สินมั่นคงประกันภัยขอเข้าฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย รายแรกในประวัติศาสตร์

“สินมั่นคงประกันภัย” ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง พร้อมแนวทางฟื้นฟูกิจการ 3 ข้อ 

วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือถึง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ใจความสำคัญระบุว่า

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอความยินยอมในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 ซึ่งกำหนดรายละเอียดในกรณีการขอความยินยอมยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทประกันวินาศภัย

ต่อมา คณะกรรมการของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบให้บริษัทยื่นขอความยินยอมเพื่อยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ฟื้นฟูกิจการต่อสำนักงาน คปภ. บรริษัทจึงได้ยื่นคำขอความยินยอมเพื่อยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ฟื้นฟูกิจการต่อสำนักงาน คปภ. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 นั้น

ภายหลังจากที่สำนักงาน คปภ. ได้พิจารณาคำขอดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 สำนักงาน คปภ. จึงได้ให้ความยินยอมเป็นหนังสือต่อบริษัทให้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดยบริษัทต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทต่อศาลล้มละลายกลางภายใน 5 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว

ในการนี้ บริษัทขอเรียนให้ทราบว่า ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว โดยบริษัทขอชี้แจงสาระสำคัญของคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ดังนี้

1.บริษัทในฐานะลูกหนี้ เป็นผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง

2.บริษัทเสนอบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน

  1. แนวทางของแผนฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น ได้แก่

3.1 การหาแหล่งเงินทุนใหม่และปรับโครงสร้างทุน โดยเฉพาะการเพิ่มทุนเพื่อระดมเงินจากผู้ร่วมทุนใหม่ เพื่อนำมาใช้ในการชำระหนี้ และ/หรือ เพื่อปรับโครงสร้างทุนให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

3.2 การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระหนี้ ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ เสนอชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เป็นทุน

3.3 การศึกษาและจัดเตรียมแผนและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจประกันภัยให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ การฟื้นฟูกิจการเป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาภาระหนี้ค่าสินไหมทดแทนของผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วยวิธีการที่มีกฎหมายรองรับและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยบริษัทจะดำเนินธุรกิจตามปกติอย่างต่อเนื่องในระหว่างที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

รวมถึงการให้ความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยต่าง ๆ เช่น ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจและภาคบังคับ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยเบ็ดเตล็ด และประกันขนส่งทางทะเล

โดยบริษัทจะดูแลและชำระค่าสินไหมทดแทนตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ และชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจตามทางการค้าปกติ

บริษัทจะแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของบริษัท รวมถึงความคืบหน้าอื่นเพิ่มเติมต่อไป

หนี้สินพุ่งเฉียดหมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทสินมั่นคงประกันภัยถือเป็นหนึ่งในบริษัทประกันที่ได้รับผลกระทบจากการขายกรมธรรม์โควิด “เจอ-จ่าย-จบ” จนทำให้สถานะการเงินของบริษัทมีปัญหา ทำให้ที่ผ่านมาบริษัทได้ยื่นขอเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือของ คปภ. ในการลดภาระการดำรงเงินกองทุนของบริษัทประกันภัยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อให้บริษัทถือเงินสดในมือได้มากขึ้น

โดยที่ผ่านมาสินมั่นคงฯได้มีความพยายามในการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับนักลงทุนในวงจำกัด แต่เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นยังไม่สิ้นสุด ทำให้ผู้ลงทุนใหม่ขอยุติการเจรจา

ขณะที่ผลประกอบการบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ณ สิ้นปี 2564 พบว่าขาดทุนสุทธิ 4,753 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่มีกำไร 757 ล้านบาท สาเหตุหลักจากการประสบผลขาดทุนของกรมธรรม์ประกันภัยโควิดสูงถึง 7,632 ล้านบาท โดยต้องจ่ายค่าสินไหมโควิดรวม 8,141 ล้านบาท

ส่งผลให้อัตราค่าสินไหมรวม (Loss Ratio) เพิ่มขึ้นเป็น 135.4% จาก 62.8% ในปี 2563 และมีหนี้สินรวม 9,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.18% ขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง 68.17% จาก 6,901.23 ล้านบาท ในปี 2563 เหลือแค่ 2,196 ล้านบาท

เปิดช่องประกัน “ฟื้นฟูกิจการ”

แหล่งข่าวจากสำนักงาน คปภ.กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ได้ลงนามออกประกาศ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขอความยินยอมในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2565 โดยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ได้กำหนดให้บริษัทประกันภัยซึ่งเป็นหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว

หรือไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้รวมกันไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ฟื้นฟูกิจการได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากกรมการประกันภัย แต่เนื่องจากกรมการประกันภัยถูกยุบเลิกไป ตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550 ดังนั้นต้องได้รับความยินยอมจาก คปภ.

