โดย เอกพล เจริญประเสิฐกุล , CISA,CFP ที่ปรึกษาเพจ TEEX For Future
เปิดเทคนิคทำกำไรในช่วงตลาดผันผวน ด้วย SET50 & Stock Futures
ทุกวันนี้คุณเข้าใจการลงทุนใน TFEX ดีแล้วหรือยัง ?
หากคุณเป็นผู้ที่อยู่ในแวดวงการลงทุนมาสักพัก คงได้ยินหรือรู้จักตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอย่าง TFEX แน่นอน ตลาดที่เป็นทางเลือกเก็งกำไร หรือป้องกันความเสี่ยงให้พอร์ตลงทุนของคุณในยามที่ตลาดหุ้นผันผวน สามารถเทรดทำกำไรได้ทุกสภาวะตลาดทั้งขาขึ้นและขาลงโดยใช้เงินลงทุนไม่มาก เป็นตลาด Zero-Sum Game ที่ฝั่งผู้ชนะจะได้เงินจากฝั่งผู้แพ้
ทั้งหมดนี้อาจเป็นสิ่งที่คุณเข้าใจในตลาด TFEX ซึ่งจากข้อมูลสถิติของกลุ่มตัวอย่างบางส่วนพบว่า ผู้ลงทุนที่เข้ามาในตลาดนี้แล้วประสบความสำเร็จจากการเก็งกำไร มีเพียงแค่ 20% เท่านั้น ดังนั้น เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจการลงทุนในตราสารอนุพันธ์มากขึ้น TFEX
1. การใช้ SET50 Futures & Stock Futures ทำกำไรในช่วงตลาดผันผวน
SET50 Futures
Futures นั้นเป็นแค่สัญญา ที่เกิดขึ้นจากผู้ซื้อฝั่งหนึ่งและผู้ขายอีกฝั่งหนึ่งตกลงซื้อขายกันวันนี้ แต่จะชำระกำไรขาดทุนกันในอนาคต ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องถือไว้จนถึงวันหมดอายุสัญญาก็ได้โดยซื้อขายเปลี่ยนมือกันในตลาดให้กับคนอื่นแทน ยกตัวอย่าง SET50 Futures เป็นสัญญาที่อ้างอิงราคาซื้อขายกับดัชนี SET50 ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบันราคาตลาดอยู่ที่ประมาณ 1,000 จุด และมีอัตราคูณที่ 200 บาทต่อจุดดัชนี
ดังนั้น 1 สัญญาจะมีมูลค่าประมาณ 200,000 บาท สำหรับผู้ที่คิดว่าดัชนีจะขึ้นก็ทำการเปิดสัญญาฝั่งซื้อเรียกว่า Open Long ส่วนผู้ที่คิดว่าดัชนีจะลงก็ทำสัญญาฝั่งขายเรียกว่า Open Short ที่ราคาตลาด เท่านี้ก็จะเกิดคู่สัญญาแล้ว โดยก่อนส่งคำสั่งซื้อขายต้องมีการวางเงินหลักประกันขั้นต้น (Initial Margin: IM) ประมาณ 5-15% สมมติอยู่ที่ 10,000 บาทต่อสัญญา
หากดัชนีปรับตัวขึ้นไป 2% หรือ 20 จุด จาก 1,000 เป็น 1,020 จุด มูลค่าสัญญาก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 204,000 บาท พอย้อนมาดูเงินในพอร์ตฝั่งผู้ซื้อจะเพิ่มขึ้นเป็น 14,000 บาท (เงินหลักประกัน + กำไร) ซึ่งกำไร 4,000 บาท ที่เพิ่มขึ้นมานี้เกิดจากดัชนีที่ปรับเพิ่ม 20 จุด คูณด้วย 200 (อัตราคูณ) หรือเพิ่มขึ้นถึง 40% จากเงินหลักประกัน ส่วนเงินในพอร์ตของผู้ขายจะลดลงเหลือแค่ 6,000 บาท หรือลดลง 40% เช่นกัน แต่หากดัชนีขยับไปถึง 50 จุด ฝั่งผู้ที่ขายไว้จะไม่เหลือเงินในบัญชีเลยโดยไม่สามารถแก้ตัว
