รู้หรือไม่ ปี 2566 ไทยส่งออกน้ำตาลไปจีนทะลุ 3 หมื่นล้าน ติดอันดับสินค้าขายดี

ปี 2566 ไทยส่งออกน้ำตาลไปจีนทะลุ 3 หมื่นล้าน ติดอันดับสินค้าขายดี

กรมการค้าต่างประเทศ เผย FTA อาเซียน-จีน ดันสินค้าไทยโดดเด่นในจีน โดยเฉพาะน้ำตาลแปรรูป ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าน้ำตาลแปรรูป ไปจีนเติบโตเฉลี่ยปีละ 144.84% ในปี 2566 ที่ผ่านมา FTA อาเซียน-จีน ดันยอดส่งออกสินค้าน้ำตาลแปรรูปไทยไปจีนสูงเกือบ 3 หมื่นล้านบาท

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการที่กรม ได้ติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปไปตลาดต่างประเทศปี 2566 พบว่า จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของไทย โดยครองสัดส่วนประมาณ 42% ของการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย โดยสินค้าน้ำตาลแปรรูป (ไม่รวมถึงน้ำตาลทรายดิบ) เช่น น้ำเชื่อม น้ำผึ้งเทียม คาราเมล หรือสารให้ความหวานอื่น ๆ ที่สามารถนำไปปรุงแต่งอาหาร เครื่องดื่ม และยา ถือเป็นสินค้าไทยที่โดดเด่นและมีความต้องการสูงมากในตลาดจีน

ในปี 2566 จีนนำเข้าน้ำตาลแปรรูป มูลค่า 982.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (31,358.58 ล้านบาท) โดยไทยครองตลาดนำเข้าอันดับ 1 มูลค่า 853.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (29,807.32 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วน 86.88% ของปริมาณที่จีนนำเข้าจากโลก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 103.14% และจากสถิติการนำเข้าน้ำตาลแปรรูป ย้อนหลัง 10 ปี พบว่าจีนนำเข้าจากไทยมีอัตราเติบโตสูงเฉลี่ยปีละ 144.84%

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้น้ำตาลแปรรูป ซึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกของไทยสามารถครองอันดับ 1 ในตลาดจีนได้ คือการได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA อาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Agreement : ACFTA) เนื่องจากในตลาดจีนสำหรับสินค้าน้ำตาลแปรรูป หากไม่ใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ ACFTA จะต้องเสียภาษีศุลกากรนำเข้าปกติ (MFN Rate) ในอัตรา 30% แต่จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็น 0% เมื่อมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) ที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศกำกับไปด้วย ซึ่งสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่สินค้าน้ำตาลแปรรูปไทย

โดยในปี 2566 มีผู้ประกอบการมาขอออกหนังสือรับรอง Form E สำหรับสินค้าน้ำตาลแปรรูปจากกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อนำไปใช้สิทธิพิเศษในขอยกเว้นภาษีนำเข้าที่จีนมูลค่า 833.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 29,099 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 97.62%

“การนำสินค้าเกษตรเช่นน้ำตาลดิบมาแปรรูป จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าดังกล่าวของไทยและส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อย เนื่องจากทำให้สินค้ามีความหลากหลายและมีตลาดที่กว้างขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยนำสินค้าเกษตรมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยน้ำตาลแปรรูปถือเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ส่งออกไทยมีศักยภาพสูงในการแข่งขัน การชิงความได้เปรียบและใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ไทยมีอยู่จะช่วยเป็นแรงผลักดันให้สินค้าไทยสามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น

สำหรับสินค้าน้ำตาลแปรรูป นอกจากตลาดจีนแล้ว อาเซียนถือเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีศักยภาพสูง เนื่องจากมีประชากรกว่า 6 ร้อยล้านคน ซึ่งแนวโน้มน้ำตาลแปรรูปของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ที่สำคัญสินค้าน้ำตาลแปรรูปของไทยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) โดยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเป็น 0% จากอัตราภาษีปกติ (MFN Rate) อยู่ระหว่าง 3-15 % ตลาดที่มีศักยภาพสูงในอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ เมียนมา และอินโดนีเซีย เป็นต้น”

รณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

กรมได้ให้ความสำคัญกับงานบริการโดยเฉพาะงานออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า โดยได้พัฒนาระบบการให้บริการออกหนังสือรับรอง ให้สอดคล้องกับบริบทการค้าสมัยใหม่ เน้นให้ผู้ส่งออกได้รับความสะดวก รวดเร็ว และลดขั้นตอนในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งในช่วงปลายปีที่ผ่านมา กรมได้อำนวยความสะดวกโดยเพิ่มช่องทางให้ผู้ส่งออกสามารถสั่งพิมพ์หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (Self-printing) ได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านระบบ DFT SMART C/O ได้แก่ Form RCEP Form AHK Form AJCEP และ Form TP และตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป จะเพิ่มการให้บริการกับ Form E (ในการส่งออกไปจีนและมาเลเซีย) และ Form AK และ C/O ทั่วไป

ในโอกาสนี้ จึงขอเชิญชวนผู้ส่งออกมาใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกเพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับสินค้าของท่าน ทั้งนี้ สำหรับการส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหารไปจีนผู้ส่งออกต้องศึกษากฎระเบียบการนำเข้าของศุลกากรจีน (General Administration of Customs of the People’s Republic China : GACC) ที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะจีนได้กำหนดให้ผู้ที่จะส่งออกไปจีนต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ผลิตสินค้าอาหารนำเข้าจากต่างประเทศตามระเบียบฉบับที่ 248 ผ่านเว็บไซต์ https://cifer.singlewindow.cn โดยสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางการค้า สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385