“ฟื้นฟูกิจการ” แตกต่างจาก “ล้มละลาย” อย่างไร

เปรียบเทียบความแตกต่างของ “การฟื้นฟูกิจการ” กับ  “การล้มละลาย” เหมือนกันหรือไม่อย่างไร

ในช่วงเช้าที่ผ่านมา บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือถึง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) พร้อมแนวทางฟื้นฟูกิจการ 3 ข้อ คือ
  • การหาแหล่งเงินทุนใหม่และปรับโครงสร้างทุน โดยเฉพาะการเพิ่มทุนเพื่อระดมเงินจากผู้ร่วมทุนใหม่ เพื่อนำมาใช้ในการชำระหนี้ และ/หรือ เพื่อปรับโครงสร้างทุนให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
  • การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระหนี้ ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ เสนอชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เป็นทุน
  • การศึกษาและจัดเตรียมแผนและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจประกันภัยให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ การฟื้นฟูกิจการเป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาภาระหนี้ค่าสินไหมทดแทนของผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิด ด้วยวิธีการที่มีกฎหมายรองรับและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

การฟื้นฟูกิจการ คืออะไร

ตามกฎหมายการฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้/ลูกหนี้ ปี 2541 ระบุว่าผู้ที่มีสิทธิในการขอฟื้นฟูกิจการได้นั้นจะต้องเข้าเงื่อนไข ดังนี้

  • ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
  • ลูกหนี้เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนหรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
  • จำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
  • ลูกหนี้มีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการและมีเหตุอันสมควร (ต้องไม่ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด)
  • ยื่นคำขอโดยสุจริต

หากผลของคำสั่งศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้จะได้รับสภาวะพักการชำระหนี้ (Automatic Stay) ในกรณีศาลเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการผู้บริหารแผนจะดำเนินการตามแผนระยะเวลาตามแผน 5 ปีขอขยายได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี

กรณีศาลเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้บริหารแผนจะดำเนินการตามแผนระยะเวลาตามแผน 5 ปี ขอขยายได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี

การล้มละลาย คืออะไร

“คดีล้มละลาย” คือ คดีที่เกิดจากการที่บุคคลมีหนี้สินมากเสียจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ และเพื่อหาวิธีการที่ทำให้บุคคลดังกล่าวหลุดพ้นจากหนี้นั้น วัตถุประสงค์ของกฎหมายล้มละลายจึงมีอยู่ 2 ประการ

  • การทำให้เจ้าหนี้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมในการจัดสรรแบ่งปันทรัพย์สินของลูกหนี้
  • การทำให้ลูกหนี้ที่สุจริตได้รับโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่

“การล้มละลาย” คือ การที่กิจการหรือลูกหนี้ มีหนี้สินล้นพ้นตัว (หนี้บุคคลธรรมดาไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท หนี้นิติบุคคลไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท) เมื่อลูกหนี้ถูกฟ้องคดี ศาลจะทำการพิจารณาสืบพยานหลักฐานว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริงตามคำฟ้องหรือไม่ หากว่าจริง ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้

“คำสั่งพิทักษ์เด็ดขาด” คือ การที่ศาลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ควบคุมกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ กล่าวคือ ลูกหนี้ไม่สิทธิกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของตนได้เลย ยกเว้นแต่ทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาลหรือพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น

เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้แล้ว จะเข้าสู่คดีล้มละลาย ทั้งนี้ ศาลจะยังไม่มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายในทันที แต่จะส่งหมายแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ เพื่อให้ดำเนินการจัดการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้และดำเนินการแบ่งทรัพย์สินที่รวบรวมได้เพื่อจัดสรรให้กับบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายของลูกหนี้

ส่วนกรณีที่ลูกหนี้มีหนี้สินมากจนไม่เพียงพอจะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องติดตามทรัพย์อื่นมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ส่วนที่เหลือต่อไป

สาเหตุเป็นบุคคลล้มละลาย

บุคคลล้มละลายนั้น สาเหตุมาจากการที่เรามีหนี้สินมากจนไม่สามารถชำระเงินคืนเจ้าหนี้ได้ จึงถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย สาเหตุของการเป็นบุคคลล้มละลาย มีดังต่อไปนี้