ซึ่งการวางเงินหลักประกันเพียงขั้นต้นนั้นไม่ค่อยถูกหลักการเทรดนัก เพราะเราแทบจะไม่สามารถวางแผนการเทรดได้ หากลองเปลี่ยนเป็นวางหลักประกันมากขึ้นเราก็จะวางแผนการเทรดได้มากขึ้นตาม และสามารถกำหนดจุดหรือมูลค่าในการ Cut Loss แต่ละครั้งได้ เพื่อให้เรายังอยู่ในแผนการเทรดที่ได้วางไว้ ไม่ใช่ว่าผิดทางแล้วทำได้เพียงขอให้ดัชนีวกกลับมา และหลีกเลี่ยงการโดนเรียกหลักประกันเพิ่มหากผิดทาง ซึ่งกำหนดไว้ที่ 70% ของหลักประกันขั้นต้นหรือในกรณีนี้คือ 7,000 บาท ซึ่งจากตัวอย่างแรกหากเราเหลือเงินในพอร์ต 6,000 บาท เราจะถูกเรียกให้เติมเงินเพิ่มอีก 4,000 บาท เพื่อให้เงินในพอร์ตเรากลับมาที่ 10,000 บาท เท่ากับหลักประกันขั้นต้น
Stock Futures
เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับหุ้นรายตัว หลักการคล้ายๆ กับ SET50 Futures ต่างกันเล็กน้อยบางอย่าง เช่น อัตราคูณของ SET50 Futures อยู่ที่ 200 บาทต่อจุด แต่ Stock Futures จะมีอัตราคูณที่ 1,000 (เพราะ Stock Futures 1 สัญญากำหนดให้เท่ากับการซื้อขายหุ้น 1,000 หุ้น) ยกตัวอย่างการเทรด PTT Futures สมมติราคาปัจจุบันอยู่ที่ 40 บาท มูลค่าสัญญาจะอยู่ที่ 40,000 บาท หากกำหนดให้วางเงินหลักประกันขั้นต้นประมาณ 6,000 บาทต่อสัญญา แล้วราคาขยับขึ้น 10% เป็น 44 บาท จะมีกำไรขาดทุนถึง 4,000 บาท เมื่อเทียบกับหลักประกันขั้นต้นที่วาง ฝั่งซื้อจะมีเงินในพอร์ตรวมเป็น 10,000 บาท ส่วนฝั่งขายจะมีเงินเหลือเพียง 2,000 บาท ซึ่งเป็นข้อควรระวังในการวางเงินเวลาซื้อขายเช่นเดียวกัน
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Stock Futures
บางท่านอาจบอกว่าไม่สามารถเทรดได้ เนื่องจากไม่มีสภาพคล่อง หรืออาจจะมีหุ้นอ้างอิงบางตัวที่สภาพคล่องน้อยจริง แต่หากลองดู Volume การซื้อขายของ Stock Futures ในกระดานปกติเฉลี่ยย้อนหลังต่อวันแล้ว เราจะเห็นว่าหุ้นใหญ่ๆ หรือหุ้นยอดนิยมหลายตัวมีปริมาณการซื้อขายในตลาดพอสมควรอยู่แล้ว หากเราเทรดระดับ 10-20 สัญญา ตลาดค่อนข้างมีสภาพคล่องรองรับเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องใช้วิธี Block Trade เพียงอย่างเดียว
ย้อนดูสถิติ SET50 Futures ช่วงปี 2007-2022
ช่วง 2007-2016 ระยะเวลา 10 ปีนี้มีกรอบการเคลื่อนไหวค่อนข้างกว้างเมื่อวัดจาก High-Low โดยอยู่ในช่วง 250-300 จุด แต่หลังจากปี 2016 การเคลื่อนไหวค่อนข้างแคบลง จะมีเพียงปี 2020 ช่วงที่ Covid-19 ระบาด ที่ดัชนีวิ่งค่อนข้างกว้าง
พอมาปี 2021-2022 กรอบการเคลื่อนไหว High-Low ยังค่อนข้างแคบมากประมาณ 100 จุด เท่านั้น ดังนั้นช่วงนี้การทำกำไรในตลาดหุ้นระดับ 10-20% ต่อรอบอาจจะยากมากขึ้น หากพิจารณาให้ลึกเข้าไป จะเห็นได้ว่ากรอบการวิ่งของราคา เคลื่อนไหวขึ้นลงประมาณ 80 จุด ถึง 12 ครั้ง ซึ่งหากเรานำ Futures มาใช้ Hedging เพื่อป้องกันความเสี่ยงพอร์ตหุ้นโดยการ Short Futures เอาไว้ด้วย เมื่อเจอสภาวะที่ไม่คาดคิด ก็อาจสร้าง Cash Flow นำกำไรมาชดเชยการขาดทุนจากความผันผวนของตลาดหุ้นได้
