ดอกเบี้ยขาขึ้น กดดัชนี SET หุ้น “แบงก์-ประกัน” เนื้อหอม

SET

อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงทำให้ทิศทางดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น และอาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวปัจจัยเหล่านี้สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดเงินตลาดทุนอย่างมาก อย่างไรก็ดี ในมุมการลงทุนก็มีทั้งกลุ่มหุ้นที่ได้รับปัจจัยบวกและหุ้นที่ต้องเผชิญกับปัจจัยลบ

เทรนด์ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

โดย “ชาญชัย พันทาธนากิจ” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วทั้งหมด 2 ครั้ง โดยครั้งแรก 0.5% และล่าสุดปรับขึ้นอีก 0.75% รวมแล้วปรับดอกเบี้ยขึ้นแล้ว 1.5% โดยหากดูรายงานจากคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ตลอดทั้งปีนี้เฟดน่าจะขึ้นไปที่ 3.5% ดังนั้น ในช่วงครึ่งหลังแนวโน้มดอกเบี้ยยังเป็นเทรนด์ขาขึ้นต่อเนื่อง

ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยของไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ส่งสัญญาณที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้เช่นกัน โดยคาดว่า ธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งภายในปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมาสูงระดับ 7% และคาดว่าในระยะถัดไปจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงเหนือ 7% ต่อไปอีก ซึ่งเมื่อนำเงินเฟ้อไปหักลบกับดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% แล้วจะเห็นว่าดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบค่อนข้างมากและถือว่าต่ำสุดในรอบหลายปี

ขณะเดียวกัน การที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องทำให้เกิดส่วนต่างกับดอกเบี้ยของไทยค่อนข้างมาก และส่งผลให้เกิดเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ไหลออก

“สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงกดดันที่ทำให้ไทยจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยก็จะส่งผลกระทบในส่วนของการประเมินมูลค่า (valuation) ที่ถูกลดลง หรือมีการปรับลดอัตราการทำกำไรต่อหุ้น (P/E Ratio) ลง ซึ่ง จะทำให้ตัวเป้าหมายดัชนีสิ้นปีที่ทาง บล.เอเซีย พลัส ประเมินไว้ 1,810 จุด มีโอกาสที่จะถูกปรับลดลงมา โดยการลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง ดัชนีจะถูกลดลงมาอยู่ที่ 1,722 จุด และถ้าปรับ 2 ครั้ง ดัชนีจะปรับลดลงมาอยู่ที่ 1,643 จุด”

ดอกเบี้ย

แบงก์-ประกันรับปัจจัยบวก

นายชาญชัยกล่าวอีกว่า ในมุมดอกเบี้ยขาขึ้นหุ้นที่จะได้ประโยชน์จะเป็นหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยหากการเปิดประเทศทำได้ต่อเนื่อง แรงกดดันในเรื่องหนี้เสีย (NPL) จะมีความเสี่ยงลดลง ส่วนในมุม valuation กลุ่มธนาคารก็ถือว่าราคายังค่อนข้างถูก เฉลี่ยของกลุ่ม book value จะซื้อขายกันอยู่ที่ 0.7 เท่า

ทั้งนี้ หุ้นที่แนะนำจะเป็นธนาคารกรุงเทพ (BBL) กับธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ส่วนอีกกลุ่มจะเป็นหุ้นในกลุ่มประกันชีวิต มองว่าธุรกิจจะมีโอกาสมากขึ้นในการที่จะมีเงินไปลงทุนใหม่ ๆ จากเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ผลตอบแทนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแนะนำ บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) และ บมจ.ไทยรีประกันชีวิต (THREL)

ขณะที่หุ้นที่จะได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น คือ หุ้นในกลุ่มจำนำทะเบียนรถ และในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อ ที่มีดอกเบี้ยเป็นลักษณะรายได้ดอกเบี้ยคงที่ แต่ว่าต้นทุนการเงิน (cost of fund) ก็จะมีส่วนที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว ฉะนั้น ดอกเบี้ยขาขึ้น หมายความว่าส่วนต่าง (spread) จะแคบลง

“ทั้งนี้ ในภาพรวมที่ตลาดยังคงมีความผันผวนค่อนข้างมาก แนะนำให้นักลงทุนควรถือเงินสดไว้ประมาณ 20-30% เนื่องจากตลาดยังผันผวน และเน้นหุ้นในกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น รวมถึงหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อและค่าเงินบาทอ่อน”

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการสายงานค้าหลักทรัพย์บุคคล บล.บัวหลวง กล่าวว่า เฟดตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดที่ 0.75% ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเพียง 2-3 วันก่อนการประชุม จากเดิมที่จะปรับ 0.5% โดยคาดว่าที่เฟดตัดสินใจปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นรอบล่าสุด เพราะต้องการให้ตลาดปรับตัวได้ในระดับหนึ่ง ฉะนั้น ยังคงต้องจับตาดูการประชุมในครั้งถัดไป ส่วนเงินเฟ้อของไทยยังตามหลังสหรัฐ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่ และมาซ้ำเติมด้วยราคาสินค้าและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

หุ้น 3 แบงก์ใหญ่โดดเด่น

โดยในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ถ้าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น กลุ่มธนาคารพาณิชย์จะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะมีโอกาสปรับขึ้นและเร็วกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก โดยแนะนำหุ้นธนาคารขนาดใหญ่อย่างธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และไทยพณิชย์ (SCB) ซึ่งปกติแล้วหุ้นของ 3 บริษัทนี้ถ้าดูในเรื่อง valuation ตัว BBL ก็จะถูกสุด รองลงมาเป็น KBANK และสูงสุดจะเป็น SCB ขณะที่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์-ก่อสร้างจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยมากที่สุด เนื่องจากต้องเผชิญภาวะที่ต้นทุนการก่อสร้างแพงขึ้น แต่ยอดขายกลับชะลอตัวลง

“การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบนี้มีสาเหตุหลักมาจากเงินเฟ้อซึ่งส่งผลให้ของแพงขึ้น ทำให้เราไม่มองเรื่องดอกเบี้ยเป็นตัวตั้ง เนื่องจากดอกเบี้ยที่ต้องปรับขึ้นมาจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และส่งผลทำให้หุ้นโดยส่วนใหญ่ต่างก็จะได้รับผลกระทบกันเกือบหมดในหลายอุตสาหกรรม”

ทั้งหมดนี้นักลงทุนก็คงต้องลงทุนอย่างระมัดระวังในภาวะที่เต็มไปด้วยความผันผวนนี้ โดยติดตามสถานการณ์และศึกษาข้อมูลผลกระทบต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา