เงินบาทอ่อนค่า 35.50 บาทต่อดอลลาร์ จับตาแถลงประธานเฟด-อีซีบี

เงินบาทอ่อนค่า 35.50 บาทต่อดอลลาร์ จับตาแถลงประธานเฟด-อีซีบี
REUTERS/Sarah Silbiger/File Photo

กรุงไทย ประเมินกรอบค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 34.90-35.50 บาทต่อดอลลาร์ จับตาถ้อยแถลง “ประธานเฟด-อีซีบี” หลังขึ้นดอกเบี้ยแรง 0.75% กดดันค่าเงินอ่อนค่า 

วันที่ 19 มิถุนายน 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 20-24 มิถุนายน 65) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34.90-35.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามและมีผลต่อค่าเงินบาท จะเป็นถ้อยแถลงของประธานและเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

ซึ่งตลาดจะรอดูมุมมองต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยว่าล่าสุดที่ขึ้น 0.75% เพียงพอหรือไม่ หรือจะต้องปรับขึ้นแรงอีก และเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) หรือไม่ และเงินเฟ้อจะสามารถปรับลงได้หรือไม่หลังขึ้นดอกเบี้ยแรง

ขณะเดียวกัน จะมีตัวเลขดัชนี PMI ภาคบริการของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นตัวเลขไฮไลท์ เพราะหากตัวเลขออกมาดี จะทำให้ตลาดมีความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อจะปรับขึ้นสูง เพราะสะท้อนว่าเศรษฐกิจมีความร้อนแรง แต่หากภาพออกมาทรงตัวแรงกดดันเงินเฟ้ออาจจะลดลงได้ จึงต้องติดตามตัวเลจจะออกมาในลักษณะใด

นอกจากนี้ยังมีตัวเลขดัชนี PMI ในฝั่งของยุโรป และอังกฤษ ซึ่งจะดูสัญญาณเศรษฐกิจขยายตัวดีขนาดไหน และโอกาสที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ปรับขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงรอฟังถ้อยแถลงการณ์ของประธานอีซีบีด้วย ขณะที่ในฝั่งญี่ปุ่น คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน แม้เงินเยนอ่อนค่าก็ตาม ตลอดจนตัวเลขนำเข้าและส่งออกของไทย

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (13-17 มิ.ย.65) จะเห็นว่ามีแรงเทขายค่อนข้างเยอะ เนื่องจากตลาดไม่มั่นใจและมีความสับสนในนโยบายการเงินของไทยในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงนักลงทุนมีความกังวลในเรื่องการเกิดเศรษฐกิจถดถอย ทำให้มีแรงเทขายทุกตลาด

โดยตลาดหุ้นมีแรงเทขายสุทธิอยู่ที่ 12,300 ล้านบาท และตลาดพันธบัตร (บอนด์) ขายสุทธิอยู่ที่ 5,900 ล้านบาท ซึ่งเป็นแรงเทขายในบอนด์ตัวสั้นอายุ 5-10 ปี ค่อนข้างมาก

ขณะที่สัปดาห์หน้า ประเมินว่า นักลงทุนยังคงมีแรงเทขายสุทธิทั้งตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ แต่แรงเทขายอาจจะแผ่วลงหลังจากสัปดาห์นี้เทขายออกไปค่อนข้างมาก ประกอบกับผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์) ทยอยปรับลดลง ทำให้เริ่มเห็นนักลงทุนกลับมาซื้อบอนด์ไทยได้บ้าง โดยรวมประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งอาจจะเป็นตัวไดร์ฟค่าเงินบาทได้

“หากดูสัปดาห์หน้าตลาดหุ้นจีนกลับมาได้ จะช่วยชะลอให้ค่าเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง เพราะเงินบาทเชื่อมโยงกับหยวนถึง 70% จึงน่าจะมาพยุงบาทได้ รวมถึงแรงเทขายในตลาดหุ้นและบอนด์น่าจะชะลอได้ หลังจากเทขายไปหมดแล้ว จึงคิดว่าแนวต้านที่ระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์น่าจะเอาอยู่ได้”