เทคนิครู้ทันตัวแทนประกันก่อนซื้อประกันชีวิตและสุขภาพ – ประชาชาติธุรกิจ

เทคนิครู้ทันตัวแทนประกัน

เทคนิครู้ทันตัวแทนประกันชีวิตและประกันสุขภาพ บ่อยครั้งที่เราอาจจะเจอตัวแทนประกันที่ไม่ถูกใจ จึงทำให้หลายๆ เสียงมองว่าประกันนั้นคือความหลอกลวง หรือไม่มีความจริงใจต่อการในการทำสัญญากรมธรรม์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สัญญาและเงื่อนไขต่างๆ ที่เกิดขึ้น ถูกร่างมาอย่างรัดกุม รอบคอบอย่างที่สุด เพื่อผลประโยชน์ของทั้งตัวผู้เอาประกันภัยเอง และการบริการที่อยู่ในขอบเขตของฝั่งบริษัทประกันภัย
ดังนั้นก่อนซื้อประกันสุขภาพใดๆ ก่อนตัดสินใจ เราจึงควรดูและรู้ทันในเทคนิคต่างๆ เหล่านี้

อย่าเพิ่งหลงดีใจกับความคุ้มค่าของโปรโมชั่น และผลประโยชน์ต่างๆ
ก่อนที่เราจะตื่นตาไปกับโปรโมชั่นต่างๆ ที่น่าสนใจ อย่าลืมสอบถาม หรือตรวจเช็คให้ดีว่าประกันดังกล่าวจัดอยู่ในรูปแบบของ
• ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (เน้นทำเพื่อลูกหลาน)
• ประกันแบบเงินได้ประจำ (เน้นทำประกันเพื่อการเกษียณ)
• แบบชั่วระยะเวลา (เน้นการคุ้มครองภัย จากการเสี่ยงชีวิต)
• แบบเงินได้ประจำ (เน้นออมเงินในระยะสั้น กลาง และระยะยาว)

ซึ่งผู้อ่านสามารถอ่านบทความเกี่ยวกับประเภท และประกันรูปแบบต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจก่อนเลือกซื้อได้ที่
ประกันสุขภาพและประกันชีวิตมีความจำเป็นแค่ไหน?

อย่าซื้อประกันเพราะโปรโมชั่น แต่ให้แน่ใจในวัตถุประสงค์ของตัวเอง
จริงอยู่ที่แต่ละบริษัทประกันนั้นออกแพ็คเกจประกันต่างๆ ออกมากมายจนจำได้แทบไม่หมด และแต่ละแพ็คเกจก็เต็มไปด้วยคำโปรย โปรโมชั่นล่อตาล่อใจต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นค่าเบี้ยประกันที่ถูกมากๆ ผลตอบแทนสูง ซึ่งสุดท้ายแล้ว เราจะต้องวนกลับเข้าไปหาวัตถุประสงค์ของตนเองว่า เราต้องการทำประกันนั้นๆ เพื่อเหตุผลอะไร ก่อนจะเลือกประกันที่ตรงกับวัตถุประสงค์มากที่สุด แล้วค่อยตามมาด้วยเรื่องของ การบริหารกรมธรรม์ ซึ่งเป็นตารางตัวเลขสรุปต่างๆ ที่เราจะต้องจ่ายเบี้ย ระยะเวลา และผลตอบแทนต่างๆ ในตารางแสนวุ่นวายนี้ต่างหาก คือหัวใจที่แท้จริงที่เราต้องอ่านอย่างละเอียด ไม่ใช่ตัวโปรโมชั่นที่กำลังได้รับการกระหน่ำโปรโมท

ก่อนซื้อให้ถามรูปแบบของประกันประเภทนั้นๆ ให้ชัดเจน ไม่ว่าจะถูกเชื้อเชิญด้วยผลประโยชน์ใดก็ตาม
อย่าให้เกิดความคลุมเครือเข้าใจผิดว่าคือเงินออม เพราะบ่อยครั้งที่เราอาจจะหลวมตัวซื้อประกันเพราะเข้าใจว่านี่คือเงินออม ที่ทำให้ได้รับผลประโยชน์จากการฝากเงินมากขึ้น โดยลืมสิ่งพื้นฐานไปเสียสนิทว่า ประกันที่เราได้มานั้นคือประกันในรูปแบบของอะไร วัตถุประสงค์ของประกันชนิดนี้ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเราหรือไม่
ซึ่งเหตุการณ์นี้มักเกิดขึ้นได้บ่อยๆ เมื่อเราไปทำธุรกรรมที่ธนาคาร แล้วทางพนักงานก็จะขายประกันจากทางธนาคารให้เรา แต่ไม่ได้แจ้งว่าเป็นประกันตรงๆ แต่ถูกแทนที่ด้วยชื่อเรียกว่าเป็นโครงการพิเศษ หรือ
โปรโมชั่นพิเศษจากทางธนาคาร ก่อนจะนำเสนอประโยชน์ของโปรโมชั่นในโครงการพิเศษนั้นๆ
(ซึ่งแท้จริงแล้วคือประกัน) เข้ามาชักชวนเราให้เราซื้อ

