ธุรกิจ Healthcare ผู้ชนะบนสมรภูมิการเงินโลก

คอลัมน์ : สถานีลงทุน
ผู้เขียน :ศิวกร ทองหล่อ
ธนาคารทิสโก้

ความกังวลเศรษฐกิจโลกหดตัวแรง นับเป็นประเด็นร้อนนับตั้งแต่เกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เพราะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวมอันเนื่องมาจากการออกมาตรการด้านเศรษฐกิจตอบโต้กันไปมาระหว่างประเทศที่สนับสนุนท่าทีของแต่ละฝ่าย ทำให้ผู้คนกังวลว่าสินค้าที่มาจากประเทศคู่ขัดแย้งจะขาดแคลนและส่งผลให้ราคาสูงขึ้น

โดยเมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่ IMF, UN Comtrade และ BP รวบรวมไว้ในปี 2020 ระบุว่า ยูเครนเป็นผู้นำการส่งออกธัญพืชสัดส่วนราว 15% ของโลก กับรัสเซียที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ รวมกันเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นต่อทั้งภาคการเกษตรและภาคการผลิตโดยตรง เมื่อตลาดกังวลเรื่องสินค้าเหล่านี้ที่อาจเข้าสู่ตลาดโลกน้อยลง

ขณะที่ความต้องการเท่าเดิม ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดตามหลักเศรษฐศาสตร์ จึงส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกที่ติดตามเรื่องอัตราเงินเฟ้อสูงเป็นทุนเดิมจากประเด็นอุปทานขาดแคลนหลังภาวะโรคระบาดมาก่อนหน้านี้ ยิ่งต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่างแข็งกร้าวมากขึ้น

หากเราเชื่อว่า ตลาดให้ความสำคัญกับทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐ และเป็นตัวแปรกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ณ ตอนนี้ คณะกรรมการ Fed ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการควบคุมอัตราเงินเฟ้อเป็นอันดับแรก

ด้วยการรีบขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยข้อมูลจาก CME Fedwatch Tool คาดการณ์ว่า Fed จะมีการขึ้นดอกเบี้ยภายในปี 2022 ไปถึง 3-3.25% ซึ่งอาจเป็นอัตราการขึ้นดอกเบี้ยที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 34 ปี และครั้งนั้นจบลงด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 1990

เพราะถึงแม้การดำเนินการของ Fed มีเป้าหมายหลักสำคัญ คือการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็ส่งผลเสียต่อต้นทุนการกู้ยืม หรือราคาที่เหมาะสมของตลาดหุ้นอยู่ดี ดังนั้น ดูเหมือนว่าการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed อาจต้องยอมเสียสละให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงไปบ้าง เพื่อแลกกับภาวะเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลง

ซึ่งเศรษฐกิจที่ชะลอลง รวมถึงกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะลดลงจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อาจทำให้การลงทุนในกลุ่มหุ้นที่มีความสัมพันธ์กับวัฏจักรเศรษฐกิจ หรืออ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยสูงนั้นไม่ดีนัก ดังนั้น กลุ่มหุ้นในช่วงที่ Fed เร่งการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจต้องเพิ่มน้ำหนักลงทุนในกลุ่มหุ้นที่ไม่ผันผวนไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันสามารถหวังผลการเติบโตระยะยาวได้จากความต้องการที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตาม megatrends โลก เช่น กลุ่ม healthcare เป็นต้น

อย่างที่ทราบกันดีในหมู่นักลงทุนว่า กลุ่มหุ้น healthcare เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตอย่างสม่ำเสมอและไม่ผันผวนไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับกลุ่มหุ้นอื่น ๆ ในตลาด และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยงานศึกษาของ UN เมื่อสิ้นปี 2019 พบว่า

ผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) ในปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมากกว่าวัยอื่นราว 3 เท่า ยิ่งไปกว่านั้น สัดส่วนของผู้สูงอายุกำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่ง UN คาดว่าจะมีสัดส่วนถึง 1 ใน 6 ของประชากรโลกทั้งหมดภายในปี 2050 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าปัจจุบันเกือบเท่าตัว

และความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อต่อการประกอบธุรกิจ healthcare ต่ำกว่าธุรกิจอื่นเช่นกัน เนื่องด้วยหากพิจารณาดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์อย่างมาก และใช้ CPI เป็นตัวแทนของอัตราเงินเฟ้อ พบว่า 20 ปีที่ผ่านมา ราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3.65% ขณะที่เมื่อเทียบกับราคาสินค้าทุกชนิดในสหรัฐ

เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละ 2.24% หรือมีส่วนต่างมากกว่าถึง 50% เพราะสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพหรือทางการแพทย์ มีอำนาจกำหนดราคา (pricing power) ได้ดีกว่าสินค้าอื่น เนื่องด้วยเป็นสินค้าจำเป็นอย่างมาก และมีผลต่อชีวิตหากขาดสินค้าเหล่านี้ไป

นอกจากภาพรวมอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มสดใสในอีกหลาย 10 ปีข้างหน้า ในแง่ของการลงทุนในหุ้นกลุ่ม healthcare ช่วงวิกฤตที่เป็นตัวแทนภาวะเศรษฐกิจถดถอย ข้อมูลจาก Morgan Stanley ระบุว่า กำไรต่อหุ้นของกลุ่ม healthcare ทั่วโลก ใ

นช่วงวิกฤตปี 2008 ลดลงเพียง 1% เมื่อเทียบกับ MSCI World ลดลงถึง 40% และในด้าน valuation เมื่อเทียบกับดัชนี MSCI World กับ MSCI World Healthcare ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค. 2022 กองทุน MSCI World Healthcare Index ทำผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีได้ดีกว่า MSCI

World ที่ 1.84% ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นเริ่มกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณากลุ่ม healthcare ในตลาดหุ้นสหรัฐ ที่ Goldman Sachs สรุปข้อมูลไว้ พบว่าหากเปรียบเทียบ valuation ระหว่าง S&P500 กับกลุ่มหุ้น healthcare ที่อยู่ในดัชนี S&P500 ณ วันที่ 25 เม.ย. 2022 พบว่า กลุ่ม healthcare ยังมีระดับ relative PER ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 20 ปีย้อนหลังอีกราว 10% อีกด้วย

สรุปได้ว่า ในมุมมองการลงทุนหุ้นกลุ่ม healthcare ทั้งในภาพระยะสั้นที่ valuation เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโดยรวมยังมีมูลค่าถูกกว่า ซึ่งจะช่วยให้ลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนในภาวะที่ผู้คนกำลังกังวลเศรษฐกิจถดถอยจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ประกอบกับโอกาสการเติบโตระยะยาวในหลาย 10 ปีข้างหน้า


ด้วยโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปเป็นสังคมผู้สูงอายุ ทำให้สินค้าที่เกี่ยวกับการแพทย์จะมีความต้องการมากขึ้น และเป็นธุรกิจที่มีอำนาจการตั้งราคาได้สูง เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ๆ นับว่ามีความน่าสนใจอย่างมากในการลงทุนตอนนี้