เสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน กู้แบบตั๋วสัญญาใช้เงิน ดีเซลจ่อขึ้นอีก 1 บาท

ใกล้เส้นตายกองทุนน้ำมันฯ ดิ้นปรับแผนขอกู้แบงก์รัฐหวังต่ออายุสภาพคล่องวงเงิน 20,000 ล้านบาท หันใช้ “ตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N)” ยอมเสียดอกเบี้ยสูง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับธนาคารได้ปิดความเสี่ยง พร้อมชำระเงินกู้ในตั๋วเป็นงวด ๆ ตามความสามารถของกองทุน ลั่นจะใช้เงินเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่ระหว่างรอเงินกู้จะ “อั้น” ดีเซลไว้ที่ลิตรละ 32 บาทไม่ไหว จับตาสัปดาห์หน้าปรับขึ้นราคาดีเซลอีกลิตรละ 1 บาทเป็น 33 บาท เพื่อลดภาระกองทุนติดลบเฉียด 80,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว

สิ้นเดือนพฤษภาคมกำลังจะผ่านไป โดยที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังไม่สามารถหาเงินกู้วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อเข้ามา “ต่ออายุ” สภาพคล่องของกองทุนที่กำลังย่ำแย่จากการ “อุดหนุน” ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศไม่ให้เกินไปกว่ากรอบที่ตั้งไว้ที่ลิตรละ 35 บาท

โดยประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันฯล่าสุด ณ วันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฏกองทุนติดลบไปแล้ว -76,291 ล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็นน้ำมันติดลบ -41,419 ล้านบาท ส่วน LPG ติดลบ -34,872 ล้านบาท

ให้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน P/N

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการปล่อยเงินกู้ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น ธนาคารออมสิน-ธนาคารกรุงไทย จะต้องเข้าไปพิจารณาในรายละเอียด ส่วนกรณีที่ “กองทุน” ไม่ถือเป็นนิติบุคคลที่จะสามารถกู้ยืมได้หรือไม่นั้น ในประเด็นนี้จะต้องไปดูรายละเอียดในแง่กฎหมายว่าสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง

ด้าน นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า การกู้เงินจำนวน 20,000 ล้านบาทจากสถาบันการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือรายละเอียด คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้

“เบื้องต้นเราอยากได้การกู้เงินในรูปแบบตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) แม้ดอกเบี้ยอาจจะแพง แต่มีความคล่องตัวสูง เพราะถ้าเราทยอยใช้วงเงิน เช่น จำเป็นต้องใช้เงิน 5,000 ล้านบาทก่อน จากวงเงินกู้ 20,000 ล้านบาท ก็ขอใช้เฉพาะเท่าที่จำเป็น แล้วชำระคืนภายใน 90 วัน กองทุนก็จะเสียดอกเบี้ยไม่มาก และหากต้องการใช้เงินอีกก็เบิกใช้เท่าที่จำเป็น แล้วชำระคืนภายในเวลาที่กำหนด” นายพรชัยกล่าว และว่า

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีสถาบันการเงินแห่งใดปล่อยกู้ ทาง สกนช.เตรียมแนวทางการของบประมาณจากรัฐบาลเข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องไว้แล้ว

“กองทุนต้องการวงเงินสินเชื่อที่สถาบันการเงินอนุมัติให้ 20,000 ล้านบาท เพื่อสร้างความอุ่นใจไว้ก่อน แต่เรายังไม่ได้เบิกเงินตอนนี้ทั้งหมดครั้งเดียว เพราะขณะนี้กองทุนยังมีเงินฝากธนาคารอยู่ 2,556 ล้านบาท และเงินฝากที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังอีก 14,133 ล้านบาท รวมมีสภาพคล่อง 13,669 ล้านบาท ประกอบกับการปรับลดภาษีสรรพสามิตลงอีกลิตรละ 5 บาท

ช่วยลดภาระการอุดหนุนของกองทุนเหลือลงลิตรละ 5.37 บาท จากก่อนหน้านี้อุดหนุนสูงสุดเกือบลิตรละ 11 บาท ทำให้กองทุนสามารถตรึงราคาดีเซลไว้ไม่เกินลิตรละ 32 บาท จากราคาจริงควรอยู่ที่ 38 บาท แม้ราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวน แต่ยังเคลื่อนไหวไม่เกินที่คาดไว้บนเพดานอุดหนุนราคาดีเซลในประเทศสูงสุดไม่เกิน 35 บาท/ลิตร” นายพรชัยกล่าว

