“ผู้ว่าแบงก์ชาติ” กาง 3 สูตร ขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อพุ่งแรง

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ส่งสัญญาณออกมาอย่างต่อเนื่องว่า “หมดยุคดอกเบี้ยต่ำ” แล้ว นับจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประชุมรอบล่าสุด ที่แม้จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% แต่เสียงที่แตกออกเป็น 4 ต่อ 3 ก็บอกเป็นนัยว่า หลังจากนี้จะเข้าสู่ “ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น” แล้ว

“ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย” จัดโดยสำนักข่าว “Thaipublica” ว่า หากดูโทนผลการประชุม กนง. ที่มีมติ 4 ต่อ 3 ให้คงอัตราดอกเบี้ย 0.50% ต่อปี โดยกรรมการ 3 ราย เป็นคนใน ธปท. ซึ่งมองไปในทิศทางเดียวกันว่า มีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น โดยกรรมการ กนง.อยากเห็นความต่อเนื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการปรับนโยบายการเงินไปสู่ระดับปกติ (normalization policy)

“ความเสี่ยงได้เปลี่ยนไป โดยมาเน้นด้านเงินเฟ้อมากขึ้น จากเดิม ธปท.ไม่ได้ใส่ใจ เพราะเงินเฟ้อต่ำมาก และต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย 1-3% แม้ว่าเงินเฟ้อระยะปานกลางจะปรับขึ้นและลง แต่ยังคงอยู่ในกรอบ แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้เงินเฟ้อในไตรมาส 1/2565 พุ่งออกมาสูงถึง 4.7% และคาดว่าจะเกินกรอบเป้าหมายทั้งปี”

ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจไทย เห็นการฟื้นตัวชัดเจนกว่าแต่ก่อน แม้ว่าการฟื้นตัวจะไม่เร็วและแรงเท่าที่อยากเห็น โดยปีที่แล้วขยายตัวได้ 1.5% ปีนี้คาดว่าจะโตได้ 3.3% และปี 2566 จะขยายตัวได้ 4.2%

“ความเสี่ยงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีน้อยลงกว่าเดิม แต่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นชัดเจน ล่าสุด ธปท.ปรับการคาดการณ์เงินเฟ้อจาก 4.9% เป็น 6.2% โดยเงินเฟ้อขยายวงมากขึ้นมาจากพลังงานและเกิดการส่งต่อ ซึ่งการส่งผ่านแรงขึ้นโดยจะทำอย่างไรให้เกิดการ smooth take off ให้การฟื้นตัวไม่สะดุด”

ขึ้น ดบ.สกัดเงินเฟ้อคาดการณ์

“ดร.เศรษฐพุฒิ” กล่าวว่า ถามว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยเรื่องของเงินเฟ้ออย่างไร ก็ต้องตอบว่า แม้เงินเฟ้อไทยจะมาจากฝั่งอุปสงค์ไม่มาก แต่มาจากอุปทานราคาน้ำมัน ซึ่งดอกเบี้ยไม่สามารถหยุดราคาน้ำมันที่ขึ้นลงตามตลาดโลกได้

แต่บทบาทของธนาคารกลาง คือ มีหน้าที่หลักในการทำให้คาดการณ์เงินเฟ้อระยะปานกลางไม่หลุดกรอบ ซึ่งช่วงหลังเงินเฟ้อระยะสั้นเริ่มวิ่ง และสุดท้ายจะดึงการคาดการณ์ระยะยาวไปด้วย

“ยกตัวอย่าง ถ้าเราเป็นเจ้าของสินค้า เพิ่มราคา แล้วคนอื่นก็เพิ่มขึ้นอีก หรือลูกจ้างเจรจาต่อรองการขึ้นค่าแรงเพิ่มขึ้นจนเกิดเป็นเงินเฟ้อฝังลึก จะทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติดโดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญ จากปีก่อนอยู่ที่ 0.2% ปีนี้น่าจะเห็น 2% และหากเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น โอกาสที่เงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation) จะต่ำเป็นไปได้ยาก”

ทั้งนี้ หากเงินเฟ้อมีความผันผวนสูง สัญญาณของราคามีโอกาสผิดเพี้ยน การวางแผนธุรกิจจะลำบาก การลงทุนอาจชะงัก จากความไม่แน่นอนสูง ขณะที่กลุ่มคนรายได้น้อยจะถูกกระทบมากที่สุด เพราะความมั่งคั่งและทรัพย์สินน้อย และค่าจ้างปกติต่ำกว่าเงินเฟ้อ

“เงินเฟ้อกระทบรายย่อยที่มีรายได้น้อยเป็นหลัก เพราะครัวเรือนจะบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม พลังงานเป็นหมวดที่เงินเฟ้อสูงที่สุด ซึ่งเราไม่ได้ใส่ใจเงินเฟ้อ สักแต่เป็นตัวเลข แต่เรามีหน้าที่ทำไม่ให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด ซึ่งทั่วโลกก็ทำแบบนี้ แต่ก็มีบางประเทศที่ไม่ได้ทำตามยาแผนปัจจุบัน ก็เกิดปัญหาขึ้นมา เหมือนอย่างสหรัฐในยุค 1970 ที่เงินเฟ้อเพิ่มจาก 7% เป็น 13-14% ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงถึง 20%”

ไม่ใช้ยาแรง-ไม่อิงเฟด-ไม่ช้าไป

ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยควรเป็นแบบไหนในบริบทปัจจุบัน “ดร.เศรษฐพุฒิ” มองว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยควรจะเป็นบริบทของไทย ไม่เกี่ยวกับเฟด ซึ่งการปรับควรเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะเทียบกับสหรัฐที่เงินเฟ้อมาจากอุปสงค์ แต่ของไทยมาจากอุปทาน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็ช้ากว่า ซึ่งคนกังวลกันว่าจะกระทบเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) แต่ดูตอนนี้ไทยไม่มีปัญหา

ถามว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ ขึ้นตอนไหน และขึ้นอย่างไร ก็ต้องตอบว่า “ช้าเกินไปไม่ดี” ซึ่งที่ผ่านมา นโยบายการเงินของไทยถือว่าผ่อนปรนมากและเป็นเวลานาน โดยดอกเบี้ยต่ำที่สุดในภูมิภาค เงินเฟ้อติดอันดับท็อปในภูมิภาค เป็นผลมาจากไทยเจอปัญหาโควิด-19 หนักกว่าคนอื่น

ดังนั้น มองไปข้างหน้า “ไทยไม่ได้เหยียบเบรก แต่ต้องถอนคันเร่ง” เพราะถ้าคอยนานเกินไป เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด หรือหากขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไป โอกาสจะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงในตอนหลัง ซึ่ง ธปท.ไม่อยากให้ออกมาในแนวทางนั้น ส่วนจะขึ้นกี่ครั้ง และต้องขึ้นแค่ไหน ไม่ได้มีเป้าในใจ

“โจทย์ของไทยไม่จำเป็นต้องเหยียบเบรก แต่เป็นเรื่องการผ่อนคันเร่ง เพราะถ้าเงินเฟ้อสูง ต้นทุนลูกค้ายิ่งสูง เช่น ปลายปีก่อนต้นทุนดอกเบี้ยกู้ของธุรกิจที่เรตติ้ง A อยู่ที่ 1.4% เงินเฟ้ออยู่ที่ 1.2% ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมจริงอยู่ที่ 0.2% ถือว่าต่ำ ตอนนี้ดอกเบี้ยการกู้ยืม 1.3% อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ 6.2% ต้นทุนกู้ยืมเกือบ -5% หากเราไม่ทำอะไรเลย จะเป็นการเหยียบคันเร่ง เราจึงต้องถอนคันเร่งเพื่อให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจไม่สะดุด”

เงินเฟ้อกระทบหนักกว่าดอกเบี้ย

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวด้วยว่า ผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเพิ่มขึ้น แต่หากไม่ทำอะไรเลย ครัวเรือนจะยิ่งกระทบหนัก ซึ่งได้มีการคำนวณค่าใช้จ่ายเงินเฟ้อกับดอกเบี้ย หากขึ้นดอกเบี้ย 1% กับเงินเฟ้อที่สูง 4-5% ค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน 7 เท่า

อย่างไรก็ดี ธปท.ก็ต้องดูแลผลกระทบแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งปัจจุบันยังมีมาตรการดูแลเพียงพอ แต่ในทางปฏิบัติอาจต้องมีการปรับปรุงบ้าง