เงินบาทอ่อนค่าสุดรอบ 3 สัปดาห์ จับตาสัปดาห์หน้า ผลประชุมเฟด-ศบค.

เงินบาท ดอลลาร์

เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ 34.77 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าตามจังหวะการปรับขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ  รวมถึงสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของ ECB จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ประชุมเฟด 14-15 มิ.ย. สถานการณ์โควิด ประชุมศบค.

วันที่ 11 มิถุนายน 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ หลังขยับแข็งค่าช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามสกุลเงินเอเชีย นำโดย เงินหยวนซึ่งได้รับอานิสงส์จากความหวังว่าแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจีนน่าจะทยอยคลายตัวลงในระยะข้างหน้าหลังเริ่มคลายล็อกดาวน์

อย่างไรก็ดีเงินบาทพลิกอ่อนค่าในช่วงต่อมาสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของต่างชาติ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ โดยเฉพาะบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีที่ปรับตัวขึ้นเหนือ 3.00% รับโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดในช่วงครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้การเคลื่อนไหวเงินบาทในระหว่างสัปดาห์ยังไม่ได้รับแรงหนุนมากนัก แม้ผลการประชุมกนง. สะท้อนสัญญาณว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ หลังกนง. มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น พร้อมๆ กับความเสี่ยงของการขยับสูงขึ้นของเงินเฟ้อ

กราฟค่าเงินบาท

ในวันศุกร์ที่ 10 มิ.ย. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันพฤหัสบดีก่อนหน้า (2 มิ.ย.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 6-10 มิ.ย. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 5,890 ล้านบาท ขณะที่มีสถานะเป็น NET OUTFLOW ออกจากตลาดพันธบัตร 10,711 ล้านบาท (เป็นการขายสุทธิพันธบัตร 5,022 ล้านบาท และมีตราสารหนี้หมดอายุ 5,689 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (13-17 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 34.40-35.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงิน ประมาณการเศรษฐกิจและ dot plot ของเฟด และทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ยอดค้าปลีก ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนมิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุม BOE และ BOJ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือนพ.ค. อาทิ การผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และอัตราการว่างงานด้วยเช่นกัน

กราฟความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนตลอดสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยร่วงลงช่วงต้นสัปดาห์ จากความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยที่เร่งตัวสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และย่อตัวลงอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังล่าสุดธนาคารกลางชั้นนำอีก 1 แห่งคือ ECB ส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงิน

ทั้งนี้ หุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนหลักจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มแบงก์ หลังกนง. มีมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% ซึ่งสะท้อนโอกาสของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยในระยะข้างหน้า

ในวันศุกร์ (10 มิ.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,632.62 จุด ลดลง 0.91% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 63,672.81 ล้านบาท ลดลง 13.13% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.79% มาปิดที่ 642.79 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (13-17 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,620 และ 1,600 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,650 และ 1,665 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (14-15 มิ.ย.) สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงการประชุมศบค.

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านใหม่ และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOE และ BOJ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ค. ของยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือนพ.ค. อาทิ ยอดค้าปลีก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร