สภาพัฒน์แนะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจผ่าน 4 มิติ

สภาพัฒน์ชี้ประเทศไทยภูมิคุ้มกันต่ำ แนะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ผ่าน 4 มิติ ไปสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูงขึ้น

วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “มองเศรษฐกิจโลก สะท้อนเศรษฐกิจไทย” ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยได้ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจผ่านการพัฒนาโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ “อีสเทิร์นซีบอร์ด” (ESB) ทำให้เศรษฐกิจเติบโตมาได้จนถึงปัจจุบัน

ดนุชา พิชยนันท์
ดนุชา พิชยนันท์

แต่ขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มขยายตัวช้าลง ซึ่งวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นเริ่มเห็นชัดว่าโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยยังไม่มีภูมิคุ้มกัน และภูมิต้านทานที่เพียงพอ และฟื้นตัวได้ช้า โดย 10 กว่าปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวค่อนข้างมาก และภาคการผลิตก็ยังอยู่ในรูปแบบเดิม

“จากมิติที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เกิดขึ้น เห็นได้ชัดเลยว่าไทยจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอีกครั้ง”

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยมีการกำหนดเรื่องที่จะต้องทำให้ได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อให้มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยการใช้การวิจัยและนวัตกรรมเข้ามาศึกษา

โดยแบ่งเป็น 4 มิติ ได้แก่ 1.การปรับโครงสร้างเพื่อการผลิต และด้านบริการ โดยใช้ฐานที่มีอยู่นำเอาเทคโนโลยี และการวิจัยเข้าไปช่วยศึกษา เพื่อให้มีสินค้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นและมีมูลค่ามากขึ้น 2.ลดความเหลื่อมล้ำของคน และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ทั้งเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนต้องเชื่อมกับบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อให้มีรายได้และการประกอบอาชีพที่เป็นธรรม และแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า

3.การดูแลสิ่งแวดล้อม มีการดูแลเรื่องภัยพิบัติ การบริหารจัดการน้ำ ให้สังคมตระหนักถึงแนวทางการพัฒนาที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในชุมชน วิสาหกิจ และเอสเอ็มอี และ 4.การปรับระบบการบริหารจัดการของภาครัฐ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มากขึ้น มีการปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับการเข้ามาทำงานในอนาคต

“ตอนนี้โลกไม่ปกติ ประชาชนต้องปรับตัวเยอะมาก ปีนี้มีปัญหาการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ฉะนั้น ระยะสั้น เราต้องมีการปรับตัวให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง ลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ เช่น ปุ๋ยเคมี ให้ใช้ปุ๋ยชีวภาพทดแทน เพื่อลดต้นทุน ส่วนอาหารสัตว์ ก็ต้องปรับมาใช้ปลายข้าวแทน เป็นต้น”