ด่วน ! ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องฟื้นฟูกิจการ “สินมั่นคง”

สินมั่นคง

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องฟื้นฟูกิจการ “สินมั่นคงประกันภัย” กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ 15 สิงหาคม 2565

วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 นายเรืองเดช ดุษฎีสุรพจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ตามที่บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565

ต่อมาในวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทแล้ว โคยศาลล้มละลายกลางได้กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 บริษัทจะแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของบริษัท รวมถึงความคืบหน้าอื่นเพิ่มเติมต่อไป

ทั้งนี้ ในปี 2564 บริษัทได้รับประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบ และแบบ 2 in 1 รวมประมาณ 2 ล้านกรมธรรม์ โดยมีเบี้ยรับจากประกันภัยรวมจำนวน 661 ล้านบาท ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาบริษัทได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถในการดูแลผู้เอาประกันและจ่ายสินไหมโควิดให้กับผู้เอาประกันที่ติดเชื้อ COVID-19 ไปแล้วเป็นเงินจำนวน 11,875 ล้านบาท โดยนำเงินจากกำไรสะสมทั้งหมดมาจ่ายชำระสินไหม COVID-19

อย่างไรก็ตาม จากการระบาดของ COVID-19 ในวงกว้าง และการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว แต่อาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการ ส่งผลให้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นมามีจำนวนผู้เอาประกันมายื่นเคลมสินไหมโควิดเป็นจำนวนมาก

ทำให้มีจำนวนเคลมสินไหม COVID-19 คงค้างอีกประมาณ 350,000 รายการ คิดเป็นค่าสินไหมประมาณ 30,000 ล้านบาท เมื่อนับรวมสินไหม COVID-19 ที่จ่ายไปแล้วทั้งหมดจะเท่ากับ 41,875 ล้านบาท คิดเป็นการจ่ายสินไหมที่สูงถึง 63 เท่าของเบี้ยประกันภัยรับ หรือ 6,300% และสูงกว่าการจ่ายสินไหมประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ COVID-19 ถึงเกือบ 100 เท่า

ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขภาระค่าสินไหม COVID-19 ที่มีจำนวนมาก โดยการสรรหานักลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถทางการเงินในการชำระค่าสินไหม COVID-19 ซึ่งแม้ว่าจะมีนักลงทุนให้ความสนใจในธุรกิจหลักของบริษัท เนื่องจากมีผลประกอบการที่ดีต่อเนื่องมาโดยตลอดก็ตาม แต่สินไหม COVID-19 ที่ปัจจุบันสูงกว่า 41,875 ล้านบาท เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นักลงทุนชะลอการตัดสินใจลงทุน

บริษัทมุ่งมั่นและพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาและหาทางออกตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา โดยกระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นเพียงทางออกเดียวที่เหมาะสมที่สุดที่จะแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ได้