2 ค่ายยักษ์ประกันชิงตลาด ‘อีวี’ ผนึกลีสซิ่งขาย-รับคิดเบี้ยแพงกว่ารถสันดาป

ยักษ์ประกันวินาศภัยตบเท้าชิงตลาดรถอีวี ตั้งเป้าปี’65 ขยายพอร์ตโกยเบี้ยรับคิดค่าเบี้ยแพงกว่ารถสันดาปภายใน “กรุงเทพประกันภัย” ปักธงเบี้ยอีวีแตะ 100 ล้านบาท จากปีก่อนทำได้ 25 ล้านบาท รุกเจาะช่องทางขายผ่านลีสซิ่งชิงพอร์ตรถจีน ฟาก “วิริยะประกันภัย” จับมือทิสโก้รับงาน “เกรท วอลล์ฯ-เอ็มจี” ตั้งเป้าทำยอดรถอีวี 3 พันคันดันพอร์ตรวมรถยนต์ปีนี้โต 6%

นายอภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2565 ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทย ถือเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูง โดยเฉพาะรถอีวีที่มาจากประเทศจีน

เพราะมีสัดส่วนรถนำเข้าที่ค่อนข้างมาก และราคาจับต้องได้ ซึ่งปัจจุบันมีผู้เล่นในตลาดที่เปิดขายประกันรถอีวีแล้ว น่าจะ 3-4 ราย ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ขณะที่อัตราค่าเบี้ยไม่ได้แตกต่างกันมาก ขึ้นอยู่กับต้นทุนการบริการที่แตกต่างกันออกไป

ทั้งนี้ ตลาดรถอีวีจีนเป็นกลุ่มที่กรุงเทพประกันภัยได้เข้าไปศึกษาราคา ทั้งค่าแรง ค่าซ่อม และค่าอะไหล่ ตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมาแล้ว โดยพบว่า ยังไม่สามารถซ่อมศูนย์ทั่วไปได้ จะต้องซ่อมผ่านศูนย์ของตัวแทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) เท่านั้น ซึ่งกลยุทธ์ในการรับประกันรถอีวี

ช่วงปีแรกงานส่วนใหญ่จะผ่านช่องทางตัวแทนนายหน้า แต่แนวโน้มที่บริษัทกำลังจะไป คือ ดีลงานผ่านบริษัทลีสซิ่ง เพราะเริ่มเห็นมีการปล่อยกู้รถอีวีของจีนกันมากขึ้น ถือว่าเป็นพอร์ตค่อนข้างใหญ่ ดังนั้น บริษัทจึงจะเริ่มเข้าไปทดลองรับงานส่วนนี้มากขึ้น

“หลังจากที่ได้มีการศึกษา บริษัทก็ได้เข้าไปรับประกันรถอีวี โดยสิ้นปี 2564 มีเบี้ยประกันเข้ามาแล้ว 25 ล้านบาท และคาดหวังปีนี้จะมีเบี้ยประกันไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท โดยเบี้ยประกันรถอีวี จะคิดเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตประกันรถยนต์ (motor) ที่มีสัดส่วนกว่า 40% ของเบี้ยรวม

หรือประมาณ 10,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การรับประกันรถอีวียังเป็นการทำงานร่วมกับผู้รับประกันภัยต่อ โดยมีการจัดสรรโควตาแชร์ที่ 50 : 50% เพื่อรับโอนความเสี่ยงกันคนละครึ่ง”

สำหรับค่าเบี้ยประกันรถอีวี ปัจจุบันยังไม่มีสูตรตายตัว บางรุ่นรถขึ้นอยู่กับการเจรจาเรื่องค่าแรงและค่าอะไหล่กับศูนย์ซ่อมต่าง ๆ ถ้าการเจรจาให้ผลออกมาดี ค่าเบี้ยจะมีราคาที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับรถเครื่องยนต์สันดาปภายในทั่วไป โดยขึ้นอยู่กับรุ่นรถ ยี่ห้อ โมเดล และราคาทุนประกันภัย