ทั้งนี้ บริษัทที่จะยื่นขอฟื้นฟูกิจการต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขคือ 1.หนี้สินล้นพ้นตัวและเป็นหนี้เจ้าหนี้เดียวหรือรวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม 2.มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางจะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

3.ไม่มีคำสั่งศาลพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด 4.ต้องไม่ถูกศาลหรือนายทะเบียนสั่งให้เลิกหรือเพิกถอนทะเบียนนิติบุคคล 5.ต้องไม่เคยถูกศาลล้มละลายยกคำร้องขอยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนที่ยื่นคำร้องขอ และ 6.มีแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

โดยการทำแผนฟื้นฟูกิจการ ประกอบด้วย 1.รายชื่อและคุณสมบัติของผู้ทำแผนและผู้บริหารแผน 2.หนังสือยินยอมของผู้ทำแผนและผู้บริหารแผน 3.แนวทางในการบริหารสภาพคล่อง 4.แหล่งที่มาของสภาพคล่องในช่วงที่ดำเนินการฟื้นฟู 5.ระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นฟู

6.กลไกในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยและประชาชน 7.การจัดหาเงินทุนเพิ่มเติม 8.แนวทางในการแก้ไขปัญหาของลูกหนี้และการกลับมาดำเนินธุรกิจในอนาคต และ 9.ความเป็นไปได้ในการชำระหนี้

การออกประกาศฉบับนี้ คปภ.ต้องจัดการให้มีระเบียบรองรับเหมือนกับที่ ธปท.และ ก.ล.ต.มี เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย เพราะก่อนหน้านี้สินมั่นคงฯมีแผนจะยื่นขอฟื้นฟูกิจการมาแล้วรอบหนึ่งและได้ถอนออกไป หลังมีผู้สนใจร่วมทุน แต่เมื่อผู้ร่วมทุนขอชะลอดูเคลมสินไหมโควิดไปก่อนหลังสิ้นเดือน เม.ย. 65 ก็มีกระแสว่าจะมาขอยื่นขอฟื้นฟูกิจการอีกครั้ง” แหล่งข่าว คปภ.กล่าว

ศาลคุ้มครอง “พักชำระหนี้”

แหล่งข่าวเผยว่า หนี้ส่วนใหญ่ของสินมั่นคงฯเป็นหนี้เคลมประกันภัยโควิดของลูกค้ารายย่อย ปัญหาตอนนี้คือเงินกองทุนขาด แม้ คปภ.จะยืดหยุ่นเกณฑ์คำนวณเงินกองทุนล่าสุด แต่คงไม่พอต้องเพิ่มทุนเท่านั้น ฉะนั้นแนวทางยื่นขอฟื้นฟูกิจการน่าจะเป็นการดึงเวลามากกว่าอาจจะ 1-2 เดือน

หลังจากรู้ยอดหนี้จะพูดคุยกับนักลงทุนรายใหม่ได้ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม ธุรกิจประกันภัยถ้าทำแผนฟื้นฟูแม้จะดำเนินธุรกิจได้ แต่ผู้บริโภคอาจขาดความเชื่อถือ กังวลว่าซื้อประกันแล้วเกิดเหตุอาจไม่มีเงินจ่าย

ทั้งนี้ หากศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้ว ก็จะทำให้บริษัทได้รับความคุ้มครองอยู่ใน “สภาวะพักชำระหนี้” (Automatic Stay) จะทำให้ไม่ถูกเจ้าหนี้ฟ้องคดีแพ่ง/ล้มละลาย รวมถึงไม่ถูกหน่วยงานของรัฐเพิกถอนใบอนุญาต