ACOM เติบโตรับออนไลน์บูม ไตรมาส 1 รายได้ 2,591.5 ล้าน เติบโต 39.8%

วีระพงษ์ (พอล) ศรีวรกุล
วีระพงษ์ (พอล) ศรีวรกุล

บมจ.เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป หรือ ACOM โชว์ผลงานไตรมาส 1/2565 ทำรายได้รวม 2,591.5 ล้านบาท เติบโตโดดเด่น 39.8% จากการขยายฐานลูกค้าใหม่และยอดขายสินค้าจากลูกค้ารายเดิมที่เพิ่มขึ้นรับอีคอมเมิร์ซบูม พร้อมวางกลยุทธ์ขยายธุรกิจสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 24 มิถุนายน 265 นายวีระพงษ์ (พอล) ศรีวรกุล ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) หรือ ACOM เปิดเผยว่า บริษัทสามารถทำรายได้ในช่วงไตรมาส 1/2565 เติบโตในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการดำเนินธุรกิจของบริษัทในฐานะเป็นผู้นำการให้บริการขับเคลื่อนอีคอมเมิร์ซอย่างครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ที่สามารถเติบโตไปพร้อมกับการขยายตัวของภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในระดับภูมิภาค

โดยข้อมูลจาก Euromonitor คาดว่ามูลค่าธุรกรรมอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับจากปี 2563-2568 จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ร้อยละ 19.8 ต่อปี จากยอดขายสินค้ารวม (GMV) ที่ 5.23 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 เป็น 1.29 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 เนื่องจากผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเลือกซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมาและการปรับตัวของผู้ขายสินค้า

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในไตรมาส 1/2565 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 2,591.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 1,853.7 ล้านบาท โดยบริษัทสามารถบริหาร Operating EBITDA Margin ให้มีอัตราขาดทุนลดลงจากร้อยละ -2.8 สำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 เป็นร้อยละ -2.7 สำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2565 อันเป็นผลมาจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและความสามารถในการขยายขนาดทั้งในกิจกรรมทางตรงและทางอ้อม

ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารเมื่อคิดตามร้อยละของรายได้นั้นลดลง ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ ขณะที่ผลขาดทุนสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2565 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญอยู่ที่ 115.9 ล้านบาท จาก 214.6 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ของบริษัทที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง และการปรับปรุงประสิทธิภาพต้นทุนการดำเนินงานทั้งทางตรงและฝ่ายสนับสนุน การลดลงของผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจากกิจการที่เกี่ยวข้องกัน

ปัจจัยการเติบโตมาจากการขยายฐานลูกค้าแบรนด์ไทยและแบรนด์ชั้นนำระดับโลก ณ สิ้นไตรมาส 1/2565 ที่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 171 ราย เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีลูกค้า 114 ราย และยอดขายสินค้าของลูกค้ารายเดิมที่เพิ่มขึ้น โดยยอดขายสินค้าจากต้นทางไปยังปลายทาง (EMV) ในไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 2,931.0 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 2,009.4 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยอดขายของบริษัทมีความสัมพันธ์ตรงกับการเติบโตของการบริโภคและการจับจ่ายออนไลน์ในอาเซียน (ASEAN Consumer’s Spending) ที่มีอัตราการเติบโตที่สูงจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยบริษัทฯ มียอดขายสินค้าในหลากหลายประเภท ในช่องทางออนไลน์ที่หลากหลายใน 5 ประเทศและมีระบบเชื่อมต่อกับช่องทางออฟไลน์ของแบรนด์ต่าง ๆ อีกด้วย

“เรามีความมั่นใจในศักยภาพธุรกิจและการเติบโตของบริษัทสะท้อนให้เห็นจากรายได้รวม ณ ไตรมาส 1/2565 ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และรายได้รวมในปี 2562-2564 ก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจาก 4,601.5 ล้านบาท เป็น 8,948.5 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 39.5% ต่อปี และเรามีความมุ่งมั่นที่จะขยายฐานลูกค้า พื้นที่ให้บริการและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำเสนอบริการใหม่ ๆ เพื่อนำบริษัทเติบโตอย่างมีศักยภาพ เช่น EcommerceIQ Market Insight ที่ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้ามากกว่า 21 รายแล้วถึงแม้จะเพิ่งเปิดตัวไป

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการออกผลิตภัณฑ์ EcommerceIQ SaaS ประเภทใหม่ เช่น Logistics Management Channel Management และ Order Management เป็นต้น ซึ่งจะสามารถทำให้บริษัทได้รับค่าบริการประมาณร้อยละ 3-5 ของ EMV บริษัทมุ่งมั่นที่จะเติบโต พัฒนาและขยายธุรกิจ EcommerceIQ SaaS ให้มีสัดส่วนรายได้รวมที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะขยายการเติบโตทางธุรกิจในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อเป็นการสนับสนุนแบรนด์ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรของบริษัทในระดับภูมิภาคที่บริษัทได้ให้บริการอยู่ในปัจจุบันที่ต้องการให้บริษัทให้บริการในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมถึงแบรนด์ในกลุ่มของ DKSH ที่ดำเนินการในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยที่บริษัทคาดหวังว่าจะมีผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรเพิ่มมากขึ้นในระหว่างการดำเนินการดังกล่าว” นายวีระพงษ์ (พอล) กล่าว

ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บมจ.เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป หรือ ACOM กล่าวว่า บริษัทให้บริการด้านอีคอมเมิร์ซอย่างครบวงจร ครอบคลุมการออกแบบและพัฒนาร้านค้าออนไลน์ (Webstore Development) บริหารร้านค้าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ (Brand Store Operations) ให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์ (E-commerce Strategy Consulting) ให้บริการคลังสินค้าครบวงจร (Warehousing and Fulfillment) รับชำระเงินและจัดส่งสินค้า (Payment and Delivery) วิเคราะห์และให้ข้อมูลเชิงลึก (Data Analytics and Insights) รวมถึงมีศูนย์บริการและดูแลลูกค้า (Customer Care Solutions) เพื่อช่วยเหลือแบรนด์ต่าง ๆ สื่อสารกับลูกค้า

ทั้งนี้ บริษัทได้วางกลยุทธ์ขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนเพื่อขยายขอบเขตทางภูมิศาสตร์สู่ตลาดใหม่ และเพิ่มฐานผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจร ได้แก่

1) มุ่งพัฒนาความสัมพันธ์ในฐานะพันธมิตรกับกลุ่มผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรระดับโลกของบริษัทเพื่อเพิ่มจำนวนแบรนด์ รายการสินค้าและการให้บริการมากกว่า 1 ประเทศ

2) ลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการ เช่น บริการจัดการคำสั่งซื้อที่ซับซ้อน และการเพิ่มขีดความสามารถด้านข้อมูล เป็นต้น เพื่อให้ลูกค้าที่ใช้บริการสามารถสร้างสรรค์แคมเปญที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

3) ขยายฐานผู้ใช้บริการรายใหม่และกลุ่มสินค้าใหม่ๆ ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

4) มุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ EcommerceIQ SaaS ทั้งในด้านฟีเจอร์ ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ และเพิ่มความปลอดภัยในการรักษาข้อมูล เพื่อขยายไปสู่ตลาดที่กว้างขึ้น ทั้งบริษัทข้ามชาติและผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ด้วยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นน้อยมาก


5) การเข้าซื้อกิจการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อขยายตลาดใหม่ เช่น เวียดนามและขยายธุรกิจที่มีในมาเลเซีย เป็นต้น ทั้งนี้ การขยายไปยังตลาดเวียดนาม บริษัทมีสัญญาร่วมมือทางกลยุทธกับทาง DKSH เรียบร้อยแล้ว