  • กรณีเป็นบุคคลธรรมดา มีหนี้สินมากกว่า 1 ล้านบาท
  • กรณีเป็นนิติบุคคล มีหนี้สินมากกว่า 2 ล้านบาท
  • กรณีเป็นผู้ที่มีแนวโน้ม มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือ ไม่มีความสามารถที่จะชำระหนี้ได้

บุคคลล้มละลายกระทบต่อชีวิตอย่างไร

  • ไม่สามารถทำนิติกรรมใด ๆ ได้ทั้งสิ้น รวมไปถึงธุรกรรมการเงินต่าง ๆ เช่น การเปิดบัญชีธนาคาร การโอนเงิน การถอนเงิน เป็นต้น
  • ไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงไม่สามารถรับราชการ หรือถ้ากรณีรับราชการอยู่แล้วก็จะต้องออกจากราชการ หรือกรณีที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชนก็จะต้องออกจากงาน ในกรณีที่บริษัทนั้นกำหนดว่าพนักงานของตนต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
  • ไม่สามารถดำรงตำแหน่งในบริษัท หากมีความจำเป็นจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อนจึงจะดำรงตำแหน่งได้
  • ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ หรือหากมีความจำเป็นจริง ๆ จะต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อน โดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าจะเดินทางไปที่ไหน กี่วัน และบุคคลที่สามารถติดต่อได้ในขณะที่อยู่ต่างประเทศ อย่างไรก็ดี การอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

ฟื้นฟูกิจการ-ล้มละลาย ต่างกันอย่างไร

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ระบุว่า การฟื้นฟูกิจการไม่ใช่การล้มละลายหรือการที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์

สิ่งที่ทำให้เข้าใจว่า การฟื้นฟูกิจการ คือ การล้มละลาย คงเป็นเพราะบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการ กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย จึงอาจทำให้เข้าใจว่า การยื่นขอฟื้นฟูกิจการ คือ การยื่นขอล้มละลาย

ตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา คำว่า Chapter 11 การฟื้นฟูกิจการ ก็บัญญัติไว้ในกฎหมาย ล้มละลายเช่นเดียวกัน ดังนั้น การฟื้นฟูกิจการกับการล้มละลาย เป็นถนนคนละเส้นคนละสายอย่างแน่นอน

การฟื้นฟูกิจการถือเป็นการรักษาให้กิจการยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ ซึ่งผู้ยื่นขอให้มีการฟื้นฟูกิจการต้องการรักษาความเป็นกิจการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง (going concern) จะเปิดโอกาสให้มีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างเจ้าหนี้ ทั้งเจ้าหนี้ภายในและต่างประเทศ

เพราะสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ จะเปิดโอกาสให้มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน และแผนธุรกิจ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยอาจมีผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอกบริษัทมาร่วมดำเนินการ

สำหรับการล้มละลายหรือการถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น จะไม่ได้เป็นการทำให้ธุรกิจดำเนินการได้ต่อเนื่อง แต่เป็นการมุ่งไปสู่กระบวนการค้นหาและรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อนำมาแบ่งให้กับเจ้าหนี้ ด้วยการยึดหรืออายัดและนำมาขายทอดตลาด

ในขณะที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี จะเป็นผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่จัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

การฟื้นฟูกิจการ เกิดขึ้นได้อย่างไร

การฟื้นฟูกิจการจะเกิดขึ้นได้ เมื่อมีการยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการไปยังศาลล้มละลายกลาง คือ กฎหมายกำหนดให้ทั้งเจ้าหนี้หรือลูกหนี้สามารถยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ เมื่อเข้าเงื่อนไขดังนี้ คือ

  1. ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือลูกหนี้ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้ (inability to pay)
  2. เป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ในกรณีของธุรกิจขนาดใหญ่หรือในกรณีที่เป็นธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (SMEs) คือลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท ลูกหนี้ที่เป็นคณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท หรือลูกหนี้ที่เป็นบริษัทจำกัดไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 10 ล้านบาท
  3. หนี้จำนวนการฟื้นฟูกิจการกับการล้มละลาย – ถนนคนละเส้นคนละสายแน่นอนดังกล่าว จะถึงกำหนดชำระในทันทีหรือในอนาคตก็ได้
  4. มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

ดังนั้น การยื่นขอฟื้นฟูกิจการของไทยตามที่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงในปี 2559 ถือเป็นการเปิดโอกาสให้มีการเข้าไปฟื้นฟูกิจการเพื่อรักษาความอยู่รอดของธุรกิจได้เร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม คือ เมื่อพบว่าลูกหนี้ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้

เช่น ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด และเมื่อได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้ หรือลูกหนี้มีกระแสเงินสดไม่พอชำระหนี้ เป็นต้น เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ก็สามารถยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลได้ โดยไม่ต้องรอจนถึงกรณีที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแบบเดิม

หลักการที่แก้ไขปรับปรุงใหม่นี้ถือว่าสอดคล้องกับหลักสากล จึงเป็นการเปิดโอกาสเป็นครั้งแรกให้ธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (SMEs) สามารถยื่นขอฟื้นฟูกิจการได้เช่นเดียวกับบริษัทขนาดใหญ่ อันเป็นการช่วยรักษาธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (SMEs) ไม่ให้ถูกฟ้องล้มละลายแบบเดิม

ที่สำคัญ จะช่วยรักษาการจ้างแรงงานของธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (SMEs) ที่มีการจ้างแรงงานกว่า 12 ล้านราย และในปี 2561 ได้ปรับปรุงการยื่นขอฟื้นฟูกิจการบริษัทขนาดใหญ่ โดยเพิ่มเงื่อนไขในการยื่นขอฟื้นฟูกิจการให้มีกรณีไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดได้เงื่อนไขของการพิจารณาให้มีการฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่

นอกจากการมีหนี้สินจำนวนแน่นอนแล้ว เงื่อนไขที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ต้องมีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้

กระบวนการหลังศาลรับคำขอฟื้นฟูกิจการ

เมื่อศาลสั่งรับคำขอฟื้นฟูกิจการ สภาวะการพักการชำระหนี้หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Automatic stay เกิดขึ้นทันทีนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการสำเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด

สภาวะการพักการชำระหนี้นี้เอง ที่เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้และเป็นจุดแข็ง ทั้งนี้ เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินการไปต่อได้และดูแลสภาพคล่อง (liquidity) ของธุรกิจ โดยไม่ต้องกังวลว่าธุรกิจหรือกิจการจะถูกเรียกให้ชำระหนี้หรือถูกฟ้องร้อง สภาวะการพักการชำระหนี้

หากกล่าวให้เห็นภาพ เสมือนหนึ่งธุรกิจหรือกิจการจะอยู่ภายใต้ร่มคันใหญ่ที่จะป้องกันการถูกฟ้องร้อง ถูกบังคับคดี ถูกบังคับชำระหนี้ ถูกงดให้บริการสาธารณูปโภคต่าง ๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ประโยชน์ข้างต้นที่ลูกหนี้จะได้รับ ต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ใช้สิทธิโดยสุจริต ไม่ได้อาศัยการพักชำระหนี้เป็นเหตุของการประวิงคดี ดังสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “ผู้ที่มาพึ่งศาล จะต้องมาศาลด้วยมือสะอาด” (He who comes to equity must come with clean hands)

สำหรับหน้าที่ของลูกหนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวมีอย่างไรนั้น กฎหมายก็ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าลูกหนี้ยังสามารถประกอบธุรกิจตามที่จำเป็นของธุรกิจเท่านั้น เพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินการต่อไปได้

ดังนั้น ลูกหนี้จะจำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผน คือใคร

ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผน เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและบริหารกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด

ผู้ทำแผน หมายถึง ผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยจะเป็นผู้ที่ศาลมีคำสั่งตั้งเพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและเมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว ให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ตกแก่ผู้ทำแผน ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผล

ผู้ทำแผนต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎกระทรวงว่าด้วยการจดทะเบียนและการกำหนดคุณสมบัติผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ โดยต้องมีประสบการณ์ในการรับจัดกิจการและทรัพย์สินของผู้อื่น มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

หรือที่ปรึกษาทางบัญชี หรือที่ปรึกษาทางกฎหมายผู้บริหารของนิติบุคคลต้องมีจริยธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานที่รัดกุมและเชื่อถือได้ ทั้งนี้ ลูกหนี้อาจขอเป็นผู้ทำแผนเองก็ได้

ในการเสนอผู้ทำแผน กฎหมายกำหนดให้ทั้งลูกหนี้หรือเจ้าหนี้สามารถเสนอผู้ทำแผนได้ ซึ่งหากศาลเห็นว่าผู้ที่เสนอเป็นผู้ทำแผนยังไม่สมควรเป็นผู้ทำแผน หรือมีการคัดค้าน ศาลจะสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดประชุมเจ้าหนี้โดยเร็ว เพื่อให้เจ้าหนี้ได้ลงมติในการเลือกผู้ทำแผน และเมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้เลือกผู้ทำแผนได้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องรายงานศาลทราบเพื่อพิจารณามีคำสั่งต่อไป

นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า หากยังไม่มีการตั้งผู้ทำแผน เมื่อศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ กฎหมายกำหนดให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของผู้บริหารของลูกหนี้สิ้นสุดลง และให้ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลใดหรือหลายคนหรือผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราว โดยมีอำนาจหน้าที่จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป

ทั้งนี้ ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จนกว่าจะมีการตั้งผู้ทำแผนผู้บริหารแผน หมายถึงผู้จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ กฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ทำนองเดียวกับผู้ทำแผน

เว้นแต่วัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจกำหนดให้เป็นที่ปรึกษาทางด้านการบริหารงานกฎหมาย กำหนดให้สิทธิและอำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนโอนไปยังผู้บริหารแผน ตั้งแต่วันที่ผู้บริหารแผนได้รับทราบคำสั่งศาลที่เห็นชอบกับแผนฟื้นฟูกิจการ

แผนฟื้นฟูกิจการที่เป็นความตกลงระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ เป็นแผนฟื้นฟูกิจการที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผน และศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว โดยกฎหมายกำหนดให้แผนฟื้นฟูกิจการมีรายละเอียดต่าง ๆ โดยเฉพาะหลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการ

อันประกอบด้วย ขั้นตอนของการฟื้นฟูกิจการ การชำระหนี้ การยืดกำหนดเวลาชำระหนี้ การลดจำนวนหนี้ลงและการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ การลดทุนและเพิ่มทุน การก่อหนี้และระดมเงินทุน แหล่งเงินทุนและเงื่อนไขแห่งหนี้สินและเงินทุน การจัดการและการหาประโยชน์จากทรัพย์สินของลูกหนี้ และเงื่อนไขการจ่ายเงินปันผลและประโยชน์อื่นใด รวมทั้งแนวทางแก้ปัญหาในกรณีขาดสภาพคล่องชั่วคราวระหว่างการปฏิบัติตามแผน

ใครได้รับประโยชน์

ทุกฝ่าย คือ การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เห็นว่า จะเป็น win-win ทั้งเจ้าหนี้ลูกหนี้ และผู้ถือหุ้น รวมทั้งสังคมด้วย เพราะยังสามารถรักษากิจการให้ดำเนินการได้ตามปกติอย่างต่อเนื่อง ลดความเสี่ยงต่อการถูกเลิกกิจการ และการถูกฟ้องล้มละลาย อันจะช่วยรักษาการจ้างงานและห่วงโซ่อุปทานต่าง ๆ ไว้ได้ ที่สำคัญ การฟื้นฟูกิจการจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้มากกว่าการล้มละลาย

นอกจากนี้ การฟื้นฟูกิจการจะเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถปรับโครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน และแผนการดำเนินธุรกิจด้วยสำหรับสิทธิของเจ้าหนี้ กฎหมายกำหนดให้สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ซึ่งต่างกับการล้มละลายที่เจ้าหนี้ทุกรายจะได้รับส่วนเฉลี่ยในการชำระหนี้เท่ากัน

ลูกหนี้จะกลับมาบริหารจัดการได้ไหม

การเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการเปรียบเสมือนคนไข้ที่มีอาการป่วยเข้ารับการรักษาตัวเพื่อดูแลรักษาให้หายจากการเจ็บป่วย โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ภายหลังจากนั้น เมื่อคนไข้หายป่วยและมีร่างกายที่แข็งแรงและทำอะไรได้ตามปกติ

ที่ผ่านมามีบริษัทหลายบริษัทที่เข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ และเมื่อการฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จ ก็กลับมาเป็นบริษัทที่มีความเข้มแข็งและมีการเติบโต ทำนอง “ฟ้าหลังฝน”

เมื่อศาลจะมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ในกรณีที่ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน ผู้บริหารของลูกหนี้จะกลับมามีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามเดิม และผู้ถือหุ้นของลูกหนี้กลับมีสิทธิตามกฎหมายต่อไป

การฟื้นฟูกิจการจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของธุรกิจที่ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง แต่มีเหตุผลความจำเป็นและมีช่องทางในการดำเนินธุรกิจต่อไป