ล่าสุดจากการประเมินแนวโน้มประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันฯจะติดลบเพิ่มขึ้นจนเกิน -80,000 ล้านบาท ภายในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ เนื่องจากกองทุนต้องใช้เงินอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงเดือนละกว่า 20,000 ล้านบาท

และมีความเป็นไปได้สูงที่ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลภายในประเทศจะขยับขึ้นไปอีก 1 บาท หรือที่ลิตรละ 33 บาทในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะส่งผลไปถึงมาตรการลดภาษีสรรพสามิตจะช่วยลดการอุดหนุนของกองทุนเหลือลิตรละ 5.37 หรือเดือนละ 17,000 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ที่ต้องอุดหนุนถึงเดือนละ 20,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท จะไม่ได้ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลดลง เนื่องจากต้องนำเงินจากการลดภาษีมาช่วยลดภาระการอุดหนุนของกองทุนที่ติดหนี้สูงมาก (-76,291 ล้านบาท) และหากปล่อยให้กองทุนน้ำมันฯติดลบระดับ -100,000 ล้านบาท จะกลายเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะถือเป็นหนี้ของประเทศด้วย

ออมสินขอดูแผนชำระเงินกู้

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารออมสิน-กระทรวงการคลัง-กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างหารือรายละเอียดส่วนความพร้อมในการปล่อยสินเชื่อให้กับกองทุนหรือไม่นั้น ธนาคารออมสินมีหน้าที่โดยตรงในเรื่องสนับสนุนนโยบายในภาครัฐ เพียงแต่ต้องดูขั้นตอนและความสามารถของกองทุนน้ำมันฯเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปล่อยกู้

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดูกฎหมายของหน่วยงานรัฐในการที่จะกู้ว่า “มีสิทธิจะกู้ได้หรือไม่” ซึ่งก็คงมีสิทธิที่จะกู้ แต่ต้องดูรายละเอียดว่า กฎหมายกำหนดขั้นตอนการขอกู้จะต้องผ่านหน่วยงานใดบ้างก่อนที่จะกู้จะต้องเสนอ ครม.ด้วยหรือไม่ เพราะมีกฎหมายเฉพาะอยู่

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ตอนนี้ธนาคารกรุงไทยยังไม่ได้มีการหารือในเรื่องการพิจารณาปล่อยเงินกู้ให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ดี ในมุมของสถาบันการเงินก็จะต้องดูรายละเอียดเรื่องวิธีการปล่อยกู้ด้วย ซึ่งจะต้องมีการทำการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้เงินกู้ของกองทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยง

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การปล่อยกู้ตั๋ว P/N จะเอาไว้ใช้เป็น working cap หมายถึง ถ้ามีรายได้เข้ามาในอนาคต ผู้กู้ก็ต้องนำมาชำระคืนหนี้เดิมธนาคารที่ออกตั๋วให้จะมีหน้าที่จ่ายเงินให้ผู้รับตั๋วแทนเจ้าของตั๋ว ซึ่งเจ้าของตั๋วก็ต้องเอาเงินมาจ่ายธนาคารคืนภายหลัง ไม่เหมือนกับเทอมโลนที่ผู้กู้จะได้รับเงินกู้ไปทั้งก้อนแล้วใช้คืนภายหลัง

ทั้งนี้ การกู้แบบเทอมโลน ธนาคารที่ให้กู้จะมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะไม่มีธุรกรรมชัดเจนว่า ผู้กู้เอาไปทำอะไร ในขณะที่ P/N ต้องระบุว่า เอาไปจ่ายค่าอะไร จำนวนเท่าไหร่และจ่ายเมื่อไหร่ “ลูกหนี้ที่กู้ P/N ไป พอมีเงินเข้ามาก็เอามาโปะให้แบงก์ก่อน แต่กรณีกองทุนน้ำมันฯคงต้องตั้งงบประมาณมาชำระเป็นงวด ๆ หรือเอาเงินที่เก็บเข้ากองทุนจากผู้ใช้น้ำมันในอนาคตมาจ่ายคืน” แหล่งข่าวกล่าว

มีการตั้งข้อสังเกตถึงการชำระคืนเงินกู้ของกองทุนน้ำมันฯ หากธนาคารเลือกที่จะใช้ตั่ว P/N ด้วยการนำเงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนจากผู้ใช้น้ำมันในอนาคตมาจ่ายคืนหมายถึง ผู้ใช้น้ำมันทุกประเภทด้วยหรือไม่