เงินเฟ้อโจทย์ใหม่เศรษฐกิจไทย ทุบกำลังซื้อ-บั่นทอนจีดีพีโตต่ำศักยภาพ

เงินเฟ้อ

อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น กลายเป็นปัญหาสำคัญของโลก เพราะประเทศเศรษฐกิจหลักต่างต้องเผชิญความท้าทายนี้ โดยเฉพาะปัจจัยการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เข้ามาซ้ำเติม โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง ขณะที่ล่าสุด ตัวเลขเงินเฟ้อเยอรมนีและสเปนก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เหล่านี้ทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลถึงแนวโน้มการถดถอยของเศรษฐกิจโลก

ครัวเรือนอ่วมเงินเฟ้อดันราคาสินค้า

สำหรับประเทศไทยล่าสุด “วุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล” ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.พ. 2565 อยู่ที่ 5.28% เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.8% อย่างไรก็ดี เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี

ขณะที่ “ดร.ยรรยง ไทยเจริญ” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เงินเฟ้อของไทยที่สูงขึ้นได้ส่งผลต่อราคาอาหารปรับเพิ่มขึ้นอีก 260 รายการ จากเดิมปรับขึ้นแล้ว 430 รายการ ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภค โดยเฉพาะการบริโภคในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ทั้งนี้ EIC คาดว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีน่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4.9%

แห่หั่นเป้าจีดีพีรับ “สงคราม-เงินเฟ้อ”

“วชิรวัฒน์ บานชื่น” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า EIC ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปี 2565 ลงเหลือ 2.7% จากเดิมคาดที่ 3.2% จากกำลังซื้อของครัวเรือนที่มีแนวโน้มลดลงตามอัตราเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวสูงขึ้น

ขณะที่ราคาพลังงานและวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น ผลกำไร (profit margin) ลดลง และอาจชะลอการลงทุนจากเดิม

“แม้ EIC คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเฉลี่ยทั้งปี มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปีที่ระดับ 4.9% แต่เงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ปัจจัยด้านอุปสงค์ยังไม่เร่งตัวมากนัก แม้อาจมีการทยอยส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมายังผู้บริโภคบ้างบางส่วน นอกจากนี้ EIC คาดว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับลดลงและเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% ได้ในปีหน้า”

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวที่ 3.0% ซึ่งเป็นทิศทางฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ช้าลงกว่าที่เคยประเมินไว้เดิม รวมถึงมองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้

หากสถานการณ์ความขัดแย้งในยุโรปยืดเยื้อบานปลายและเกิดการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานในตลาดโลกและตลาดในประเทศทรงตัวระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้ กิจกรรมภาคธุรกิจไทยก็อาจลดลงมากกว่าที่คาดจากสาเหตุการปรับต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระดับการจ้างงานในอนาคต

ฟากศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทบทวนประมาณการจีดีพีใหม่ มาอยู่ที่ 2.5% จากเดิมคาดว่า ปีนี้จีดีพีจะขยายตัว 3.7%กนง.คงดอกเบี้ยประคองเศรษฐกิจ

“ปิติ ดิษยทัต” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า กนง.ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว อย่างไรก็ดี ได้มีการปรับลดประมาณการจีดีพีปี 2565 และปี 2566 ลงเหลือ 3.2% และ 4.4% ตามลำดับ

เงินเฟ้อหลุดกรอบ ธปท.เร่งชี้แจงคลัง

โดย ธปท.คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะอยู่ที่ 4.9% ภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล และปีหน้าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.7% บนสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบที่ 90 ดอลลาร์/บาร์เรล ทั้งนี้ ในปีนี้เงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงกว่า 5% ในไตรมาส 2 และ 3 จากราคาพลังงานและการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารเป็นหลัก

“ธปท.มองว่า เงินเฟ้อจะปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% ในปีหน้า แต่ในระยะสั้นจะหลุดกรอบ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของ ธปท. ในการดูแลที่จะทำให้อยู่ในกรอบระยะปานกลาง”

ทั้งนี้ ธนาคารกลางหลายประเทศ ต่างก็ต้องเผชิญสถานการณ์เดียวกัน คือ เงินเฟ้อปีนี้จะเพิ่มขึ้นสูง แล้วปีหน้าจะลดลงมากกว่าครึ่ง ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากฐานที่สูง และราคาพลังงานและอาหารเร่งขึ้นในปีนี้

“ธปท.อยู่ระหว่างการทำหนังสือเปิดผนึกถึงกระทรวงการคลังเพื่อชี้แจงกรณีอัตราเงินเฟ้อเกินกรอบเป้าหมาย ซึ่งเป็นกรอบเป้าหมายระยะปานกลางที่ ธปท.เซ็นข้อตกลง (MOU) ร่วมกันกับกระทรวงการคลังไว้”

