการขายลอตเตอรี่สักใบ”

“กองสลากพลัส” ซื้อสลากจากตัวแทนมาขายต่อ

แหล่งข่าวจากบริษัท ลอตเตอรี่ออนไลน์ จำกัด กล่าวว่า โมเดลธุรกิจของกองสลากพลัส แตกต่างไปจากรูปแบบของ มังกรฟ้า ที่มีตัวแทนเข้ามาจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม แต่ของกองสลากพลัส ลูกค้าสามารถซื้อสลากโดยตรงกับทางบริษัทได้เลย โดยไม่มีการไปกดค้นหาตัวแทนจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม เป็นการซื้อขายและรับเงินจากบริษัทโดยตรง ส่วนการปิดคิวอาร์โค้ดบนสลากนั้น เป็นการป้องกัน ไม่ให้เจ้าของโควตาโดนตัดสิทธิ

“ผู้มีโควตาที่กังวลว่าจะจำหน่ายสลากไม่หมด ก็จะนำมาขายให้กับสลากพลัส เพื่อให้เราไปจำหน่ายในราคาที่ไม่ได้สูงมาก คือกำหนดราคาขายสูงสุดไว้ที่ ใบละ 95 บาท และมีการแจ้งลูกค้าผ่านเพจ Facebook ตลอดว่าได้รับสลากมาในราคาเท่าไหร่ และขอคิดค่าบริการเพิ่มเติม เพื่อจำหน่ายในราคา 95 บาท และแต่ละงวดก็จะมีผู้ค้าขายสลากให้เราจำนวนไม่เท่ากัน เช่น งวด 1 เม.ย. 2565 นี้ก็มีผู้ค้ามาขายสลากให้เรา รวมประมาณ 4 ล้านใบ” แหล่งข่าวระบุ

โดยหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาตรวจสอบ แหล่งข่าวกล่าวว่า ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ากองสลากพลัส ดำเนินการผิดกฎหมายในส่วนใดบ้าง ยังอยู่ระหว่างพิจารณาในรายละเอียด อย่างไรก็ดี ขณะนี้กองสลากพลัส ยังไม่มีนโยบายแจ้งปิดกิจการ ลูกค้ายังสามารถซื้อสลากบนแพลตฟอร์มกองสลากพลัสได้ปกติ

เปิดงบการเงิน 2 แพลตฟอร์ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบงบการเงินของบริษัท มังกรฟ้า ล็อตเตอรี่ จำกัด จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า มีการนำส่งงบการเงินล่าสุดในปี 2563 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 8.08 ล้านบาท มีรายได้ 3.77 ล้านบาท รายจ่าย 2.5 ล้านบาท ภาษี 1.77 แสนบาท เหลือกำไรสุทธิ 1.07 ล้านบาท ส่วนงบการเงินล่าสุดในปี 2564 ยังอยู่ระหว่างการนำส่ง

โดยบริษัทมีโครงสร้างผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย นายพชรล์ เมสสิยาห์พร ประธานกรรมการบริษัท ถือหุ้นสูงสุด 40,000 หุ้น, นายอานนท์ คุ้มทะยาย จำนวน 5,000 หุ้น, และ นายเรนิน ธรรมจิตร จำนวน 5,000 หุ้น

ขณะที่งบการเงินของบริษัท ลอตเตอรี่ออนไลน์ จำกัด พบว่า ในปี 2563 มีสินทรัพย์รวม 1.13 ล้านบาท โดยมีผลขาดทุนสุทธิ 137,184 บาท ขณะที่สัดส่วนผู้ถือหุ้น 3 อันดับแรก ได้แก่ นายพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ ถือหุ้น 44,00 หุ้น, นายสุรชัช คล้ายคลึง ถือหุ้น 2,500 หุ้น และนายจตุภัทร บุญสุวรรณ์ ถือหุ้น 1,500 หุ้น

โฆษกสลาก แจงแนวทางเอาผิดต้นตอสลากแพง

ด้าน “ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะโฆษกสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า องค์ความผิดของการขายสลากเกินราคา จะต้องขายสลากเกินราคา ด้วยการนำไปจำหน่ายเอง แต่ขณะนี้แพลตฟอร์มจำหน่ายสลากออนไลน์ ยังมีการอ้างว่าเป็นการ “รับฝากสลาก” ไม่ได้มีการจำหน่ายเอง