การถูกขอร้องให้ซื้อเนื่องจากเป็นญาติ หรือคนรู้จัก
กรณีนี้เกิดขึ้นได้บ่อย เพราะคนไทยยังคงมีความเป็นสังคมที่ใกล้ชิด และบอกผ่านกันแบบปากต่อปาก ซึ่งเราอาจจะเจอได้ทั้งรูปแบบของ

• การขายอย่างตรงไปตรงมา ในเชิงขอร้อง ซึ่งข้อดีของรูปแบบนี้คือมีการสื่อสารอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมาว่าการสนทนานี้คือการเจรจาซื้อขายประกัน แต่อีกนัยหนึ่งก็อาจจะถูกบีบด้วยการใช้ความเห็นใจ ความน่าสงสาร เนื่องจากเรามักจะเห็นใจคนรู้จักได้ง่าย และให้ความช่วยเหลือกันเพื่อไม่ให้เสียมิตรภาพของทั้ง 2 ฝ่าย

• การถูกขายทางอ้อม ในกรณีนี้เกิดการสื่อสารที่คลุมเครือ และอาจจะตามมาด้วยความลำบากใจในตัวผู้ซื้อ (หรือจะเรียกให้ถูกว่าผู้ที่กำลังถูกขาย เพราะยังไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้น) เพราะจุดประสงค์ในตอนแรกนั้น เป็นการสนทนาพูดคุยตามประสาคนรู้จัก จนกระทั่งกว่าจะรู้ตัวอีกที ก็ถูกหว่านล้อม ชักชวนให้ซื้อประกันเสียแล้ว

ความชัดเจนในการสื่อสารของการซื้อประกันเป็นเรื่องสำคัญ
หากการอ่านรายละเอียดสัญญากรมธรรม์เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยอย่างยิ่งยวดฉันใด ความชัดเจนในการตกลงทำสัญญาซื้อขายประกันก็ไม่ควรละเลยฉันนั้น เพราะการทำประกันนั้นมีผลในระยะยาว และเกี่ยวพันในหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
• เรื่องเงินในการชำระเบี้ยประกันที่จะตามมาทั้งในระยะสั้น กลาง ยาว
• ผลประโยชน์ที่ผู้เอาประกันตนจะได้รับ จากการทำประกันนั้นๆ

ก่อนจะได้มาซึ่งสองสิ่งนี้ การละเลยทั้งก่อนซื้อ ขณะทำสัญญา และหลังทำประกันผ่านแล้ว ทุกขั้นตอนล้วนต้องการความละเอียด รอบคอบ และวินัยสูงมาก ดังนั้นความชัดเจนในการสื่อสารระหว่างผู้เอาประกันตน ซึ่งก่อนหน้านั้นคือผู้ซื้อ และตัวแทนประกันฯ ต้องมีความชัดเจนและเข้าใจตรงกันสูง เพราะทุกๆ การเจรจานั้นเต็มไปด้วยความรับผิดชอบและผลกระทบที่จะตามมามากมาย

ซึ่งถ้าหากเราเกิดความรู้สึกเกรงใจ ก็ควรที่จะแจ้งออกไปตรงๆ แม้ว่าจะรู้สึกลำบากใจมากก็ตาม เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อมีการทำประกันผ่านแล้ว ผู้เอาประกันภัยจะต้องคอยติดต่อเอกสารหรือเดินเรื่องต่างๆ และเจอกับตัวแทนฯ ที่ทำการซื้อประกันด้วยอยู่เสมอ ยิ่งถ้าหากเป็นคนรู้จักกันแล้ว ยิ่งควรชัดเจนในการตกลงกันทำสัญญากันตั้งแต่ครั้งแรกที่สนทนา เพราะว่าเมื่อถอดหมวกของการเป็นตัวแทนบริษัทประกัน และหมวกของผู้เอาประกันตนออก ทั้งสองฝ่ายต่างก็เป็นคนรู้จัก คุ้นเคย และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนาน

