กรุงศรีฯคาดเงินบาทซื้อขาย 35.80-36.30 บาท/ดอลลาร์ มองเฟดขึ้นดอกเบี้ย ก.ค.

ค่าเงินบาท

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 35.80-36.30 บาทต่อดอลลาร์ หลังเฟดประกาศชัดเจนขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ มองรอบประชุมเดือนก.ค.ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% พร้อมระบุธปท.คาดแรงกดดันเงินบาทอ่อนค่าปรับตัวตามภาคการท่องเที่ยวและกลับทิศ

วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.80-36.30 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 36.02 ต่อดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 35.62-36.36 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 ปีครึ่ง

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 1,344 ล้านบาท และ 791 ล้านบาท ตามลำดับ เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเงินยูโรร่วงลงแตะจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 20 ปีท่ามกลางวิกฤติราคาก๊าซธรรมชาติ อีกทั้งเยอรมันเปิดเผยยอดขาดดุลการค้าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2534

นอกจากนี้ ผู้ร่วมตลาดยังกังวลกับนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) หลังประธานธนาคารกลางเยอรมันไม่เห็นด้วยกับแผนของอีซีบีในการช่วยเหลือประเทศที่มีปัญหาหนี้สินสูงในยูโรโซนเพื่อไม่ให้ได้รับความเสียหายจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ทางด้านรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ประจำวันที่ 14-15 มิ.ย. ระบุว่าภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงขึ้นส่งผลให้เฟดสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 75bp และเฟดแสดงท่าทีหนักแน่นต่อการควบคุมเงินเฟ้อ

ขณะที่เงินเยนได้รับแรงหนุนเข้ามาบ้างเล็กน้อยในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ส่วนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 12 สัปดาห์ขณะที่นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ทางด้านราคาทองคำดิ่งลงสู่จุดต่ำสุดในรอบกว่า 9 เดือน โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีมองว่าตลาดจะให้ความสนใจกับตัวเลขเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย.ของสหรัฐฯ หลังการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย.ออกมาสูงเกินคาดซึ่งทำให้นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค. แต่ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับขนาดของการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจ พัฒนาการของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และภาวะตลาดการเงิน

สำหรับปัจจัยในประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 7.66% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 14 ปี ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงานเพิ่มขึ้น 2.51% ซึ่งทั้ง CPI และ Core CPI สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่าแนวโน้มเงินเฟ้อในไตรมาส 4/65 จะลดลง


ส่วนธปท.ประเมินว่าค่าเงินบาทสะท้อนถึงการคาดการณ์ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยและการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้แรงกดดันที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าอาจลดลงตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่คลายตัว สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ว่าเงินบาทอาจกลับทิศในระยะถัดไป