กรมการค้าต่างประเทศ เปิด 5 แผนงานเชิงรุกการค้า สอดรับนโยบายใหม่

กรมการค้าต่างประเทศ เผยครบรอบ 82 ปี เปิด 5 แผนงานเชิงรุก อำนวยความสะดวด แก้ไขปัญหา ลดอุปสรรคให้กับผู้ประกอบการ ประชาชน สอดคล้องกับนโยบาย กระทรวงพาณิชย์ที่ว่า “พาณิชย์เชิงรุก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า”

วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การดำเนินงานของกรมในปี 2567 นี้ พร้อมเดินหน้าทำงานเชิงรุกเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก และแก้ไขปัญหา อุปสรรค ให้บริการแก่ประชาชน นำองค์กรไปสู่เป้าหมาย “การเป็นองค์กรนำนวัตกรรมสมัยใหม่ ขับเคลื่อนการค้าไทยสู่ความเป็นเลิศในเวทีโลก” สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่ว่า “พาณิชย์เชิงรุก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า”

ทั้งนี้ กรมยังที่ให้ความสำคัญกับการลดภาระและต้นทุนการผลิต การอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ และการสร้างโอกาสทางการค้า โดยมีแผนการดำเนินงานสำคัญ 5 เรื่องดังนี้

1. ขยายการค้าการลงทุนชายแดนผ่านแดน โดยการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การค้าชายแดน
เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคและส่งเสริมการค้าชายแดนผ่านแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มช่องทางการขนส่งสินค้า เจรจากับประเทศเพื่อนบ้านขยายเวลาการเปิด-ปิดด่าน ปัจจุบันเปิดแล้ว 86 ด่านจากทั้งหมด 95 ด่าน เพื่อให้การส่งออกสินค้าของไทยคล่องตัวมากขึ้น และจัดมหกรรมการค้าชายแดน ณ จังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ในจังหวัดชายแดน

รวมถึงมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ในการผลักดันการค้าชายแดนผ่านแดน อาทิ การจัดตั้งศูนย์บริการค้าชายแดนแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว หรือ OSS (One Stop Service) การเชื่อมโยงเอกสารส่งออก-นำเข้าผ่านระบบ หรือ NSW (National Single Window) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าชายแดนผ่านแดนแบบครบวงจร ขณะที่เป้าหมายการค้าชายแดนยังคงตัวเลขเดิม 1 ล้านล้านบาท

Advertisment

2. สร้างความเป็นธรรมทางการค้า และการปกป้องการทุ่มตลาด โดยการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ส่งออกสินค้าไทยในการใช้มาตรการเยียวยาทางการค้า ได้แก่ มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือ AD (Anti-Dumping) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน หรือ CVD (Countervailing) มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น หรือ SG (Safeguard) และ มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน หรือ AC (Anti-Circumvention) เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมทางการค้า

3. ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรยุทธศาสตร์ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง และสินค้าเกษตรนวัตกรรม เป็นต้น โดยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้ เพิ่มโอกาส และขยายช่องทางตลาดของสินค้าเกษตรยุทธศาสตร์ไปสู่ตลาดต่างประเทศ รวมถึงมีการจัดคณะผู้แทนเยือนประเทศคู่ค้ารายสำคัญ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ สร้างความเชื่อมั่น และผลักดันการส่งออก รวมไปถึงการขายข้าวแบบจีทูจี ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับราคาตลาด รวมไปถึงความต้องการสินค้า ปัจจุบันยังเหลือข้าวจีทูจี จีน 2.8 แสนตัน

4. การอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบให้บริการด้วยนวัตกรรมดิจิทัลที่สำคัญ เช่น ระบบการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้านการส่งออกสินค้ามาตรฐาน หรือ ระบบ OCS Connect ระบบการให้บริการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองการส่งออก-นำเข้าสินค้าด้วยนวัตกรรมดิจิทัล หรือ ระบบ DFT Smart Licensing และระบบการให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หรือ DFT Smart C/O อย่างครบวงจร เป็นต้น

พร้อมกับส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้แต้มต่อทางภาษีได้อย่างเต็มที่ อีกทั้ง มีการสร้างความรับรู้ด้านกฎระเบียบและมาตรการทางการค้ารูปแบบใหม่ เช่น มาตรการทางการค้าสินค้าเกษตร มาตรการทางการค้าสินค้าอุตสาหกรรม มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการรับทราบข้อมูลอย่างรวดเร็วและถูกต้อง สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

Advertisment

5. การบังคับใช้กฎหมายดูแลสินค้าส่งออก-นำเข้า โดยได้ดำเนินการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ ที่อยู่ในความดูแลของกรม เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดข้อจำกัด ขจัดอุปสรรค และสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ อาทิ การปรับปรุงประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการนำเข้าสินค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ สินค้ารถยนต์/ยางรถยนต์ที่ใช้แล้ว และเศษพลาสติก

นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับควบคุมการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapon of Mass Destruction : WMD) และสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของธุรกิจในด้านความมั่นคงปลอดภัย เพิ่มความน่าเชื่อถือ และสร้างแต้มต่อทางการค้าให้กับองค์กรมากยิ่งขึ้น