ฉะนั้น ฐานความผิดของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ตามกฎหมายสลากปี 2563 เป็นความผิดของคนขาย ซึ่งจะต้องมีการพิสูจน์ทราบว่า แพลตฟอร์มเป็นผู้ขายเอง ขายช่วง หรือขายขาด หรือหากมีการกล่าวหาว่านำสลากมาจากใคร แล้วนำมาขายเอง ก็จะต้องมีการพิสูจน์ทราบ

“ยกตัวอย่าง เช่น นาย ก ฝากขาย ก็ต้องพิสูจน์ทราบว่านาย ก ฝากขาย หรือแพลตฟอร์มเป็นผู้ขาย ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างว่าเขารับฝาก แต่ข้อเท็จจริงเขาขายเอง แล้วอ้างว่ารับฝากหรือไม่ ซึ่งหากบอกว่าแค่รับฝาก และสแกน ก็ต้องไปพิสูจน์ทราบ อย่างไรก็ดี หากแพลตฟอร์มขายเอง ก็จะมีฐานความผิดในแง่กฎหมายแพ่ง คือ การขายสลากเกินราคา จะถูกปรับไม่เกิน 10,000 บาท” นายธนวรรธน์กล่าว

ต่อมาหากแพลตฟอร์มทั่วไปไม่มีสลากอยู่ในมือ หากทำการขาย แสดงว่าเป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีความผิดในกฎหมายอาญา แต่หากบางเรื่องเป็นการทำ ดัดแปลง มีการสร้างตัวเลขขึ้นมาเอง หรือไม่ใช่ของสลาก เช่น มีการไปเบลอ ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นของสำนักงานสลากฯ อาจจะเข้าข่ายลักษณะทำการพนันเอง ซึ่งก็ต้องรอติดตามดูว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะกล่าวโทษในส่วนนี้ด้วยหรือไม่

ปรับ 1 หมื่นบาท ตัดโควตาตลอดชีวิต

หากแพลตฟอร์มนำสลากมาแล้วขายเลขเดียวกัน เช่น สลาก 1 ใบ ขายให้ลูกค้า 3-4 คน หรือมากกว่า 1 คน ก็แสดงว่ามีการฉ้อโกง ฉะนั้น จะต้องมีหลักฐานจากทางตำรวจว่า แพลตฟอร์มเหล่านี้ทำผิดอะไร ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างไรก็ดี กรณีที่แพลตฟอร์มรับซื้อสลากจากตัวแทนจำหน่าย แล้วมาขายในราคาใบละ 95 บาท มีความผิดฐานขายสลากเกินราคา โดนปรับ 10,000 บาท แน่นอน”

“ธนวรรธน์” กล่าวว่า กฎหมายของสลาก คือต้องจำหน่าย 80 บาท หากแพลตฟอร์มรับมาแล้วจำหน่ายในราคา 80 บาท จะไม่เป็นอะไร แต่เมื่อมีการขายเกินราคาก็มีความผิด เช่น แพลตฟอร์มไปรับช่วงซื้อมา คนขายสลากในขั้นต้นก็จะโดนสำนักงานสลากฯ ตัดโควตาตลอดชีวิต เพราะทำผิดสัญญากับสลาก ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กลไกราคาสลากแพงขึ้น ส่วนแพลตฟอร์มขายออนไลน์ จะโดนปรับฐานขายสลากเกินราคา

ทั้งนี้ ในกระบวนการตรวจสอบผู้มีโควตา-รับซื้อจองสลาก ที่นำมาขายให้กับแพลตฟอร์มขายสลากออนไลน์นั้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียด ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะใช้ระยะเวลานานเท่าใด

