ทองคำจะกลับขึ้นไปแตะ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อีกเมื่อไหร่ ?

ทองคำ

คุยกับ “ณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย  บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด จับทิศทางราคาทองคำมีโอกาสขึ้นไปแตะ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อีกเมื่อไหร่ ? พร้อมปัจจัยและกลยุทธ์การลงทุนทองคำ

วันที่ 8 สิงหาคม 2565  จับทิศทางราคาทองคำหลังหลุดกรอบ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์มาเป็นเวลาร่วม 5 สัปดาห์  หลังจากนี้ทองคำจะมีโอกาสกลับขึ้นไปแตะ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกหรือไม่  พร้อมมุมมองและปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำในช่วงที่เหลือของปีนี้  Prachachat Wealth เล่าเรื่องการลงทุน EP.28 พาพูดคุยกับ “ณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์”  ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย  บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด

Q : ประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมาทองคำลงหลุด 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ลงไปอยู่ประมาณ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากนี้ปัจจัยต่าง ๆ ที่มันกระทบทองคำจะยังไงบ้างคะ ว่ามีโอกาสทำให้ราคาทองคำเคลื่อนไหวยังไงบ้าง

ทางโกลเบล็กเราก็มองว่าทองคำได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว  ด้วยปัจจัยที่เราไปติดตามมาก็จะเป็นพวกธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ทั้งธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่ติดตามมาตั้งแต่ต้นปีขึ้นดอกเบี้ยมาประมาณซัก 2.25% ทางธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็เริ่มขึ้นดอกเบี้ยด้วยเช่นกันขึ้นมาจากต้นปี 0.5% จริง ๆ เพิ่งเริ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แล้วก็ทำแบงก์ชาติของอังกฤษขึ้นมา 1% แล้วก็คืนนี้ (ณ 4 ส.ค.65) มีโอกาสที่จะขึ้นอีก 0.5%

ส่วน 2 ธนาคารที่ยังไม่ขึ้นจะเป็นธนาคารกลางญี่ปุ่นกับตัวธนาคารกลางของไทยที่ยังคงดอกเบี้ย ตอนนี้เราก็มองว่าทองคำได้รับรู้เกี่ยวกับประเด็นลบในการขึ้นดอกเบี้ยไปพอสมควรแล้ว เพราะว่าถ้าไปติดตามการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ส่งผลกระทบกับราคาทองคำไปมากที่สุดตอนจังหวะที่เขาขึ้น 0.5% และ 0.75%

หลายคนกังวลว่าจะขึ้นไปถึง 1% ต่อการประชุม 1 ครั้ง  แต่ตอนนี้สัญญาณมันชะลอเรียบร้อย ก็คือเรียกว่าต่อจากนี้น่าจะเป็นแค่ 0.75% หรือ 0.5% จะไม่ได้เร่งไปถึง 1% ได้มากนัก

เนื่องจากว่าเศรษฐกิจสหรัฐเขาเริ่มชะลอตัวในไตรมาส 1 ออกมาติดลบ 1.6% ไตรมาส 2 ติดลบ 0.9% ตรงนี้ก็เลยทำให้เขาไม่น่าจะเร่งขึ้น  ถ้าเขาไม่เร่งขึ้นดอลลาร์ก็ไม่น่าจะแข็งค่าได้เร็วเหมือนเดิมแล้ว   แล้วก็ทองก็น่าจะเรียกว่ารับรู้ข่าวด้านเกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหรือการดึงสภาพคล่องออกไปพอสมควรแล้ว

ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่เราติดตามอย่างหลายท่านจะถามเข้ามาก็คือตัวสงครามยูเครนกับรัสเซีย ตัวนี้ต้องบอกว่าเข้ามาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 อันนี้คือผ่านมา 3-4 เดือนแล้ว ก็เรียกว่ายังรบกันไม่จบสักที แล้วก็มีข่าวยิงกันตลอดเวลาแบบนี้ต้องบอกเลยว่าข่าวรับรู้ไปเรียบร้อยแล้วเพราะว่ามันไม่ได้รุนแรงหรือไม่ได้ขยายวงกว้างยังอยู่แค่ 2 ประเทศ  ตัวนี้ก็มองไม่ได้กระทบมากนัก

