ดร.สมประวิณ วิเคราะห์เศรษฐกิจไทย เงินเฟ้อสูงลากยาว-หนี้ครัวเรือนเบ่งบาน

สมประวิณ มันประเสริฐ
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ
สัมภาษณ์พิเศษ

ศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงมากขึ้น หลายฝ่ายเริ่มกังวลถึงการถดถอยของเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง ซึ่งนั่นหมายความถึงผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทยด้วย มองไปข้างหน้าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับอะไร และต้องปรับตัวอย่างไร

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ” รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ที่เพิ่งย้ายข้ามห้วยจากแบงก์กรุงศรี มารับตำแหน่งนี้เมื่อ 18 เม.ย.2565

3 ปัจจัยเสี่ยงที่ไทยต้องเผชิญ

“ดร.สมประวิณ” กล่าวว่า ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 1/2565 ที่ออกมาโต 2.2% ต่อปี ถือว่าดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยการเติบโตหลัก ๆ มาจากการบริโภคภายในประเทศ คนมีการเดินทาง เพราะเริ่มคุ้นเคยกับการระบาดของโควิด-19 แต่มองไปข้างหน้าปัจจัยเสี่ยงที่ไทยยังต้องเผชิญและมีความกังวลนั้น มีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน คือ

1.ปัญหาเงินเฟ้อที่มาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เศรษฐกิจโตดี แล้วเชื่อมโยงมาถึงไทยด้วย แต่ประเทศเหล่านี้สามารถถอนนโยบายกระตุ้นทั้งหลายได้ เพื่อไปกดดีมานด์ไม่ให้เงินเฟ้อสูง แต่ปัญหาที่ตามมา คือ เศรษฐกิจจะชะลอตัว ส่งผลต่อความเสี่ยงด้านที่

2.การค้าโลกจะชะลอตัวลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และ 3.สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจะกระทบฝั่งซัพพลาย เพราะสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ เป็นสินค้าที่มีซัพพลายเชนเชื่อมโยงกันหมด อาจจะเกิดการติดขัด โดยวันนี้ของยังขายได้ แต่อาจจะไม่มีของขาย ทำให้ปัญหาตรงนี้จะเป็นตัวจำกัดแรงขับเคลื่อนที่มาจากฝั่งการส่งออก

“เราคิดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะค่อยเป็นค่อยไป โดยแรงขับเคลื่อนส่งออกจะน้อยลง ตอนนี้ EIC เรายังประเมินจีดีพีทั้งปีโตที่ 2.7% อยู่ แต่กำลังพิจารณาอีกรอบ เพราะไส้ในจะเปลี่ยนไป ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งออกเป็นตัวนำ แต่ถ้ามองไปในอนาคต ส่งออกจะไม่ใช่ตัวนำแล้ว”

“ท่องเที่ยว-บริการ” ความหวัง ศก.ไทย

โดยธีมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ จะเป็นเรื่องของภาคบริการมากกว่า เพราะส่งออกจะชะลอลง อย่างไรก็ดี ในแง่ภาพรวมจีดีพีอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก เพราะตัวเลขส่งออกที่ชะลอจะหักล้างตัวเลขด้านการท่องเที่ยวที่จะดีขึ้น แต่เชื่อว่าคนไทยจะรู้สึกว่า เศรษฐกิจดีขึ้น เพราะเงินจะหมุนผ่านมือมากขึ้น เนื่องจากภาคบริการเป็นกลุ่มใช้แรงงานเข้มข้น และเกี่ยวข้องกับคนค่อนข้างมาก

“คนจะรู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ดีกว่าตอนส่งออกดี เพราะประมาณ 70% ของการส่งออก จะเป็นบริษัทข้ามชาติ ทำให้คนไม่ได้รู้สึกว่าเศรษฐกิจดี ดังนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะโยกจากภาคส่งออกมาเป็นภาคบริการ ผมเชื่อว่าท่องเที่ยวยังมีโอกาสเยอะ

แต่เราก็ต้องปรับวิธี ไม่เน้นจำนวน แต่ต้องเข้ามาแล้วอยู่ยาวหน่อย และใช้เงินเยอะหน่อย อย่างถ้ามา 5 ล้านคน เราต้องการให้เขาจ่ายมากกว่าเดิม 2 เท่า ซึ่งตรงนี้จะเป็นโอกาส และผมว่าเป็นไปได้ เพราะเขาก็อัดอั้นกัน และแนวโน้มที่เห็นก็ดีขึ้น ตอนนี้ฝรั่งจองโรงแรมเต็มเลย”

ขณะเดียวกัน โอกาสเศรษฐกิจประเทศหลัก เช่น สหรัฐและยุโรป มีโอกาสจะเข้าสู่ภาวะถดถอยแน่นอน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเมื่อไหร่ โดยมองความเป็นไปได้น่าจะเป็นปี 2566 ซึ่งไม่ต้องกังวลว่าจะไม่เกิดขึ้น เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอยู่แล้ว

เงินเฟ้อลากยาวข้ามปี-ค่าครองชีพพุ่ง

โจทย์ใหญ่ที่คนไทยยังต้องเจอหลังจากนี้ และต้องเตรียมรับมือ จะเป็นเรื่องของเงินเฟ้อที่จะลากยาวไปถึงปีหน้า เพราะรายได้คนเพิ่มขึ้นน้อยกว่าเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี เชื่อว่าตั้งแต่ปลายปีจะเริ่มเห็นการชะลอตัวของเงินเฟ้อบ้าง แต่คนยังรู้สึกว่าของแพง