—————————————————————————————————–
2.กลยุทธ์การเทรด TFEX ให้ได้กำไร
ในตลาด TFEX ผู้ลงทุนส่วนใหญ่มักจะใช้ปัจจัยทางเทคนิคหรือกราฟในการเทรด โดยใช้ Indicator หรือรูปแบบกราฟต่างๆ มาประกอบการตัดสินใจ เนื่องจากสามารถนำมาวิเคราะห์ คาดการณ์ และกำหนดความเสี่ยงในการเทรดแต่ละครั้งได้ชัดเจน เพราะฉะนั้นทุกคนจึงควรมี Trade Setup เริ่มต้นก่อนที่จะเริ่มทำ Order ต่างๆ ที่เป็น Logic ที่เชื่อถือได้และต้องมีวินัยทำตามทุกครั้ง โดยคำนึงถึง 3 องค์ประกอบนี้
1) กำหนด Main Logic เพื่อพิจารณาการเปิดหรือปิด Position เช่น ซื้อเมื่อเส้นค่าเฉลี่ย EMA ระยะสั้นตัดเส้นค่าเฉลี่ยระยะยาว
2) กำหนด Filter ใช้เป็นการกรองสัญญาณ เพื่อให้สัญญาณมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น หาก MACD > 0 จะเทรดเฉพาะฝั่งซื้อ และจะเทรดเฉพาะฝั่งขายเมื่อ MACD < 0 เท่านั้น
3) กำหนดจุด Cut Loss และ Take Profit เพื่อคุมความเสี่ยงและรักษาเงินต้นไม่ให้ถูก Run Loss จนเงินหมดพอร์ต รวมถึงเพิ่มอัตรา Win Rate ตามสัญญาณการขายระหว่างทาง เพื่อไม่ให้พอร์ตที่ถือเปลี่ยนสถานะจากกำไรกลับมาเป็นขาดทุน
เมื่อเริ่มสร้าง Trade Setup ของตัวเองแล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่ามีประสิทธิภาพจริง ?
ต้องผ่านการลองผิดลองถูก ใช้หลักการสถิติ นำไปผ่านกระบวนการ Backtest และปรับปรุงออกมา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่พึงพอใจ ซึ่ง Trade Setup ที่ดีนั้นก็ควรจะมองถึงการคุมความเสี่ยงควบคู่กับเรื่องการทำกำไร
เราจะสามารถทำตามวินัยได้ทุกครั้งอย่างไร ?
เบื้องต้นต้องใช้คำสั่ง Stop Order ประกอบทุกครั้ง ซึ่งเป็นการกำหนดจุด Cut Loss และควบคุมความเสี่ยง หรือหากช่ำชองมากขึ้นเราสามารถใช้ Robot ส่งคำสั่งตาม Trade Setup ที่เราคิดขึ้นมาได้ ซึ่งหลายๆ โบรกเกอร์ก็มีให้บริการแล้ว แต่หลายคนมักละเลยเรื่องการคุมความเสี่ยงหรือไม่ทำตามวินัยเมื่อถึงจุด Cut Loss และหากเผอิญราคาวกกลับมาถูกเพียง 1 ครั้ง ก็อาจจะเกิดชุดความคิดที่ว่าเราไม่ต้องทำตามกฏก็ได้ ทั้งที่กฏนั้นเราเป็นผู้กำหนดขึ้นมาตามหลักการที่ผ่านการคิดมาแล้ว แต่ความเป็นจริงในทุกตลาดการลงทุนเราต้องพบเจอช่วงที่ราคาวิ่งอย่างมีทิศทางรุนแรง หากไม่ได้ทำตามวินัย อาจสร้างความเสียหายให้พอร์ตในการเทรดครั้งอื่นๆ ได้
—————————————————————————————————–
3.แนวทางการบริหารความเสี่ยงในการเทรด TFEX จากประสบการณ์จริง
กฏหลัก 2 ข้อที่ต้องคำนึงถึงในการบริหารความเสี่ยง
– Money Management วางเงินหลักประกันเผื่อ ไม่ควรวางแค่ขั้นต่ำ เพื่อให้อยู่รอดและสามารถสร้างกำไรได้ในระยะยาว
– Cut Loss ทุกครั้งเมื่อผิดทาง เพื่อคุมความเสียหายไม่ให้หนักไปกว่านี้
ควรวางเงินต่อ 1 สัญญาเท่าไร ?