ส่วนเงินเฟ้อที่หลาย ๆ คนมองว่าลงตัวอยู่ในระดับสูงมาก ๆ ยังจะหนุนต่อราคาทองคำไหม เป็นประเด็นที่ 3 เราก็มองว่าตัวเงินเฟ้อจะไม่ได้สูงต่อเนื่องแบบในอดีตแล้วเพราะว่าพอเราไปรื้อส่วนประกอบของเงินเฟ้อประมาณ 30-40% มาจากราคาน้ำมัน ถ้าราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวลงตัวเงินเฟ้อมันก็จะค่อย ๆ อ่อนตัวลงด้วย แต่ถามว่าจะลงแบบ Inverted-V เลยไหม เรามองว่าไม่น่าจะเป็น Inverted-V แต่ว่าจะเป็นในลักษณะค่อย ๆ ซึมลง  ตัวนี้ก็กระทบอย่างไรต่อทองคำก็แปลว่าถ้าเงินเฟ้อไม่ได้เร่งตัวขึ้นเร็ว ๆ ทองคำที่ปกติในฐานะสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อมันก็จะได้รับความสนใจน้อยลงด้วย

Q : แล้วอย่างนี้ทองคำมีโอกาสที่จะเห็นขึ้นไปแตะ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกไหมคะในปีนี้

ที่เราประเมินไว้ช่วงที่เหลือของครึ่งปีหลัง เรามองว่าทองคำน่าจะเป็นลักษณะ sideway up แนวรับให้กรอบใหญ่ 1,700 -1870 ดอลลาร์ต่อออนซ์  โดยปัจจัยที่เราเล่าไปทั้งหมดเป็นปัจจัยที่เคยเป็นลบ   บางปัจจัยเป็นบวกแต่รับข่าวไปหมดแล้ว ปัจจัยใหม่ ๆ  ที่เรามองว่ามีโอกาสที่จะเข้ามากระทบ ก็คือในส่วนของตัวสงครามใหม่ ๆ อย่างตอนนี้ที่ผ่านมาพอถ้ารัสเซียยึดยูเครนได้สำเร็จ สหรัฐไม่ได้ยุ่งมากมาย จีนจริง ๆ เขาก็อยากได้นโยบายจีนเดียวเหมือนกัน เขาก็เตรียมที่จะอย่างตอนนี้ก็จะเห็นชัดเจนเลยว่าถ้าพูดถึงจีนกับฮ่องกงก่อน

ที่ก่อนหน้านี้บอกว่า 1 ประเทศ 2 ระบบ พอตอนนี้มันไม่ 1 ประเทศ 2 ระบบแล้ว คือเขาพยายามกินฮ่องกงเข้าไปเลย ทั้งเปลี่ยนผู้นำจากคุณแคร์รี แลม เป็นคนใหม่  อย่างคุณสีจิ้นผิงบอกว่า ไม่มีการเดินทางออกนอกประเทศมา 8 ปีแล้ว เขาไปเยือนฮ่องกงอันนี้บ่งชี้ว่าอะไร  ปกติเขาก็ไม่ได้ไป การที่ไปเขาบ่งชี้ว่าส่งสัญญาณว่าฮ่องกงไม่ใช่ประเทศอื่นแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของจีนเรียบร้อยและเขาก็ยังมองว่าไต้หวันก็เป็นส่วนหนึ่งของเขาด้วยเช่นกัน

