ค่าไฟสิ้นปีทะลุ 4.40 บาท/ยูนิต กกพ.กางต้นทุนก๊าซ LNG-น้ำมันพุ่งต่อ

ค่าไฟ

จ่อขึ้นค่าไฟฟ้า (เอฟที) งวด ก.ย.-ธ.ค. 65 ทะลุ 40 สตางค์ต่อหน่วย กกพ.ชี้ต้นทุนค่าก๊าซ LNG น้ำมันพุ่งต่อ หลังโรงแยกก๊าซรัสเซียระเบิด ซ้ำเงินบาทอ่อน 35 บาทเตรียมใช้หลักเกณฑ์ Energy Pool Price แก้ปัญหาระยะสั้นกดต้นทุนค่าไฟ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ไขข้อข้องใจ…รับมือค่าไฟครึ่งปีหลัง” จัดขึ้นโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เมื่อ 17 มิ.ย. 2565 ว่า

คมกฤช ตันตระวาณิชย์

ในช่วงกลางเดือน ก.ค. 2565 กกพ.จะพิจารณาทบทวนค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) งวดสุดท้ายของปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค. 2565) ซึ่งมีโอกาสปรับสูงขึ้นจากประมาณการเดิมที่วางไว้ 40 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟเป็น 4.40 บาท

โดยเป็นผลจากปัจจัยใหม่ เหตุโรงแยกก๊าซรัสเซียระเบิด กดดันให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ปรับสูงขึ้นรอบใหม่ จาก 24 เป็น 38 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งจะมีผลต่อการคำนวณค่าเอฟทีงวดใหม่ ขณะเดียวกันกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยลดลง

ส่วนแหล่งก๊าซนำเข้าจากเมียนมาอาจจะปรับลดลงในช่วงการเปลี่ยนผ่านสัญญาสัมปทาน ทำให้ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้า LNG เข้ามาผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณกว่า 40% จากเดิมคาดว่าจะใช้ LNG ประมาณ 30%

ราคา LNG ในตลาดโลกปรับขึ้นรอบนี้ ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะนานเท่าไร อีกทั้งเงินบาทอ่อนค่าลง ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากเดิมที่ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

“การปรับขึ้นค่าเอฟที งวดสุดท้ายของปีนี้จะเป็นเท่าไหร่นั้น ยังต้องรอประเมินสถานการณ์ค่าเชื้อเพลิงที่แท้จริงอีกครั้งช่วงกลางเดือน มิ.ย.นี้ แต่เบื้องต้นคาดว่า ค่าไฟฟ้าผันแปร งวดสุดท้ายจะปรับขึ้นจากเดิม แต่ไม่ถึง 5 บาทต่อหน่วย

และการปรับขึ้นในรอบนี้ยังไม่รวมกับภาระที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับไว้อยู่ที่กว่า 80,000 ล้านบาท ซึ่งหากรวมในส่วนนี้จะส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แท้จริงปรับขึ้นอีกกว่า 1 บาทต่อหน่วย”

“กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานส่งสัญญาณอยากให้การปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดสุดท้ายของปีนี้ เป็นการปรับขึ้นครั้งเดียวจบนั้น เป็นเรื่องที่ต้องรอติดตามสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิง แต่คาดว่าการปรับขึ้นค่าเอฟทียังจะต้องต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า เนื่องจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงยังผันผวน”

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาค่าไฟที่ถูกต้องจะต้องบริหารจัดการในระยะยาว เพื่อให้เกิดความชัดเจนด้านโครงสร้างการจัดการพลังงานระยะยาวของประเทศ ได้แก่ โครงการจัดการพลังงานในอนาคต LNG/Domestic Gas และแผนจัดหา เก็บ และใช้ก๊าซระยะยาวอย่างเป็นธรรม

สำหรับการบริหารจัดการในระยะสั้นกกพ.ได้ดำเนินการยืดเวลาปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จากปี 2564 เป็นปี 2565 แทน เพื่อลดการนำเข้า LNG ที่มีราคาแพง

รวมถึงการออกประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มเติม จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) แล้ว 30 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 60 เมกะวัตต์ รวมปริมาณ 100 เมกะวัตต์

ทั้งยังเร่งการนำเข้า LNG ทดแทนกำลังการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยที่ลดลง เบื้องต้นประเมินว่าจะมีปริมาณ 8 ล้านตัน และมีแนวโน้มที่จะนำเข้าเพิ่มขึ้นเร่งก่อสร้างคลังรัLNG แห่งที่ 2 (หนองแฟบ) ให้เสร็จเร็วขึ้น จากเดิมจะเสร็จปลายปีนี้ เพื่อรองรับการนำเข้า LNG

นอกจากนี้กกพ.ยังเสนอภาครัฐปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า เพื่อรับมือกรณีเกิดวิกฤตต้นทุนค่าเชื้อเพลิงผันผวน โดยเสนอหลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับ ของ กกพ. (Energy Pool Price) เปิดโอกาสให้ปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาถูกที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าวมาผลิตไฟฟ้า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อค่าไฟฟ้า

“สถานการณ์ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้นในปีนี้ เป็นผลมาจากโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของไทยที่ยังพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก สัดส่วนกว่า 60% ก๊าซส่วนใหญ่ได้มาจากอ่าวไทย 65% อีก 12% มาจากแหล่งก๊าซในเมียนมา และ 10% มาจากการนำเข้า LNG ซึ่งเมื่อปี 2564 สัดส่วนการใช้ก๊าซเพื่อการผลิตไฟฟ้าเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ

หลังเกิดสถานการณ์การผลิตก๊าซจากอ่าวลดลง ต้องนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นถึง 20% จากเดิมนำเข้าราว 18% เป็นการนำเข้าในรูปแบบของสัญญาระยะสั้น (spot LNG) มากขึ้น และเป็นช่วงที่สถานการณ์ราคา LNG ตลาดโลกปรับสูงขึ้น หลังความต้องการใช้ก๊าซทั่วโลกเพิ่มขึ้น ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19 คลี่คลาย และยังมามีปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานโลกผันผวนกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน”