หุ้นกู้ทะลักธุรกิจล็อกต้นทุน กลุ่มซีพี-กัลฟ์-SCGP แข่งจ่ายดอกเบี้ย

หุ้นกู้

หุ้นกู้บานสะพรั่ง สมาคมตราสารหนี้ไทยเผย 6 เดือนแรกทะลัก 6.6 แสนล้านบาท คาดทั้งปีทุบสถิติ 1.2 ล้านล้าน ภาคเอกชนแห่ล็อกต้นทุนรับมือ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” ไตรมาส 3 ยักษ์ใหญ่ชักแถว กลุ่มซีพียกทีม “ซีพีออลล์-ซีพีเอฟ-ทรู” ขายหุ้นกู้ดอกเบี้ยสูงสุด 4.14% ต่อปี GULF ระดมทุนหลายหมื่นล้านขยายธุรกิจ SCGP ขายหุ้นกู้ดิจิทัลผ่านเป๋าตัง 5,000 ล้านบาท กสิกรไทยชี้ธุรกิจปรับแผนแทนกู้แบงก์ “ไมเนอร์-ดุสิต-สยามพิวรรธน์” เดินหน้าขาย “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” จับตาหุ้นกู้เรตติ้งต่ำ-เสี่ยงสูงเตือนนักลงทุนศึกษาความเสี่ยงก่อนซื้อ

หุ้นกู้สะพรั่งทุบสถิติ 1.2 ล้านล้าน

ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ในปี 2565 จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดอายุราว 734,174 ล้านบาท เป็นหุ้นกู้ครบดีลช่วงครึ่งปีแรก 407,695 ล้านบาท โดยช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย. 65) มีการออกหุ้นกู้ใหม่สูงถึง 660,121 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 27% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) คิดเป็นสัดส่วน 64% ของมูลค่าการออกทั้งปี 2564

โดยหุ้นกู้ที่ออกในช่วง 6 เดือนแรก เป็นหุ้นกู้ระดับลงทุน (investment grade) ประมาณ 609,054 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% และหุ้นกู้ไฮยีลด์บอนด์ (หุ้นกู้เครดิตเรตติ้งต่ำกว่า BBB-) มีการเสนอขาย 51,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% โดยพบว่าเทรนด์อายุการออกหุ้นกู้เฉลี่ยยาวขึ้นจาก 4.68 ปี มาเป็น 5.07 ปี

ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลัง ขณะนี้เห็นบริษัทที่ยื่นไฟลิ่งขอเสนอขายกับสำนักงาน ก.ล.ต. ในเดือน ก.ค.-ส.ค. 65 อีกไม่ต่ำกว่า 36,000 ล้านบาท เฉพาะที่ระบุมูลค่าเสนอขายแล้ว แต่ในไปป์ไลน์ยังมีอีกหลายบริษัทที่ยื่นไฟลิ่งแล้ว แต่ยังไม่ระบุปริมาณและมูลค่าการออก ฉะนั้น สิ้นปี’65

คาดว่าจะมียอดออกหุ้นกู้ใหม่ทะลุ 1 ล้านล้านบาท เป็นปีที่ 3 และน่าจะทำสถิติสูงกว่าปี’62 และปี’64 ที่ทำไว้ 1.08 ล้านล้านบาท และ 1.03 ล้านล้านบาท โดยคาดว่ามีโอกาสขึ้นไปแตะระดับ 1.2 ล้านล้านบาท

จับตากลุ่ม “ไฮยีลด์บอนด์”

“เชื่อว่าแนวโน้มการระดมทุนหุ้นกู้ช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีทิศทางขยายตัวเป็นบวกได้ดีต่อเนื่อง เพราะการที่ดอกเบี้ยขึ้นมาแรง ภาคธุรกิจก็เห็นช่องทางในการช่วยล็อกต้นทุนทางการเงินได้ดีกว่า เพราะเงินกู้แบงก์เป็นดอกเบี้ยลอยตัว ประกอบกับสภาพคล่องตลาดเงินที่สูง เห็นได้จากเงินออมของครัวเรือน”

ดร.สมจินต์กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีหลังจะมีหุ้นกู้ครบดีลอีก 326,479 ล้านบาทโดยประมาณ 85% อยู่ในกลุ่ม investment grade ในจำนวนนี้ราว 174,476 ล้านบาท เป็นหุ้นกู้เรตติ้ง A- ขึ้นไป และอีก 101,359 ล้านบาท เป็นหุ้นกู้เรตติ้ง BBB ซึ่งช่วงที่ผ่านมาไม่มีปัญหาในการ roll-over ส่วนที่เหลืออีก 50,644 ล้านบาท เป็นหุ้นกู้ไฮยีลด์บอนด์ ซึ่งคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าจะสามารถ roll-over ได้ครบหรือไม่

หน้าใหม่แห่ระดมทุนหุ้นกู้

ดร.สมจินต์กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมากลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี เป็นเซ็กเตอร์ที่มีการออกเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากทิศทางราคาน้ำมันแพง โดยมีสัดส่วนการออกหุ้นกู้สูงถึง 24% และ 13% ตามลำดับ บริษัทขนาดใหญ่มาใช้ทางเลือกการระดมทุนผ่านหุ้นกู้

ทั้งกลุ่ม ปตท., บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF), บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และ บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เป็นต้น

นอกจากนี้ สิ่งที่เห็นคือยังมีจำนวนผู้ออกหุ้นกู้รายใหม่ที่ไม่เคยขายหุ้นกู้มาก่อน เพิ่มเป็น 14 บริษัท เทียบจากปี’63-64 ที่มีอยู่แค่ 7 บริษัท ซึ่งกระจายอยู่ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ ปิโตรเคมี, อาหาร, พลังงาน, ไอซีที, สถาบันการเงิน เป็นต้น

ต้นทุนดอกเบี้ยหุ้นกู้ขยับ

ดร.สมจินต์กล่าวต่อว่า สำหรับต้นทุนการกู้ยืมอายุ 5 ปี ของผู้ออกหุ้นกู้ทุกเรตติ้ง มีการปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงไตรมาส 2/65 มาอยู่ที่ระดับสูงกว่าก่อนโควิด จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (bond yield) ที่ปรับสูงขึ้นทุกรุ่นอายุ ทำให้หุ้นกู้ต่าง ๆ มีจ่ายผลตอบแทนสูงขึ้น

ต้นทุนดอกเบี้ยหุ้นกู้รุ่นอายุ 5 ปี เรตติ้ง BBB อยู่ที่ 5.35% (+82 bps) เรตติ้ง BBB+ อยู่ที่ 4.89% (+68 bps) เรตติ้ง A อยู่ที่ 3.61% (+99 bps) เรตติ้ง AA อยู่ที่ 3.37% (+127 bps) และเรตติ้ง AAA อยู่ที่ 3.09% (+124 bps) ขณะที่ส่วนชดเชยความเสี่ยง (credit spread) ของหุ้นกู้อายุ 5 ปี อันดับเครดิตเรตติ้งต่ำกว่า AA ปรับลดลงในครึ่งปีแรก และทุกเรตติ้งยกเว้น BBB+ อยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนโควิด

“ปัจจุบันไทยมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกับอเมริกาอยู่ประมาณ 1.25% และถ้าเดือน ก.ค. 65 ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ขยับดอกเบี้ยอีก 0.75% จะทำให้ส่วนต่างสูงกว่า 2% ขณะที่ปัจจุบันพบว่าบอนด์ยีลด์ระยะสั้น (อายุต่ำกว่า 1 ปี) ในรุ่นอายุ 6 เดือน ขยับขึ้นมาแล้ว 25 bps ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดหนึ่งที่ซึมซับว่าตลาดเชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมรอบเดือน ส.ค. น่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย”

16 บริษัทผิดนัดชำระหนี้

ด้าน นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ปีนี้ระหว่างทางอาจจะมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงโควิด จึงอาจเห็นสัญญาณหุ้นกู้มีปัญหามากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจท่องเที่ยวที่ต้องใช้เวลากว่าจะกลับมาได้ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้อยู่ประมาณ 16 บริษัท

อย่างไรก็ตาม บริษัทเหล่านั้นมีความพยายามในการแก้ไขปัญหา ซึ่งอาจจะมีที่ไม่ใช่หุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ แต่คล้าย ๆ เอ็นพีแอลของธนาคารที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการยืดชำระหนี้ออกไป เพื่อให้บริษัทมีกระแสเงินสดกลับมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันหุ้นกู้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการขอยืดหนี้ ประกอบด้วย 1.ช ทวี(CHO) 2.เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ (CHOW) 3.ซิซซา กรุ๊ป (CISSA) 4.คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ (CGD) 5.เดซติเนชั่น รีสอร์ทส์ (DR) 6.จี แคปปิตอล (GCAP) 7.ไอริส กรุ๊ป (IRIS) 8.เจ.เอส.พี.พร็อพเพอร์ตี้ (JSP)

9.เจซี เควิน ดีเวลลอปเม้นท์ (JCKD) 10.เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล (JCK) 11.พี พี ฮอลิเดย์ (PPH) 12.ภูเก็ตแฟนตาซี (PHUKET) 13.พีพี ไพร์ม (PPPM) 14.สยามนุวัตร (SNW) 15.ไทย บอนเนต เทรดดิ้ง โซน (TBTZ) และ 16.วอเตอร์เกท โฮเต็ล (WGH)

เตือนรู้ความเสี่ยงก่อนลงทุน

นางสาวอริยากล่าวต่อว่า การลงทุนหุ้นกู้สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุด คือ 1.ประเมินความเสี่ยงจากการไม่ได้เงินคืน หรือ credit risk ที่เกิดจากการเบี้ยวหนี้ ต้องรู้จักว่าผู้ออกหุ้นกู้เป็นใคร ธุรกิจมั่นคงพอที่จะมีกระแสเงินสดมาจ่ายคืนดอกเบี้ยและเงินต้นได้หรือไม่ ถ้าจะซื้อไฮยีลด์บอนด์เพื่อผลตอบแทนสูง ต้องรับรู้ความเสี่ยงเหล่านี้ และที่สำคัญ การซื้อต้องกระจายความเสี่ยง

2.หากถือไม่ครบกำหนด ขายคืนระหว่างทางอาจจะต้องขายขาดทุน ได้ราคาน้อยกว่าเงินต้นได้ จากราคาตลาดที่เคลื่อนไหวขึ้นลงได้ และ 3.สภาพคล่องในตลาดรองน้อย เช่น หุ้นกู้ไม่มีกำหนดอายุอย่าง perpetual bond ที่ไม่ค่อยมีใครรับซื้อต่อ

“ในปีนี้ถือว่าผู้ออกหุ้นกู้ส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความมั่นคงสูง จึงเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้น้อย ขณะที่หุ้นกู้เสี่ยงสูงอย่างน้อยก็ถูกจำกัดการลงทุนได้เฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ (HNW) ซึ่งปัจจุบันก็ค่อนข้างมีความรู้และกระจายความเสี่ยงลงทุนมากขึ้น”

ขณะที่ปีนี้ผู้ออกหุ้นกู้ไฮยีลด์บอนด์ช่วงครึ่งปีแรกกว่า 5.1 หมื่นล้านบาท และพบว่ามีสัดส่วนของหุ้นกู้ที่มีหลักประกันลดลงเหลือ 54% จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 68% ซึ่งยังบอกไม่ได้แน่ชัดมากว่าสะท้อนถึงสภาพสินทรัพย์ที่มีปัญหา ต้องพิจารณาเป็นรายบริษัท โดยผู้ออกส่วนใหญ่นำเงินไปรีไฟแนนซ์และคืนเงินกู้แบงก์ เพราะดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นจึงต้องล็อกต้นทุนดอกเบี้ยคงที่เอาไว้

3 ปัจจัยหนุนแห่ออกหุ้นกู้

นายรณฤทธิ์ วิระชะนัง ผู้บริหารงานตลาดทุนธนกิจ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ครึ่งปีแรกของปี’65 มียอดออกหุ้นกู้ใหม่ในระบบกว่า 6.6 แสนล้านบาท ประเมินแนวโน้มครึ่งปีหลังอาจจะใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก เพราะมีบริษัทที่เตรียมจะเสนอขายหุ้นกู้อีกค่อนข้างมาก ทั้งปีน่าจะมียอดออกหุ้นกู้ราว 1.2 ล้านล้านบาท เติบโตเกือบ 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

จาก 3 ปัจจัยสำคัญคือ 1.ภาคธุรกิจมีความต้องการของเงินทุนหลังเริ่มเปิดประเทศ กิจกรรมลงทุนของหลาย ๆ บริษัทกลับมา จึงต้องระดมทุนเพื่อเตรียมกระแสเงินสดไว้รองรับ 2.เทรนด์อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น กดดันให้หลาย ๆ บริษัทต้องเปลี่ยนวิธีระดมทุนจากเคยกู้แบงก์ได้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว ก็หันมาออกหุ้นกู้ซึ่งได้อัตราดอกเบี้ยคงที่ เพื่อล็อกต้นทุน

และ 3.ตลาดดอลลาร์มีความผันผวนสูง เห็นได้จากที่รัฐบาลยกเลิกแผนศึกษาเตรียมออก dollar bonds มองว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงประเทศได้ ขณะเดียวกันก็กดดันให้บริษัทขนาดใหญ่ที่เคยออกหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์หันมาออกหุ้นกู้ในประเทศแทน จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มซัพพลายเข้ามาในตลาดด้วย

“CPALL-CPF-ทรู” ชักแถว

นายรณฤทธิ์กล่าวว่า ถือว่าช่วงนี้ตลาดมีของค่อนข้างมาก ผู้ลงทุนมีทางเลือกลงทุนมากขึ้น ทั้งจากการประเมินเรื่องอัตราดอกเบี้ย หรือชื่อเสียงของแต่ละบริษัท จึงอาจจะเป็นภาระทางฝั่งผู้ออกหุ้นกู้ที่ต้องหาจุดขาย เพราะหากสู้คู่แข่งไม่ได้อาจทำให้หุ้นกู้ของบริษัทขายไม่หมดได้

ปัจจุบันเห็นสัญญาณบางบริษัทปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มซีพีที่เตรียมขายหุ้นกู้ในครึ่งปีหลัง ทั้ง บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) และ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) โดย CPALL เตรียมขายหุ้นกู้รุ่นอายุ 7 ปี ให้นักลงทุนทั่วไป ประกาศดอกเบี้ยระหว่าง 3.65-3.80% ต่อปี

ส่วน CPF ประกาศหุ้นกู้รุ่นอายุ 6 ปี และอายุ 8 ปี นักลงทุนทั่วไป กำหนดดอกเบี้ยระหว่าง 3.60-3.75% ต่อปี และดอกเบี้ย 3.79-4.14% ต่อปี (ตามลำดับ) ซึ่งต้องรอประกาศไฟนอล ขณะที่หุ้นกู้รุ่นอายุ 4 ปี ที่เสนอขายนักลงทุนรายใหญ่/สถาบันยังไม่ประกาศดอกเบี้ย

ด้าน TRUE ก็เตรียมขายหุ้นกู้ 4 รุ่น แต่ยังไม่ประกาศดอกเบี้ย รวมถึงบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาฯของนางทิพพาภรณ์ (เจียรวนนท์) อริยวรารมย์ ลูกสาวของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ก็มีคิวระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้อีกรอบ วงเงิน 8,000 ล้านบาท หลังจากเมื่อต้นปีเสนอขายไปรอบหนึ่งแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือ ซี.พี. เป็นการเสนอขายให้กับผู้ลงทุนทั่วไป (รายย่อย) โดยจัดคิวเสนอขายช่วงต้นเดือน ส.ค. โดยซีพี ออลล์ วงเงิน 14,000 ล้านบาท เริ่มเสนอขายตั้งแต่ 1-3 ส.ค. (ผู้ถือหุ้นกู้เดิม) และ 17-19 ส.ค.(ผู้ลงทุนทั่วไป) ซีพีเอฟ เสนอขาย 5-8 และ 9 ส.ค. และทรู เสนอขายวันที่ 10-15 ส.ค.นี้

