อาทิตย์ เปิด Chapter SCBX สร้างระบบนิเวศเทคโนโลยีสู่ตลาดภูมิภาค

“อาทิตย์” ลุยสร้างระบบนิเวศเทคโนโลยี-เพิ่มขีดความสามารถ-ขยายตลาดสู่ภูมิภาค ก้าวสู่ “เทคคอมปะนี” ชิงฐานลูกค้า 200 ล้านคน ภายใน 5 ปี ลั่น คงบทบาทตัวกลางระบบสถาบันการเงิน ส่งบริษัทย่อยเชื่อมลูกค้า-ร้านค้า-เอสเอ็มอีหนุนเงินทุน

วันที่ 24 มิถุนายน 2565 นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวในงาน “Battle Strategy แผนฝ่าวิกฤติ พิชิตสงคราม EPISODE IV : STARTUP SME TO MEGATREND” ว่า

ภายหลังจากจัดตั้งบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ขึ้นเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน เอสซีบี เอกซ์ ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา โดยภาพที่วางไว้ยังคงอยู่ในเฟรมเดิม แต่จะเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในด้านเทคโนโลยี ปัญหาประดิษฐ์ (AI) บล็อกเชน และสินทรัพย์ดิจิทรัพย์ (Digital Asset) เพื่อสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ไปสู่เป้าหมายระยะกลาง (Middle Term) ที่ต้องการเป็น Tech Company ให้ได้

ดังนั้น Chapter ต่อไปของ SCBX จะเป็นมากกว่า Local Player หรือ Local Product แต่ต้องการขยายขนาด (Scale) ให้เป็นระดับภูมิภาค (Regional) ที่มีความใหญ่และแข็งแรงพอ ซึ่งไม่ได้ใหญ่เฉพาะในส่วนของงบดุล (Balance Sheet) หรือสินเชื่อ แต่เป็นการขยายขนาดที่มองถึงตลาดภูมิภาค (Market Regional) ไม่ได้เฉพาะตอบสนองลูกค้าคนไทยเท่านั้น แต่ตอบสนองลูกค้าในภูมิภาค โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 5 ปี จะต้องมีฐานลูกค้ามากกว่า 200 ล้านคน

“เราเพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และโอเปอเรทจริงแค่ 3-4 เดือน แต่ภาพที่พูดไว้ยังคงเหมือนเดิม ซึ่งเรามีความมุ่งมั่นใน middle term การเป็นเทคคอมปะนี ให้ได้ โดย Chapter ต่อไป คือ การเพิ่มขีดความสามารถและขยาย Scale ให้มีความแข็งแรงและใหญ่พอผ่านการสร้างระบบนิเวศและ Business Model ที่จะพาลูกค้าไปด้วยกัน เพราะถ้าไปคนเดียวจะเป็นระบบที่ไม่ Healthy เท่าไร”

สำหรับในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งรากธุรกิจยังคงเป็น ธุรกิจการเงิน ซึ่งเป็นการนำเงินออมในระบบไปหาผู้ประกอบการ จะยังคงบทบาทของสถาบันการเงิน หรือ Banking ที่เป็นตัวกลางตอบโจทย์ลูกค้าและผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยจะต้องมีประสิทธิภาพและต้นทุนตามที่ลูกค้าคาดหวัง เพื่อให้ลูกค้าอยู่รอดโดยผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม

ขณะที่ธุรกิจที่แยกตัวออมาจากธนาคารไทยพาณิชย์นั้น จะเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์และช่องทางให้เปลี่ยนไปตามรูปแบบทั้งกลุ่มลูกค้าและพฤติกรรม จึงมีการเชื่อมปฏิสัมพันธ์ระหว่างลูกค้า คู่ค้า และธนาคาร เนื่องจากปัจจุบันจะเห็นว่าทุกคนสามารถเข้มาทำธุรกิจการเงิน และสามารถเสนอผลิตภัณฑ์การเงินได้ ทำให้ธนาคารต้องปรับเปลี่ยน โดยเริ่มจาก Robinhood ที่ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่อง Food แต่ยังเกี่ยวกับ Logistic กลุ่มโรงแรม และอื่นฯ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือระหว่าง AIS ภายใต้บริษัท เอไอเอสซีบี จำกัด (AISCB) ที่ทำในเรื่องของ Micro Lending ที่ให้ลูกค้าเข้าถึงแหล่งเงินทุนวงเงินเล็กๆ ซึ่งอาจขยายไปถึงนาโนไฟแนนซ์ หรือภายใต้ SCB Group ยังมีบริษัท ออโต้ เอกซ์ จำกัด (Auto X) บริษัท มันนิกซ์ จำกัด (MONIX) และบริษัท เอสซีบี อบาคัส (SCB ABACUS) ที่จะช่วยสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ และในอนาคตจะมีการสร้าง Platform Royalty ขนาดใหญ่ ที่จะสร้างการเชื่อมปฏิสัมพันธ์ (Engagement) กับลูกค้าและร้านค้ามากขึ้น

“กลุ่มธุรกิจที่ออกจากธนาคารไทยพาณิชย์ จะเป็นธุรกิจที่จะออกมาสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและลูกค้า ร้านค้า ที่จะสร้างโอกาสให้เขาได้รับเงินทุน และการจัดตั้งธุรกิจรูปแบบใหม่ในต้นทุนที่เบาบางและน้อยที่สุด เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนที่เยอะเกินไปจนเป็นความเสี่ยงเกินจะทดลองได้

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการจะต้องเปิดใจและปรับตัว และตื่นตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี ซึ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือใช้เงินเยอะไป โดยจะต้องเกาะเมกะเทรนด์ เพราะจะสร้างโอกาสอีกมาก และธนาคารก็พร้อมจะสนับสนุนและเดินไปด้วยกัน”