ชงปรับแผนกู้ “กฟผ.ก่อหนี้เพิ่ม” ปมค่าไฟแพง

ค่าไฟแพง

คลังชง ครม.อนุมัติปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2565 ก่อหนี้ใหม่เพิ่ม 1.4 หมื่นล้านบาท หนุน กฟผ.กู้เงินเพิ่มรับมือราคาพลังงานแพง ประเมินสิ้นปีงบประมาณนี้หนี้สาธารณะอยู่ที่ 61.30%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คนน.) ประชุมเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยได้พิจารณาปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่สำหรับรัฐวิสาหกิจ และปรับเพิ่มแผนชำระหนี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ในเร็ว ๆ นี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2565 ครั้งที่ 3 โดยจะมีการเพิ่มวงเงินตามแผนการก่อหนี้ใหม่อีก 14,177 ล้านบาท เป็น 1.42 ล้านล้านบาท

“การปรับแผนก่อหนี้รอบนี้ เป็นการปรับปรุงวงเงินการก่อหนี้ของรัฐวิสาหกิจ เพื่อรองรับสถานการณ์ราคาพลังงานเพิ่มขึ้น โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีการปรับเพิ่มเงินกู้ 20,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง และเพื่อประโยชน์ในการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าแก่ประชาชน รวมถึงการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่มีการปรับเพิ่มแผนงานขยายเขตและปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าอีก 2,300 ล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ดี รัฐวิสาหกิจบางแห่ง ก็มีการปรับลดวงเงินในโครงการที่เคยอนุมัติไปแล้ว เช่น การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ปรับลด 1,200 ล้านบาท, บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ (ธพส.) ปรับลด 6,000 ล้านบาท เป็นต้น

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการปรับแผนการชำระหนี้ในปีงบประมาณ 2565 โดยมีวงเงินเพิ่มขึ้น 20,835 ล้านบาท เป็นผลมาจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ปรับแผนชำระหนี้เพิ่มเป็น 21,953 ล้านบาท ขณะที่การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ปรับลดแผนชำระหนี้ลง 1,117 ล้านบาท จึงส่งผลให้วงเงินตามแผนชำระหนี้ในปีงบประมาณนี้อยู่ที่ 384,104 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่อยู่ที่ 363,269 ล้านบาท โดยจากการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะรอบนี้ ประเมินว่าในสิ้นปีงบประมาณ 2565 หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ระดับ 61.30% ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบเพดานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 70% ต่อ GDP

ขณะที่สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ จะอยู่ที่ 31.08% ยังอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ไม่เกิน 35% ด้านสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด จะอยู่ที่ 1.80% โดยการคำนวณดังกล่าวได้นับรวมการกู้เงินผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) จำนวน 50,000 ล้านเยนแล้ว ซึ่งก็ยังอยู่ในกรอบไม่เกิน 10% และสัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้การส่งออกสินค้า และบริการ จะอยู่ที่ 0.06% อยู่ในกรอบที่กำหนดไม่เกิน 5%

“จนถึงสิ้นเดือน เม.ย. 2565 ได้มีการก่อหนี้ใหม่แล้ว 830,348 ล้านบาท แบ่งเป็น การก่อหนี้ของรัฐบาล 776,413 ล้านบาท และส่วนที่เหลือเป็นของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น ๆ ส่งผลให้สิ้นเดือน เม.ย. 2565 หนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับ 60.81% ส่วนการชำระหนี้ ได้มีการชำระแล้ว 225,271 ล้านบาท โดยเป็นการชำระหนี้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 191,558 ล้านบาท และชำระจากแหล่งเงินอื่น ๆ อีก 33,712 ล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว