EIC ชี้ส่งออกไทยมีสัญญาณชะลอ คาดเอฟเฟ็กต์ รัสเซีย-ยูเครน กระทบมากขึ้น

ส่งออก

EIC ไทยพาณิชย์ ชี้ส่งออกไทยมีสัญญาณชะลอ หากไม่รวม “ทองคำ” ประเมินส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบจากผลพวงสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” มากขึ้นเป็นลำดับ

วันที่ 27 เมษายน 2565 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า มูลค่าการส่งออกในเดือนมีนาคมยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่เริ่มเห็นถึงสัญญาณชะลอตัวจากผลกระทบของสงครามต่ออุปสงค์โลกและปัญหาชะงักงันของอุปทาน

โดยภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทยขยายตัวได้ในอัตราที่เร่งตัวขึ้นที่ 19.5% จาก 16.2% ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยหากพิจารณาเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ (ปรับผลของฤดูกาล) การส่งออกจะยังขยายตัวที่ 7.3% (MOM, SA) อย่างไรก็ตาม หากพิจารณามูลค่าส่งออกหักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนภาวะการค้าที่แท้จริง การส่งออกจะขยายตัวอยู่ที่ 9.5% ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 13.2%

และหากพิจารณาเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ (ปรับผลของฤดูกาล) การส่งออกหักทองจะขยายตัวเพียง 2.4% (MOM, SA) สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ย่อลงมาอยู่ที่ 53 ต่ำที่สุดในรอบ 18 เดือน สะท้อนทิศทางการชะลอตัวในภาคการผลิตในระยะข้างหน้า และดัชนีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ (Export Orders) ที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 50 และอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 20 เดือนที่ 48.2 ซึ่งเป็นผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์จากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

นอกจากนี้ ปัญหาชะงักงันของอุปทานโลกเริ่มส่งผลต่อภาคการผลิตของไทย สะท้อนจากมูลค่าส่งออกรถยนต์ที่หดตัวลงกว่า 11% และอาจมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นในระยะต่อไปจากการใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโอมิครอนที่เข้มงวดของจีน ซึ่งเป็นผู้เล่นสำคัญในห่วงโซ่อุปทานโลกในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ EIC คาดว่าการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบมากขึ้นเป็นลำดับ

สะท้อนจากข้อมูลการส่งออก 20 วันแรกของเดือนเมษายนของเกาหลีใต้ที่ยังทรงตัวและอาจมีแนวโน้มชะลอตัวลง หากจีนยังคงดำเนินมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดต่อไป และการส่งออกไปตลาดฮ่องกงที่หดตัวลงจากการกลับมาใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้นในช่วงก่อนหน้า

ทั้งนี้ การส่งออกไปยุโรปยังขยายตัวได้แต่มีแนวโน้มชะลอลง โดยถึงแม้ว่าตัวเลขการส่งออกไปรัสเซียและยูเครนจะลดลงเป็นอย่างมากที่ 73% และ 77.8% ตามลำดับ รวมถึงดัชนี Manufacturing PMI ของรัสเซียในเดือนมีนาคม

จะลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 1 ปีที่ 44.1 แต่ตลาดรัสเซียและยูเครนยังนับว่าเป็นตลาดส่งออกขนาดเล็กของไทย คิดเป็นเพียง 0.43% ของการส่งออกทั้งหมด (ข้อมูลปี 2021) ทำให้ผลกระทบต่อการค้าไทยยังคงค่อนข้างจำกัด ในขณะที่การส่งออกไปยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยที่มีสัดส่วนมูลค่าคิดเป็น 9.3% ยังขยายตัวได้ดีแม้จะชะลอตัวลงที่ 8% สอดคล้องกับดัชนี Manufacturing PMI ของยุโรปที่ถึงแม้ว่าจะลดตัวลงมาจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยที่ 54 แต่ก็ยังยืนเหนือระดับ 50 ได้ เป็นระยะเวลา 21 เดือนติดต่อกัน โดยหากภาวะสงครามในยูเครนยังคงยืดเยื้อ

และส่งผลถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะยุโรป อาจส่งผลให้ส่งออกไทยในระยะข้างหน้ามีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดยุโรปสูง อย่างไรก็ตาม ส่งออกไทยในบางกลุ่มสินค้าอาจได้รับอานิสงส์จากการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ทำให้มีโอกาสเข้าไปทำตลาดในยุโรปได้มากขึ้น เช่น ยางสังเคราะห์ ไม้อัด ปลาแช่แข็ง ฟอสฟิเนต รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับคาร์โบไฮเดรตที่อาจนำมาทดแทนข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโพดของรัสเซียและยูเครน เป็นต้น

ในระยะถัดไปการส่งออกไปจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดและผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดยตัวเลขการส่งออกจากไทยไปยังประเทศจีนขยายตัวในอัตราชะลอลงมากจากปีที่แล้วที่ 3.2% ในเดือนมีนาคม สอดคล้องกับตัวเลขการนำเข้าโดยรวมของจีนที่ชะลอลง ดัชนี Manufacturing PMI ของจีนในที่ลดลงจาก 50.4 ในเดือนกุมภาพันธ์เหลือ 48.1 ในเดือนมีนาคม และข้อมูลเร็วที่แสดงถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ EIC ได้ปรับประมาณการส่งออกของไทยในปี 2022 เพิ่มขึ้นเป็น 6.1% จากเดิม 3.4% (ตัวเลขในระบบดุลการชำระเงิน) แต่การขยายตัวเป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นตามต้นทุนโดยเฉพาะในหมวดพลังงานเป็นหลักและมากกว่าการเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ ซึ่งสอดคล้องกับการปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกโดยหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึง EIC และดัชนีราคาสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เงินบาทที่อ่อนค่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนรายได้ของผู้ส่งออกไทยและอาจช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งนับตั้งแต่เกิดสงครามเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค โดย EIC คาดเงินบาทในระยะสั้นจะเผชิญแรงกดดันจากความต้องการถือสินทรัพย์เสี่ยงที่ลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้น และการขึ้นดอกเบี้ยของหลายเศรษฐกิจสำคัญทั่วโลก ก่อนจะกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ภาคส่งออกไทยจึงจะได้รับประโยชน์จากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด ซึ่งจะแปรเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจส่งออกไทย อย่างไรก็ตาม คาดว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวในอัตราที่เร่งตัวกว่ามากที่ 13.2%