“แต่ถือว่ารถอีวีจีน ถ้าเทียบโดยเฉลี่ยราคาจะสูงกว่ารถใช้น้ำมันตั้งแต่ 0-15% อาทิ เอ็มจี (MG), นิสสัน (Nissan) เบี้ยประกันประมาณ 2 หมื่นบาทต้น ๆแต่ในบางรุ่นค่าเบี้ยก็มีโอกาสแพงขึ้นไปมากถึง 60-70% หรือกว่าเท่าตัวของเบี้ยในตลาด อย่างรถอีวียุโรป เช่น เทสลา (Tesla), โฟล์คสวาเกน (Volkswagen),

บีเอ็มดับบลิว (BMW), มินิคูเปอร์ (MINI Cooper) เป็นต้น เพราะระบบชิ้นส่วนอะไหล่ยังมีต้นทุนที่สูงมาก ยังไม่ติดตลาด ขณะที่ระบบอะไหล่ ระบบค่าแรง และการซ่อม ซึ่งต้องใช้ศูนย์และความเชี่ยวชาญเฉพาะบุคคลอีกด้วย”

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จากการศึกษาอัตราความเสียหาย (loss ratio) ระบบรถอีวี ส่วนใหญ่จะมีชิ้นส่วนอุปกรณ์ไม่มากและมีเซ็นเซอร์รอบคัน เพราะฉะนั้น อุบัติเหตุเล็กน้อยไม่ค่อยเกิดขึ้น

แต่ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นส่วนใหญ่ไม่มีการเคาะ หรือพ่นสี แต่ต้องเปลี่ยนอะไหล่ทั้งชิ้น รวมถึงตัวแบตเตอรี่ที่ใช้ประจุไฟฟ้าซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มีราคาแพงที่สุด หากได้รับกระทบกระเทือนเกิดความเสียหาย ต้องเปลี่ยนอย่างเดียว ซึ่งต้องสั่งแบตเตอรี่จากต่างประเทศเข้ามา

“ปีที่ผ่านมา อัตราความเสียหายจากการประกันรถอีวีอยู่ในระดับต่ำกว่า 40% เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ใช้งานในเมืองไม่ค่อยเดินทางไกล แต่ก็ไม่ได้สะท้อนภาพรวม loss ratio ของประกันรถทั้งพอร์ตเพราะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งคนใช้รถน้อย” นายอภิสิทธิ์กล่าว

วิริยะประกันภัยตั้งเป้าหมายรับประกัน ‘อีวี’ 2-3 พันคัน

นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากข้อมูลรถอีวีจดทะเบียนในเดือน ก.พ. 2565 มีจำนวน 5,400 คัน (เฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง) โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายจะเข้าไปรับประกันรถอีวีจำนวน 2,000-3,000 คัน

ซึ่งจะมีเบี้ยประกันเข้ามา 75 ล้านบาท โดยงานส่วนใหญ่จะผ่านสถาบันการเงิน ปัจจุบันมีพาร์ตเนอร์หลักคือ บริษัท ทิสโก้ ลีสซิ่ง จำกัด ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งหนุนพอร์ตประกันรถในภาพรวมปีนี้เติบโต 6% เบี้ยประกันรับรวมอยู่ที่ 39,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในปี 2564 บริษัทมีการรับประกันรถอีวีทั้งหมด 700 คัน คิดเป็นเบี้ยกว่า 14 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นรถอีวีจีนของกลุ่มเกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) และ MG ราคาเบี้ยประกันจะแพงกว่ารถทั่วไปในตลาดไม่ถึง 10% เพราะมูลค่ารถประมาณแค่กว่า 1 ล้านบาท

“ด้านความพร้อมเคลมสินไหม ปัจจุบันบริษัทมีฝ่ายมาตรฐานการซ่อมรถอีวีที่ได้เข้าไปดูรถทุกยี่ห้อที่เข้ามาในไทยแล้ว และได้ประสานงานกับผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่ายเกี่ยวกับอะไหล่และการจัดซ่อม


ซึ่งกรณีการซ่อมตัวถังทางศูนย์ซ่อมมาตรฐานของบริษัทจัดการได้ เว้นแต่กรณีลุกลามไประบบไฟฟ้าหรือทางเทคนิคขั้นสูง บริษัทจะประสานงานไปยังบริษัทผู้ผลิตรถดังกล่าว เพื่อให้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษางานซ่อม เพื่อให้ลูกค้าได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด” นายสยมกล่าว