เพราะรายได้โตน้อยกว่า ซึ่งเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตลอดทั้งปี เนื่องจากเงินเฟ้อมาจากฝั่งซัพพลาย หากขึ้นดอกเบี้ยจะไปสกัดอำนาจซื้อที่น้อยอยู่แล้ว เหมือนการซ้ำเติม ทำให้การฟื้นตัวทำไม่ได้

“ผมเชื่อว่า ธปท.จะคงดอกเบี้ยตลอดทั้งปีนี้ เพราะไตรมาสสุดท้ายจะเริ่มเห็นเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เงินเฟ้อชะลอ เมื่อถึงตอนนั้นโทนเปลี่ยนและไม่ควรขึ้นดอกเบี้ยแล้ว เพราะสิ่งกังวลในการทำนโยบายการเงิน คือ

1.การตอบสนองต่อการคาดการณ์ หรือเรียกว่า เงินเฟ้อฝังลึก (wage price spiral) ซึ่งวันนี้ inflation expectation ยังยึดเหนี่ยว และระยะยาวคาดว่าจะลง จึงไม่จำเป็นต้องตอบสนองด้วยดอกเบี้ย และ 2.ดอกเบี้ยจะใช้สกัดถ้ามีฟองสบู่ แต่ตอนนี้ไทยไม่มีสัญญาณฟองสบู่ จึงไม่มีเหตุให้ขึ้นดอกเบี้ย”

ห่วงคนไทยติดหล่มหนี้ครัวเรือน

ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือน นับเป็นโจทย์ที่ยาก โดยระดับหนี้ที่สูง อาจจะไม่ใช่ปัญหา แต่ที่สำคัญองค์ประกอบของการก่อหนี้สำคัญที่สุด เพราะหากดูโครงสร้างหนี้ของคนไทย ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้เพื่อการบริโภค ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งการแก้ปัญหาคงไม่ใช่แค่ลดหนี้อย่างเดียว แต่ต้องเพิ่มรายได้ด้วย

“ปัญหาเรื่องหนี้ไม่ใช่ปริมาณอย่างเดียวว่าอยู่ที่ 90% แต่เป็นเรื่องขององค์ประกอบไส้ในด้วย ซึ่งเกี่ยวโยงกับแนวทางการแก้ไข ดังนั้น จึงไม่ใช่แก้ด้วยการแค่ลดหนี้อย่างเดียว แต่ต้องเพิ่มรายได้ คุณมีหนี้ได้ แต่ก็ต้องมีรายได้ ทั้งนี้ รายได้อาจเกิดจากการก่อหนี้ใหม่ก็ได้ แต่ต้องก่อหนี้ให้ถูก คือ ก่อหนี้เพื่อทำให้มีรายได้เพิ่ม เช่น ไปสร้างโรงงาน เป็นต้น”

ทั้งนี้ ต้องสร้างโอกาสให้คนมีโอกาสในการหารายได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะต้องไปแก้ในระดับชุมชน

“เรื่องหนี้ก็น่ากังวล คือ ถ้าเศรษฐกิจค่อย ๆ โตไปก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเราดันเจออะไรเหมือนโควิดมาอีก คนที่เป็นหนี้อยู่แล้ว จะก่อได้อีกแค่ไหน ผมว่ามันยาก คือ วันนั้นหนี้อาจจะพุ่งขึ้นไปอีก รายได้ก็จะยิ่งลดลง ความสามารถในการชำระก็ยิ่งลดลง ตรงนี้เป็นปัญหาระดับชาติที่จะต้องแก้ไข”

รัฐต้องอุดหนุนอย่าง “ถูกจุด”

โดยการทำนโยบายด้านเศรษฐกิจตอนนี้ ภาครัฐก็พยายามแก้โจทย์เรื่องค่าครองชีพ ซึ่งการจ่ายเงินอุดหนุนยังจำเป็นอยู่ แต่จะต้องทำให้ตรงจุด ในกลุ่มที่รายได้เปราะบาง หรือกลุ่มที่รายได้น้อยและยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด ซึ่งที่ผ่านมา การทำนโยบายค่อนข้างยาก เนื่องจากไม่มีประวัติ

ข้อมูลเรื่องรายได้ของประชาชนชัดเจน ทำให้การช่วยเหลือ จึงไม่รู้จะช่วยใคร ดังนั้น ระยะยาว ภาครัฐจะต้องทำระบบที่สามารถแยกแยะ และมีฐานข้อมูลรายได้ของประชาชน

“ต้องยอมรับว่าการทำนโยบายยากขึ้น ถ้าช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ไม่มีเงินเฟ้อ จะทำง่าย คือ กระตุ้นอย่างเดียว แต่วันนี้กระตุ้น ก็กลัวเงินเฟ้อ จะสกัดเงินเฟ้อก็กลัวเศรษฐกิจแย่ คือ การใช้มาตรการมหภาค แก้ปัญหามหภาค ทำได้ยากขึ้น แต่สิ่งที่ไทยต้องลองทำดู คือ การทำนโยบายมหภาค แต่ใช้เครื่องมือในระดับไมโครมากขึ้น คือต้องโฟกัสกลุ่มเป้าหมาย และทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างคนละครึ่ง ก็ต้อง tailor made”