“ไมเนอร์-ดุสิต” ขายหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์

นอกจากนี้ พบว่ามีผู้ประกอบการรายใหญ่ของธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว และค้าปลีก เตรียมออกขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (perpetual bond) หรือเรียกกันว่า “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” คือจะไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนดและมีสิทธิเลื่อนการชำระดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ คือ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ซึ่งเป็นการออกทดแทนหุ้นกู้เดิม ซึ่งจริง ๆ จะครบสิทธิไถ่ถอนคืนก่อนกำหนดในปี’66

และ บมจ.ดุสิตธานี (DUSIT) รวมทั้งบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด จะเป็นการออกใหม่เลย ซึ่งได้ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ไปแล้ว กรณีของ “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” การระดมทุนลักษณะนี้ถือว่าเป็นการช่วยฝั่งทุนบาลานซ์ฝั่งหนี้ได้ ในแง่ที่บริษัทต้องขยายงานหรือต้องกู้เงินเพิ่ม

กัลฟ์ระดมทุนหลายหมื่นล้าน

นายรณฤทธิ์กล่าวว่า ขณะที่ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เตรียมระดมทุนก้อนใหญ่หลายหมื่นล้านบาท แต่ยังไม่ได้ประกาศเม็ดเงินที่ชัดเจนออกมา ซึ่งรอบนี้ออกหุ้นกู้ 6 ชุด เสนอขายให้กับนักลงทุนหลายกลุ่ม ทั้งนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน โดยกัลฟ์มีพอร์ตค่อนข้างใหญ่มาก

ฉะนั้นต่อไปการระดมทุนวงเงินก้อนใหญ่จะกลายเป็นเรื่องที่ปกติมาก ซึ่งที่ผ่านมาระดมทุนนำเงินรีไฟแนนซ์แบงก์ที่กู้ไปลงทุนในโครงการต่าง ๆ

ส่วนกลุ่ม ปตท. ครึ่งปีหลังน่าจะน้อยลง เพราะระดมทุนไปค่อนข้างมากแล้วเมื่อช่วงต้นปี’65 ขณะที่กลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี อาจเห็นการระดมทุนไม่มากเช่นกัน เพราะปกติที่จะเสนอขายหุ้นกู้มี 2 แห่ง คือ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งเมื่อต้นปีมีครบกำหนดก็จ่ายเงินคืนลูกค้าไปแล้ว ไม่ได้ออกใหม่ เพราะที่ผ่านมาถึงแม้มีล็อกดาวน์ แต่ธุรกิจมีกระแสเงินสดจากยอดขายที่โตได้พอสมควร

และ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) น่าจะระดมทุนแค่รีไฟแนนซ์หนี้เดิมที่ครบกำหนด ซึ่งต้นปีออกไปแล้ว 5 พันล้านบาท และช่วงปลายอาจมีการออกอีกก้อนหนึ่งที่ครบกำหนด แต่ไซซ์ไม่ใหญ่

กรุงไทยมาแรง “เป๋าตัง” หนุน

นายรณฤทธิ์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันนี้กสิกรไทยถือว่าครองมาร์เก็ตแชร์ในการจัดจำหน่ายหุ้นกู้เป็นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 17-18% ของยอดขายหุ้นกู้ใหม่ แต่ปีนี้ต้องยอมรับว่าธนาคารกรุงไทยมาแรงมาก เพราะกระโดดจากอันดับ 4 ขึ้นมาอยู่เบอร์ 2 เพราะกรุงไทยมีออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิช่วงต้นปี 1.8 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ การขายหุ้นกู้บนแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ก็ถือว่าช่วยให้เรียกความสนใจจากนักลงทุนรายย่อยได้ค่อนข้างมาก แต่จริง ๆ นักลงทุนทั่วไปจะทราบว่าก็เหมือนการลงทุนหุ้นกู้ทั่วไป และโดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีขายสลากดิจิทัลยิ่งทำให้คนสนใจกว่าเดิม

นอกจากนี้ ล่าสุดทางบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เสนอขายหุ้นกู้อายุ 2 ปี 10 เดือนให้ประชาชนรายย่อยผ่านแอปเป๋าตัง วงเงิน 5,000 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 26-27 ก.ค.นี้