หุ้นไทยแกว่งตัวผันผวนกรอบ 1,550-1,570 จุด เงินเฟ้อพุ่งกดดันตลาด

หุ้น-ดัชนีหุ้น

“ฟิลลิป” ประเมินตลาดหุ้นไทยเช้านี้ ดัชนี SET Index แกว่งตัวผันผวนกรอบ 1,550-1,570 จุด แรงกดดัน “อัตราเงินเฟ้อพุ่งกดกลุ่มค้าปลีก-แรงขายนักลงทุนต่างชาติกดราคาหุ้นขนาดกลาง-ใหญ่” หวังกลุ่มพลังงานช่วยประคองตลาด หลังราคาน้ำมันดิบ WTI เช้านี้ยังทรงตัวยืนเหนือ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รายงานแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ว่า ดัชนี SET Index เช้านี้คาดจะผันผวนในกรอบ 1,550-1,570 จุด โดยแนวโน้มหลักยังเป็นทางลงจากแรงกดดันในประเด็น 1.อัตราเงินเฟ้อที่คาดจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง กดดันกลุ่มค้าปลีก 2.แรงขายของนักลงทุนต่างชาติหลังวานนี้ตลาดหุ้นไทยยังคงเผชิญแรงขายของนักลงทุนต่างชาติต่อเนื่อง กดดันราคาหุ้นขนาดกลาง-ใหญ่

ขณะที่ปัจจัยหนุนช่วยประคองการย่อตัวของตลาดหุ้นไทย ได้แก่ ความหวังในกลุ่มพลังงานหลังราคาน้ำมันดิบ WTI เช้านี้ยังทรงตัวยืนเหนือ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากความกังวลในอุปทานที่ตึงตัว จึงอาจหนุนกลุ่มพลังงานและโรงกลั่นให้พยุงตลาดได้บ้าง ระหว่างรอจับตาการเคาะมาตรการช่วยเหลือกองทุนน้ำมันของ กบน.

ด้านกลยุทธ์การลงทุน เน้นหุ้นสินค้าจำเป็น เช่น TFG, CPF, GFPT, BCH, BH และหุ้นบาทอ่อน เช่น SAPPE, CBG

สำหรับ กบน. ยังเคาะตรึงน้ำมัน แต่ความกดดันอยู่ที่กองทุน วานนี้ กบน.มีมติคงเพดานราคาน้ำมันดีเซลที่ 35 บาทต่อลิตร เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชน ท่ามกลางปัญหาการติดลบของกองทุนน้ำมันกว่าแสนล้านบาท ด้านนายกฯจะเป็นประธานในที่ประชุมในวันที่ 6 ก.ค.นี้ เพื่อเจรจากับโรงกลั่นหาทางออกร่วมกันในการพยุงราคาน้ำมันดีเซลต่อเพื่อช่วยเหลือประชาชน

อย่างไรก็ดีการหาทางออกร่วมกันที่จะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย (ผู้ถือหุ้น, โรงกลั่น, ประชาชน, รัฐบาล) ในระยะสั้นเป็นความท้าทายที่ยากลำบาก และแม้จะสามารถอุดหนุนกองทุนน้ำมันได้ตามเป้าราว 2 หมื่นล้านบาท ก็ยังคงเหลือส่วนต่างติดลบในกองทุนน้ำมันอีกราว 8 หมื่นล้านบาท

จึงมองปัญหาดังกล่าวจะยังคงยืดเยื้อต่อไป และยังเป็นกลางต่อกลุ่มโรงกลั่น ซึ่งยังสามารถประกอบกิจการ รวมถึงรับรู้ผลกำไรได้ตามปกติ จนกว่าจะสามารถหาทางออกได้

ขณะที่เงินเฟ้อไทยไปต่อ ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไทยเดือน พ.ค. อยู่ที่ 7.10% ทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 14 ปี ซึ่งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเองสูงเป็นอันดับสองในเอเชีย ดังนั้น การทยอยปรับราคาสินค้าและบริการ รวมถึงค่าขนส่งอย่างต่อเนื่อง จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้อัตราเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย. ที่มีกำหนดประกาศในวันนี้พุงขึ้นต่อ โดยตลาดคาดจะเติบโตราว 7.5% แต่ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อไทยประกาศออกมาที่ +7.66% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ทุกฝ่ายคาดไว้


และทางฝ่ายยังมองว่ามีสินค้าและบริการอื่น ๆ ที่ยังรอการปรับขึ้น จึงเป็นไปได้ที่ในช่วงไตรมาส 3 นี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นต่อเนื่องท่ามกลางวิกฤตราคาพลังงาน ดังนั้นหุ้นที่สามารถปรับเปลี่ยนราคาได้เร็ว และยังเป็นสินค้าจำเป็นในปัจจัย 4 อาทิ กลุ่มอาหาร, โรงพยาบาล จึงกลับมาดูน่าสนใจ หรือหุ้นบาทอ่อนหลังเงินเฟ้อมีโอกาสกดดันฟันด์โฟลว์ไหลออก