โรงสีต้นทุนพุ่ง ขึ้นค่าสีข้าว 30% ปรับแผนผลิต-ติดโซลาร์รูฟ ลดค่าไฟ

ผู้ประกอบการโรงสีอ่วม ต้นทุนขนส่ง-ค่าไฟพุ่ง ยื้อไม่ไหวปรับขึ้นค่าสีข้าว 20-30% พร้อมปรับช่วงเวลาสีข้าวกลางคืน แห่ติดโซลาร์ลดค่าใช้จ่าย ชี้กำลังการผลิตทั่วประเทศวูบจาก 120 ล้านตัน เหลือ 70 ล้านตัน

นายรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงสีต้องปรับขึ้นค่าสีอีก 20-30% หลังจากที่ประสบภาวะต้นทุนการสีข้าวเพิ่มขึ้นจากปัจจัยค่าไฟฟ้าซึ่งเป็นต้นทุนหลัก บวกกับค่าขนส่งข้าวสารไปขายเริ่มปรับขึ้นตามการปรับราคาน้ำมันดีเซล นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมปรับค่าแรงงานเพื่อสอดรับกับต้นทุนค่าครองชีพแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นด้วย

“หลังจากที่มีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น เราก็พยายามลดต้นทุนด้วยการหาเทคโนโลยีมาช่วยสีข้าวลดปัญหาข้าวหักให้น้อยลง และเพื่อให้ได้ข้าวต้น (ข้าวสาร) ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น พยายามเก็บทุกอย่างที่พอทำได้ หรืออย่างการผลิตก็ต้องหันไปใช้ค่าไฟออฟพีกช่วงกลางคืน (21.00-06.00 น.) ซึ่งจะเสียค่าไฟลดลงประมาณสัก 60% จากปกติ”

รังสรรค์ สบายเมือง

หรืออีกแนวทางหนึ่งก็มีโรงสีประมาณ 10% เริ่มหันไปติดแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เองตอนกลางวัน ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าไฟได้ 15-20% เพียงแต่ต้นทุนการติดตั้งแผงต้องลงทุนค่าติดตั้งค่อนข้างสูงในครั้งแรก จึงต้องออกแบบให้พอดีกับปริมาณไฟที่ใช้ เพราะหากผลิตเกินก็จะสูญเปล่า ไฟฟ้าส่วนเกินยังไม่สามารถขายคืนให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ ทำได้เพียงเพื่อใช้เองประหยัดต้นทุนพลังงาน

นายรังสรรค์กล่าวว่า ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาธุรกิจโรงสีที่เคยมีสภาพคล่องสูง มีการขยายกำลังการผลิตไปมากกว่าข้าวเปลือก 4 เท่า จากปริมาณที่ผลผลิตได้ 28-30 ล้านตัน หรือประมาณ 120 ล้านตันข้าวเปลือก ขณะนี้ทางโรงสีก็ลดจำนวนลง ล่าสุดกำลังการผลิตเหลือเพียง 70-80 ล้านตัน และไม่มีโรงสีหน้าใหม่เข้ามาทำธุรกิจแล้ว

ส่วนโรงสีเดิมก็ขยับขยายไปทำธุรกิจอื่น ๆ ในรายที่ไม่มีทายาทสืบทอด อย่างไรก็ตาม คาดว่าธุรกิจโรงสีกำลังจะปรับเข้าสู่ภาวะสมดุล ซึ่งหากภาวะที่จะทำให้การแข่งขันสมบูรณ์ ควรต้องมีกำลังการผลิตมากกว่าข้าวเปลือก 1.5 เท่า หรือ 45 ล้านตัน เพราะผลผลิตทรงตัวอยู่ประมาณนี้ 28-30 ล้านตัน

“นโยบายประกันรายได้ ไม่ได้มีผลต่อการค้าขาย เราซื้อข้าวเปลือกตามราคาท้องตลาดปกติ โครงการนี้ไม่ได้มาแทรกแซงตลาด แต่ในแง่อื่นเหมือนงบประมาณภาษีหายไปเลย มันไม่ได้พัฒนาในรูปแบบของการปลูก ของการ ลงทุนทำนา หรือการเพิ่มผลผลิตอะไร ให้เพื่อให้อยู่ตลอดรอดฝั่งเป็นคราว ๆ ขอพูดตรง ๆ ไม่ได้พัฒนาให้ยั่งยืน

หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าต่อโครงการประกันรายได้ปี 4 สถานการณ์อุตสาหกรรมก็ยังคงเหมือนเดิม เกษตรกรได้รับความช่วยเหลือโดยตรง แต่ควรมีเรื่องการพัฒนาเกษตรกรควบคู่กันไป โดยในส่วนเรื่องยุทธศาสตร์ข้าวยังเป็นเรื่องในห้องประชุมและในตัวหนังสือไม่ได้ทำภาคปฏิบัติโดยตรง

การทำก็ทำเพียงกลุ่มเล็ก ๆ จากจำนวนชาวนา 4 ล้านครัวเรือน ไป 50-100 ครัวเรือนไม่มีผล เราต้องขยับขยายเพราะมีข้าราชการทั้งเกษตรทั้งพาณิชย์ ต้องช่วยกันเป็นเรื่องเป็นราวให้เห็นทางปฏิบัติจริง”

สำหรับการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ถือเป็นเรื่องดี แต่การพัฒนาแต่ละสายพันธุ์ต้องใช้เวลา อย่างปัจจุบันชาวนาจะนิยมปลูกพันธุ์ข้าวขาวนุ่ม 79, 87 ซึ่งข้อดีคือผลผลิตต่อไร่สูง ส่วนราคาที่โรงสีรับซื้อยังคงใกล้เคียงกับราคาข้าวขาว

สำหรับการบริโภคภายใน หรือผลิตข้าวนึ่ง และกระทบข้าวหอมปทุม ข้าวหอมมะลิ เป็นต้น ต้องยอมรับว่าถึงจะมีข้อดีแต่ก็มีข้อเสีย

ดังนั้น ต้องพัฒนาให้แมตช์กันให้ได้ แต่ละพื้นที่ก็ปลูกกันหลากหลายพันธุ์ บริหารจัดการยากขึ้น ด้วยความที่เราทำงานอยู่กับข้าวเราต้องพยายามบริหารจัดการให้ได้ ไม่ว่าจะผลิตอะไรมาเราก็รับซื้อหมด ต้องพยายามรักษาคุณภาพ เพราะเริ่มมีคอมเพลนว่าทำไมข้าวนึ่งไทยไม่ร่วนแต่เหนียว ๆ

แต่ทั้งหลายทั้งมวลที่รัฐพัฒนาพันธุ์ยุทธศาสตร์ข้าว จุดประสงค์เป้าหมายคือต้องการให้เกษตรกรอยู่ดีกินดี แต่ไปไม่ถึง ไปถึงแค่ชั่วคราว ต่อไปถ้ายังจ่ายกันอย่างนี้ก็เหมือนเดิม