เดินหน้าตรวจสอบ 10 แพลตฟอร์ม

แหล่งข่าวจากวงการผู้ค้าสลากเปิดเผยว่า ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการแพลตฟอร์มสลากออนไลน์ ทั้งรายเล็ก รายใหญ่ ที่มีการจำหน่ายสลากในลักษณะเดียวกับมังกรฟ้า เกิดขึ้นประมาณ 10 ราย โดยนอกจากมังกรฟ้าแล้ว ยังมีรายใหญ่อีกหลายราย อย่างเช่น กองสลากพลัส ซึ่งขณะนี้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา และคณะทำงานชุดปฏิบัติการพิเศษตรวจสอบผู้ค้าคนกลาง กำลังมีการพิจารณาสืบสวนสอบสวนต่อไป

แก้สลากแพง “วนในอ่าง”

ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแก้ปัญหาสลากแพง ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเหมือนการ “วนลูป” ที่แก้อย่างไรก็ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยแม้ที่ผ่านมาจะมีการแก้ไขปัญหาไปหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้มีระบบซื้อ-จองล่วงหน้า ไปจนถึงการพิมพ์สลากเพิ่มเป็น 100 ล้านฉบับต่องวด ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้เบ็ดเสร็จ

“ไม่ว่าจะแก้อย่างไร ก็ยังมีการรวมสลากได้อยู่ ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่า คนที่ทำได้ ก็ต้องมีเงินมาก แล้วก็ใจถึง” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า หากจะให้สำนักงานสลากฯ ทำแพลตฟอร์มขายเอง ก็อาจจะผิดกฎหมาย ที่มีการกำหนดเรื่องส่วนแบ่งรายได้ เงินรางวัลไว้ชัดเจน หากสำนักงานสลากฯขายเอง ก็อาจจะกระทบตรงนี้

“หรือหากจะแก้กฎหมายให้สำนักงานสลากฯขายเองได้จริง ก็จะไปกระทบกลุ่มคนที่ขายสลากจริง ๆ อีก โดยเฉพาะคนพิการ หรือสมาคมต่าง ๆ ซึ่งการที่หวยแพงในปัจจุบัน ก็ต้องยอมรับว่า เกิดจากคนได้โควตาไปแล้วไม่ขายจริง เอาไปขายให้พวกยี่ปั๊วต่อ มีการรวมชุดเลขดัง ทำให้ราคาแพงขึ้นมา ดังนั้น การแก้ปัญหา ก็ต้องไปไล่จับคนที่ได้โควตาไป แต่ไม่ขายจริง ซึ่งก็ต้องใช้เวลาตรวจสอบ ไม่ได้ง่าย” แหล่งข่าวกล่าว

จับตา “ฝ่ายการเมือง” แก้ปัญหา

สำหรับกรณีการเข้าไปตรวจค้น “แพลตฟอร์ม” ต่าง ๆ ในช่วงนี้ ก็คงต้องดูว่า “ฝ่ายการเมือง” จะเดินหน้าอย่างไรต่อไปบ้าง แม้ว่าแพลตฟอร์มจะไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานสลากฯ แต่ก็ไม่ได้มีกฎหมายห้ามไว้ว่าไม่ให้ทำ ซึ่งการจะเอาผิดมีอยู่แค่ 2 ประเด็น คือ พิสูจน์ให้ได้ว่า “ขายเกินราคา” และ “ไม่ได้มีโควตาแต่นำไปขาย”

“ขายผ่านแพลตฟอร์มแล้วเกินราคา ก็ต้องไไล่ดูว่าใครเป็นคนตั้งราคาขาย แพลตฟอร์มก็บอกว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนตั้งราคาขาย เป็นคนที่มีโควตาตั้งราคาแล้วนำมาโพสต์ขายผ่านแพลตฟอร์ม แต่เขาคิดค่าบริการแค่นั้น” แหล่งข่าวกล่าว

สุดท้าย การออกมาแอ็กชั่นแก้ปัญหาสลากแพง จะเป็นไปตามสมมุติฐานของคนในวงการเมือง ที่ตั้งข้อสังเกตว่า การลุยล้างบางแพลตฟอร์ม ขายลอตเตอรี่เกินราคา เป็นเพียงฉากหนึ่งของนักการเมือง ที่ต้องการตัดท่อน้ำเลี้ยงของฝ่ายตรงกันข้าม เหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ โดยใช้ความตั้งใจมุ่งมั่นแก้ปัญหาสลากราคาแพงเกินจริง เป็นฉากบังหน้า ?