ยัน ศก.ไทยไม่ใช่ “Stagflation”

“ปิติ” กล่าวด้วยว่าเศรษฐกิจไทยตอนนี้ไม่เข้าข่าย “stagflation” แม้ว่าแรงกระแทกของการช็อกจากราคาพลังงาน อาจทำให้เศรษฐกิจสะดุดเล็กน้อย เพราะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่จีดีพีไทยปีนี้จะยังขยายตัวได้ในระดับ 3.2% และปีหน้า 4.4% เป็นการเติบโตเพิ่มขึ้น และเร็วกว่าระดับศักยภาพที่อยู่ที่ 3%

ขุนคลังยันดูแลผลกระทบระยะสั้น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า หากเงินเฟ้อเกินกรอบเป้าหมายแค่ระยะสั้น โดยทั้งปีเฉลี่ยไม่ถึง 3% ก็ไม่จำเป็นต้องปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ โดยสิ่งที่จะช่วยทำให้อัตราเงินเฟ้อในระยะสั้นไม่สูงเกินไป คือ มาตรการระยะสั้นที่รัฐบาลตรึงราคาน้ำมัน

แต่หากราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปอีกถึง 150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทุกประเทศก็จะเจอปัญหาเดียวกัน ซึ่งหากสถานการณ์นั้นเกิดขึ้นอาจจะต้องขอให้ประชาชนช่วยแบ่งเบาภาระราคาค่าน้ำมันคนละครึ่งหนึ่งกับรัฐบาล

นอกจากนี้ การช่วยเหลือในเรื่องค่าครองชีพทั้งเรื่องราคาค่าก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้า รวมถึงช่วยค่าน้ำมันเบนซินกลุ่มคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง จะช่วยให้ราคาสินค้าที่สูงขึ้นในปัจจุบันทุเลาลง

“พิพัฒน์” เตือนระวัง “เงินเฟ้อค้างนาน”

ด้าน “ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของไทย คือ เงินเฟ้อมาจากฝั่งต้นทุน ซึ่งขึ้นดอกเบี้ยก็คงไม่ช่วยอะไร แต่ความเสี่ยงก็คือ หากไม่ทำอะไรเลย ก็มีโอกาสที่เงินเฟ้อจะค้างในระดับสูงนาน

และจะยิ่งทำให้มีผลกระทบรอบสองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กล่าวคือ จากผลกระทบรอบแรกที่มาจากราคาน้ำมัน ก็จะไปกระทบพวกราคาสินค้า ราคาอาหาร และอาจจะเลยไปถึงการเรียกร้องปรับค่าแรง

ทั้งนี้ ตนก็เห็นด้วยว่ายังไม่ควรรีบขึ้นดอกเบี้ยตอนนี้ เพราะเศรษฐกิจยังไม่พร้อมรับมือ แต่ก็ต้องระวัง เพราะสุดท้าย หากไม่ทำอะไรเลย เงินเฟ้อจะค้างนาน ซึ่งสถานการณ์แบบนี้จัดการยากมาก เพราะไม่ได้มาจากการที่เศรษฐกิจร้อนแรง

“ถ้าผลกระทบรอบสองมากขึ้นเรื่อย ๆ จะยิ่งน่ากังวล ซึ่งธนาคารกลางทุกประเทศก็กังวลตรงนี้ ว่าจะจัดการเงินเฟ้อก่อนที่การคาดการณ์เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอย่างไร เพราะมีบทเรียนจากกรณีธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ปีที่แล้วมองว่าไม่ต้องทำอะไร เนื่องจากมองเงินเฟ้อแค่ชั่วคราว

แต่มาปีนี้เงินเฟ้อพุ่งมากกว่าที่คาด ดังนั้น ธปท.ก็ต้องบริหารความเสี่ยงตรงนี้ด้วย ต้องมี scenario ว่าถ้าเงินเฟ้อไม่ลงจะทำอย่างไร ต้องติดตามดูสถานการณ์ หากการคาดการณ์เงินเฟ้อเริ่มสูง ก็ต้องส่งสัญญาณแรง ๆ เพราะหากปล่อยไว้จะยิ่งจัดการยาก”

หวั่นเศรษฐกิจไทยโตต่ำศักยภาพยาวนาน

สำหรับผลกระทบเงินเฟ้อต่อจีดีพีนั้น ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยถือว่ามีฐานต่ำค่อนข้างมาก เพราะเมื่อ 2 ปีก่อนติดลบไป 6% มาปีที่แล้วกลับมาโตแค่ 1.5% ซึ่งปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อที่เข้ามา ทำให้มีความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะโตต่ำกว่าศักยภาพไปเป็นเวลานาน ๆ ได้

คงต้องติดตามกันว่า หากสถานการณ์เงินเฟ้อไม่ใช่ผลกระทบแค่สั้น ๆ ทาง ธปท.จะปรับแผนรับมืออย่างไรต่อไป