เงินบาทผันผวนอ่อนค่า เงินเฟ้อพุ่งแรงกดดัน กนง. ขึ้นดอกเบี้ยปีนี้

เงินบาท เหรียญ ธนบัตร

ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) เงินบาทอ่อนค่าไปราว 3% ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินบาทผันผวนค่อนข้างมาก และถูกกดดันจากท่าทีการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมถึงการเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และการปิดเมืองของจีน

โดย “กฤติกา บุญสร้าง” ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ห้องค้ากสิกรไทย ประเมินว่า ปี 2565 นี้ ค่าเงินบาท ณ สิ้นปีน่าจะอยู่ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งน่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 7-7.5 ล้านคน รวมถึงภาคการส่งออกที่ยังดี มีแนวโน้มผลักดันให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวกใกล้สมดุลได้ โดยระยะสั้น เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนในทิศทางอ่อนค่า แต่คงไม่อ่อนค่าไปจนหลุด 35 บาท

“เราปรับคาดการณ์มุมมองเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากเดิมมองว่าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ มาเป็นมีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในไตรมาส 4 เพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ โดยเฉพาะตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดที่ออกมาสูง 7.1% ซึ่งทำให้ตลาดค่อนข้างตกใจ กังวลว่า ธปท.อาจจะรีบขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น อย่างไรก็ดี ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบนี้ คงพยายามพูดให้ตลาดไม่ตกใจมาก แล้วก็คงส่งสัญญาณเปิดโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยด้วย”

ขณะที่ “รุ่ง สงวนเรือง” ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในไตรมาส 2/2565 คาดจะอ่อนค่าอยู่ในกรอบ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนไตรมาส 3 น่าจะอยู่ที่ 34.00 บาท และสิ้นปีแข็งค่ากลับมาอยู่ที่ 33.50 บาท

“ปัจจัยกดดันเงินบาท จะเป็นเรื่องของราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุล อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น และปัจจัยความไม่แน่นอนที่เกิดจากนโยบายการเงินของเฟด โดยคาดว่าในรอบการประชุมเดือน มิ.ย.และ ก.ค.นี้ เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.50% และรอบเดือน ก.ย. จะพิจารณาตามอัตราเงินเฟ้อ”

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปี ตลาดมองว่าอัตราดอกเบี้ยเฟดจะเริ่มนิ่งมากขึ้น แต่จะเริ่มดึงสภาพคล่องในระบบกลับผ่านการทำ quantitative tightening (QT) ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ไม่ไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) มากนัก อย่างไรก็ดี ระหว่างทางค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวนตามปัจจัยภายนอก ทั้งสงครามที่ยังไม่จบ และข้อมูลเศรษฐกิจชุดใหม่

โดยความกังวลต่อการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้าย หลังเฟดทำ QT หากดูทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยมีอยู่กว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ ถือว่าค่อนข้างมาก ดังนั้น ธปท.จึงมีความสามารถเข้าไปดูแลค่าเงินบาทได้ ซึ่งจะเห็นว่าก่อนหน้านี้ทุนสำรองลดลงกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยในเดือน มิ.ย.มีการขายหุ้นและพันธบัตร (บอนด์) กว่า 1,000-2,000 ล้านบาท แต่หากดูภาพรวม 5 เดือนแรก ยังคงเป็นเงินไหลเข้าสุทธิรวม 1.8 แสนล้านบาท ตามการเปิดประเทศ ซึ่งเป็นการไหลเข้าตลาดหุ้น 1.42 แสนล้านบาท จากก่อนหน้านี้นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นทุกปี และเข้าตลาดบอนด์ 4.1 หมื่นล้านบาท

“รุ่ง” กล่าวอีกว่า การประชุม กนง. วันที่ 8 มิ.ย.นี้ ก็น่าจะยังคงดอกเบี้ยไว้ 0.50% ต่อปี และน่าจะขยับขึ้น 0.25% ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งอาจต้องติดตามโทนการสื่อสารของ ธปท.ต่อเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.1% สูงสุดในรอบเกือบ 14 ปี เพราะหากย้อนไปในปี 2551 ที่เงินเฟ้อขึ้นไปถึง 9.2% ตอนนั้นราคาน้ำมันแตะ 146 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่ง กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25%

“นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินบาทอ่อนค่าแล้ว 3.3% แต่จะเห็นว่าในแต่ละวันเงินบาทจะผันผวนค่อนข้างเร็ว ขึ้นและลงเฉลี่ย 20 สตางค์ และมีความเป็นไปได้การสะวิงจะสูงกว่านี้ เพราะต้องยอมรับว่ามีปัจจัยเสี่ยงเยอะ ทั้งสงครามรัสเซีย นโยบายเฟด และจีนที่คลายล็อกดาวน์ ถือว่าเป็นปีที่เคลื่อนไหวผันผวน ผู้ประกอบการควรป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน”


มองไปข้างหน้า โลกยังคงเต็มไปด้วยความผันผวนที่สร้างผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน การป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน จึงเป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อจะได้ไม่ต้องลุ้น เพราะสุดท้ายแล้วอาจบาดเจ็บได้