KKP เตือนรับมือ 4 ปัจจัยเสี่ยง “เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยขาขึ้น” กระทบครัวเรือน-ธุรกิจ

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

KKP Research ส่องเศรษฐกิจก่อน-หลังโควิด-19 เปลี่ยนโฉม “ดอกเบี้ยสู่ขาขึ้น-ปัญหาความขัดแย้งปะทุ-เงินเฟ้อพุ่ง” เตือนรับมือ 4 ปัจจัยเสี่ยง ระบุ 4 เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ถดถอย กดส่งออกชะลอ-ต้นทุนแพงกระทบครัวเรือน-ภาคธุรกิจ คาด กนง.ปรับดอกเบี้ย 0.50% พร้อมประเมินกรณี “สหรัฐ-จีน” สร้างความไม่แน่นอนการค้า-การลงทุน

วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยและโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมากในช่วงก่อนและหลังโควิด-19 ซึ่งเป็นความท้าทายของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงมีอยู่ 2-3 ข้อ

ได้แก่ รูปแบบการค้าที่เปลี่ยนไป จากห่วงโซ่อุปทานโลกที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อการค้าโลกที่ชะลอตัวลง 2.ปัญหาความขัดแย้งระหว่างภูมิภาค หรือ Geopolitics ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะรัสเซีย-ยูเครนที่เป็นความขัดแย้งที่ใหญ่ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

และ 3.ปัญหาเงินเฟ้อ จะเห็นว่าในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมาโลกอยู่ในภาวะเงินเฟ้อต่ำมาอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากเกิดปัญหาความขัดแย้ง ส่งผลต่อราคาน้ำมัน ทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ซึ่งส่งผ่านต่อดอกเบี้ยที่เคยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานปรับสู่ดอกเบี้ยขาขึ้น เช่น สหรัฐ ก่อนโควิด-19 ดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 10% และทยอยปรับลดลงเหลือเพียง 1% และหลังจากนี้จะปรับสู่ช่วงขาขึ้นอีกครั้ง

ดังนั้น จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มองไปข้างหน้าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังอยู่ในช่วงค่อย ๆ ฟื้นตัว และเติบโตค่อนข้างต่ำ โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะเติบโตได้ 3.3% โดยมาจากการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ การขยายตัวของการส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก การท่องเที่ยวที่กลับมามากกว่าที่คาด และรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยง 4 เรื่องใหญ่ที่ต้องติดตาม คือ 1.เงินเฟ้อที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทั่วโลกเผชิญ ส่งผลให้เศรษฐกิจที่เปราะบางได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและมีปัญหาฐานะการเงิน และภาคธุรกิจที่ส่งผ่านต้นทุนไม่เต็มที่อาจกระทบต่อกำไร (Margin) ได้ 2.ดอกเบี้ย แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยสื่อสารว่าการปรับขึ้นจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะกระทบต้นทุนการเงิน ซึ่งมีผลต่อการลงทุนและการบริโภคได้

“การขึ้นดอกเบี้ยขึ้นอยู่ว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในครั้งหน้า 10 ส.ค.นี้ จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% หรือ 0.50% เพราะเงินเฟ้อสูงกว่า 7% และยังไม่พีกคาดว่าจะสูงขึ้นอีก ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ยไทยอยู่ที่ 0.50% ต่ำกว่าเงินเฟ้อ จึงมีความจำเป็นต้องถอนเท้าจากคันเร่งมากขึ้น และธนาคารกลางอื่น ๆ ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบแอ็กเกรสซีฟมากขึ้น จึงเป็นแรงกดดัน ธปท.ในการปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งส่วนต่างก็เป็นประเด็นสำคัญของเงินไหลออก และบาทอ่อน โดยเรามองว่า กนง.น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมครั้งหน้า แต่ ธปท.ก็คงห่วงหากปรับขึ้นเร็วเกินไป”

ความเสี่ยงที่ 3.ปัจจัยภายนอก โดยเศรษฐกิจใหญ่ ทั้งสหรัฐ สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น กำลังจะเข้าสู่ปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัว ซึ่งหากทั้ง 4 ภูมิภาคเข้าสู่ Recession จะกระทบต่อภาคการส่งออก เพราะไทยมีสัดส่วนการส่งออกในกลุ่มประเทศเหล่านี้มากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 50% ของการส่งออกทั้งหมด และ 4.ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งคาดเดาไม่ได้ และอาจจะกระทบระยะสั้น

“ในช่วง 2-3 ปีเราเจอปัญหาวิกฤตซ้อนวิกฤต ซึ่งเศรษฐกิจไทยปี 90 เคยเติบโตเฉลี่ย 7% และลดลงมาเหลือ 5% และก่อนโควิดเหลือกว่า 3% ส่วนการฟื้นตัวหลังจากนี้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเติบโตช้าลง ทั้งเรื่องกับดักรายได้ปานกลาง ความสามารถในการแข่งขัน ปัญหาหนี้ครัวเรือน และความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะต้องได้รับการดูแลและปรับเปลี่ยน เพราะเรากำลังมีปัญหาโครงสร้างประชากร หรือแก่ก่อนรวย เราจึงปรับตัวทางเศรษฐกิจ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มผลิตภาพ หรือ Productivity นอกจากดูระยะสั้นแล้ว เราต้องปรับตัวระยะยาว เพื่อเข้าสู่การเติบโตช้าลง”

ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นการเดินทางเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนสหรัฐอเมริกานั้น มองว่า เป็นประเด็นที่เพิ่มความตึงเครียด และการเผชิญหน้าจะมีมากขึ้น โดยเป็นการเพิ่มบรรยากาศความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลให้คนเกิดความกังวลและมีผลต่อการตัดสินใจด้านการค้าและการลงทุน

โดยจะเห็นว่าทั้งสหรัฐ และจีน ถือเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยทั้งคู่ และอาจทำให้ไทยต้องอยู่ในภาวะที่ต้องตัดสินใจเลือกข้างหรือไม่ อย่างไรก็ดี ในอีกทางหนึ่งจะมีผลดีต่อไทย อาจจะมีการตัดสินใจย้ายการลงทุนมาไทยได้เช่นกัน แต่เบื้องต้นจากประเด็นดังกล่าวสร้างความไม่แน่นอนมากขึ้น


“มองว่าเพิ่มบรรยากาศความไม่แน่นอน เพราะสหรัฐ และจีนเชื่อมโยงการค้าและลงทุนระหว่างกันกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจส่งผลต่อการค้าโลก และจีนเองก็มีบทบาทที่ช่วยบาลานซ์ปัญหาระหว่างรัสเซียและยูเครน จึงเป็นเรื่องที่ต้องดูต่อ”