แนะนำว่าควรวางเงินเผื่อสำหรับการเทรด ประมาณ 3 เท่าของเงินหลักประกันขั้นต้น (IM) กรณี SET50 Futures ก็ควรวางเงินประมาณ 30,000 บาท (สมมติ IM 10,000 บาท) เพราะเราต้องเผื่อการขาดทุนที่เลวร้ายที่สุดหรือ Maximum Drawdown เมื่อเจอเหตุการณ์เหล่านี้เราต้องอยู่รอดให้ได้ในตลาดและสามารถทำกำไรกลับคืนได้ในภายหลัง จริงอยู่ที่ไม่มีใครรู้อนาคตว่าเราจะผิดต่อเนื่องได้มากขนาดไหน แต่เราก็สามารถประเมินความเสียหายดังกล่าวคร่าวๆ ได้ 2 วิธี
– ทดสอบค่าในอดีตด้วย Indicator หรือ Trade Setup ที่เราใช้ โดยนำมา Backtest ย้อนหลัง 10 ปี ดูผลลัพธ์ว่าขาดทุนติดกันได้สูงสุดกี่จุด
– จากบันทึกที่เราเทรดเองว่าขาดทุนติดกันกี่จุดและกี่ครั้ง
เมื่อทราบผลลัพธ์ว่าเราเคยขาดทุนติดๆ กันสูงสุดได้กี่จุด ยกตัวอย่างที่ 60 จุด คิดเป็นจำนวนเงินคือ 12,000 บาท ให้นำหลักประกันขั้นต้นของสินค้านั้นมารวมเข้าไปอีก สมมติ SET50 Futures มี IM ที่ 11,400 บาท ดังนั้น เราต้องมีเงินวางหลักประกันเผื่อไว้สำหรับการเทรด SET50 Futures จำนวน 1 สัญญา ที่ 23,400 บาท เป็นอย่างน้อย ซึ่งปัญหาที่ผู้ลงทุนส่วนใหญ่ต้องพบเจอคือเรื่อง Money Management จากการวางเงินน้อยเกินไป
Cut Loss คืออะไร ? Stop Loss สำคัญอย่างไร ?
เป็นการตัดขาดทุนเพื่อหลีกเลี่ยงการผิดทางครั้งใหญ่จนอาจทำให้เราเสียหายทั้งหมด ซึ่งการตัดขาดทุนคือส่วนหนึ่งของแผนที่เราวางไว้ตาม Trade Setup เมื่อใดที่ตลาดกลับมาเคลื่อนไหวตามที่คาดการณ์ พอร์ตเราก็จะค่อยๆ Cover กลับมาและสร้างกำไรในอนาคตได้
เคล็ดลับในการ Cut Loss
– วาง Stop Loss ไว้ทุกครั้งเมื่อเปิดสถานะ
– ไม่ควรขยับเลื่อนจุด Stop Loss ไปมา หากไม่ใช่การ Trailing Stop เพื่อทำกำไร
– อย่าเสียดายเมื่อ Cut Loss แล้วราคาดีดกลับ
การที่ราคาเคลื่อนไหวรุนแรง บางครั้งอาจทำให้เราคิดว่าเดี๋ยวมันต้องกลับมาบ้างทั้งที่เลยจุด Cut Loss ไปแล้ว แต่หากตลาดมีทิศทางจริง การที่ราคาจะร่วงลงไปเรื่อยๆ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งจุดที่แบ่งกลุ่มผู้ลงทุนที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว คือ “วินัย” ในการปฏิบัติตาม Trade Setup ของตัวเอง
การแบ่งไม้กระจายความเสี่ยง
ควรใช้ Trade Setup ที่ต่างเงื่อนไขหรือต่างสภาวะกันมาช่วยกันเทรด เช่น Trade Setup ที่ใช้ได้ดีเมื่อเป็นเทรนด์ระยะสั้น กับเทรนด์ระยะยาว โดยให้มองแยกจากกันมาช่วยกันเทรด จะทำให้ผลรวมของพอร์ตการลงทุนดีขึ้นในระยะยาว หรือหากสามารถกระจายการเข้าได้ถึง 3 ไม้ โดยที่วางเงินอย่างเหมาะสม จะช่วยลดการขาดทุนสูงสุดหรือ Maximum Drawdown ได้สูงถึง 70%
สุดท้ายแล้วในทุกช่วงสภาวะตลาด ยิ่งในช่วงที่ตลาดผันผวน การทำตามแผนและมีวินัยในการเทรดจะทำให้เราอยู่รอดในตลาดและสามารถทำกำไรได้ในอนาคต การเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมตามสภาะวะตลาดจะช่วยกระจายและป้องกันความเสี่ยงให้พอร์ตของเรา