“อาคม” เล็งปรับโครงสร้างภาษี หลังโควิดทำต้นทุนรัฐบาลพุ่ง

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

รมว.คลัง เผยต้นทุนรัฐบาลพุ่ง หลังกู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท ดูแลโควิด เล็งปรับโครงสร้างภาษี สร้างรายได้-ลดภาระการคลัง หนุนให้เศรษฐกิจโตมั่นคง

วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “มองเศรษฐกิจโลก สะท้อนเศรษฐกิจไทย” ว่า

ในช่วงโควิดทุกประเทศได้ดำเนินนโยบายในลักษณะเดียวกันหมด โดยใช้ทั้งนโยบายการเงินและการคลัง ซึ่งในส่วนของไทยนั้น ในด้านนโยบายการเงินและการคลังก็สอดประสานกัน กล่าวคือ นโยบายการเงินก็จะดูแลในเรื่องของต้นทุนเงิน การพักชำระหนี้ เติมเงินใหม่ และ พักทรัพย์พักหนี้ ส่วนนโยบายการคลังก็จะต้องแบกรับต้นทุนที่จะเกิดขึ้น

“ในช่วง 2 ปี คนตกงาน โรงงานปิด ใครจะช่วย ก็ต้องรัฐบาล ถามว่า เงินเอามาจากไหนที่เอามาเยียวยา ก็เอามาจากการกู้เงิน ซึ่งถือเป็นต้นทุนของรัฐบาล ไม่มีใครมาแบกรับแทน เป็นการใช้เงินล่วงหน้า 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งต่างประเทศก็ให้ทิศทางว่า นโยบายการคลังต้องมีบทบาทในช่วงโควิด และ นโยบายการเงินคอยดูแลภาคธุรกิจ”

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังยังมีอีกต้นทุนหนึ่ง แม้ว่า จะเป็นมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ หรือ การเติมสินเชื่อใหม่ กรณีของแบงก์รัฐนั้น แม้จะอยู่ภายใต้กติกา ธปท.แต่จะมีข้อได้เปรียบแบงก์เอกชนว่า หากเกิดความเสียหายของหนี้ รัฐบาลจะมาแบกรับความเสียหายให้ 30-40% ฉะนั้น นี่ก็คือ ต้นทุน พร้อมกันนี้ ยังมีต้นทุนที่เกิดขึ้นจากมาตรการของกระทรวงการคลังผ่านการดำเนินมาตรการยกเว้นภาษี หรือ ลดหย่อนภาษีในช่วง 2 ปี ซึ่งแทนที่จะเป็นรายได้กลับมา แต่ก็ยกให้

นายอาคม กล่าวว่า เมื่อมีภาระที่เพิ่มขึ้นมาในช่วง 2 ปี ที่เกินกว่าปกติ สิ่งที่ดำเนินการต่อไป อันดับแรก คือ ต้องสร้างการเจริญเติบโต ที่บอกว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตช้า แต่ถ้าโตช้าแต่มั่นคง ก็จะเลือกแนวทางนี้ และการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อให้มีรายได้เข้ามาทดแทนภาระที่เกิดขึ้น

“ถามว่าการส่งเสริมมาตรการก็มีต้นทุน ต้นทุนที่เสียไปจะได้กลับมาจากไหน วันนี้ เราพูดถึงการคลังอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรา แต่เวทีในอาเซียน และ G20 ก็ได้พูดว่า เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งความยั่งยืนการคลังไม่ใช่รัฐจ่ายอย่างเดียว แต่รัฐต้องมีรายได้กลับมา ซึ่งจะต้องมาจากการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ หลายประเทศก็ทำกัน ประเทศในอาเซียนและเอเชีย ก็เริ่มมีการปรับภาษีเพื่อสร้างรายได้เข้ารัฐแล้ว”

ทั้งนี้ แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจในระยะถัดไปนั้น มี 3 เรื่อง ซึ่งมาตรการการคลังต้องเข้ามาส่งเสริมผ่านมาตรการทางภาษีและการสนับสนุนสินเชื่อ เรื่องแรก คือ ดิจิทัลเทคโนโลยี ในแผนพัฒนาเขียนไว้ชัดเจนว่า เกิดขึ้นเร็ว ซึ่งภาครัฐและเอกชนได้ปรับตัวแล้ว เรื่องสอง คือ การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดปล่อยก๊าซ CO2 เรื่องสาม คือ การสร้างความเข้มแข็งภาคสาธารณสุข