ตอนนี้ถ้ารัสเซียจัดการยูเครนได้  แล้วสหรัฐไม่ได้ยุ่งหรือไม่ได้ทำให้มันลุกลามถ้าจีนก็มองว่ามีโอกาสที่จะเตรียมดึงไต้หวันกลับมาด้วยเช่นกัน ก็ถ้าตัวนี้ปะทุรุนแรงจีนกับไต้หวันถ้าสู้กันเรามองว่ามีโอกาสเกิน 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์  ถ้าสหรัฐเข้ามาร่วมด้วย อาจส่งเรือรบเข้ามาแล้วมันขยายวงกว้าง 1,870 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจจะทะลุได้

Q : ประเด็นจีนอันนี้ที่พี่ณัฐวุฒิมองมันมีโอกาส เปอร์เซ็นต์ที่จะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน 

อันนี้ก็คือถ้ามองก็มีโอกาสเกิดขึ้นพอสมควรเลย  แต่ก็คือมองไปถึงช่วงปลายปีนี้  ถ้าปลายปีนี้ยังไม่เกิดมองว่าเปอร์เซ็นต์ที่เขาจะรบอาจลดลงแล้ว ทำไมถึงมองปลายปีนี้ เพราะมองว่าตอนนี้รัสเซียกับยูเครนสู้รบกันอยู่ ทุกคนพุ่งเป้าไปเพราะฉะนั้นเรียกว่าเกิดอีกสงครามหนึ่งขึ้นมาคนจะต้องแบ่งกำลังพลไป 2 ที่แล้ว อย่างนี้ถ้าเกิดรบตอนนี้จีนอาจจะมีภาษีดีกว่า ถ้ายูเครนกับรัสเซียยังรบไม่จบ แต่ถ้าปีหน้า  สมมติปีหน้ายูเครนกับรัสเซียเบื่อแล้วรบกันมาเกือบปี แล้วจบถ้าจบกลายเป็นทุกคนจะพุ่งเป้ามาที่จีนกับไต้หวัน อย่างนี้การที่คนจะส่งกำลังมาช่วยไต้หวันอาจจะเยอะก็เลยให้น้ำหนักว่าถ้าผ่านปีนี้ไปน้ำหนักที่เขาจะรบกันมองว่าน้อยแล้ว

Q : สำหรับการลงทุนถ้าเป็นกลยุทธ์การลงทุนทองคำในระยะสั้นหรือระยะกลาง  เราแนะนำอย่างไงบ้าง

สำหรับนักลงทุนตอนนี้เราต้องมองว่าเริ่มเปลี่ยนมุมมองหลังจากที่ราคาทองมันดีดขึ้นมาแรง ๆ กลายเป็นว่าข่าวร้ายมาเริ่มไม่กระทบแล้ว พอเริ่มมีข่าวดีชะลอการขึ้นดอกเบี้ยหรือเศรษฐกิจถดถอย คราวนี้เริ่มมีแรงซื้อหลุดกลับเข้ามา  เราก็ให้แนวรับที่ 1,700 บาท ถ้าย่อลงมาใกล้ ๆ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 1,700 – 1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์  มองเป็นจังหวะเริ่มทยอยซื้อสะสมได้


ส่วนแนวต้านก็แถว ๆ ที่น้องเบสถามเลยว่า 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์  ถ้าแถว ๆ นั้นหรือเกินขึ้นไปค่อยหาจังหวะขาย เพราะต้องบอกว่า ถ้าหลังจากนี้ราคาทองในไทยอาจจะไม่ได้เคลื่อนไหวได้แรงเหมือนก่อนหน้านี้ คำว่าแรงคือขึ้นได้แรง หรือลงจะลงไม่ค่อยแรง เพราะว่าเงินบาทอ่อน ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อันนี้อาจจะทำให้เงินบาทที่อ่อนจะเริ่มไม่อ่อน แปลว่าถ้าราคาทองขึ้น ไทยก็จะขึ้นได้น้อยกว่าราคาทองโลก แต่ในทางกลับกัน ถ้าทองโลกลงก็มีโอกาสที่จะลงได้มากกว่า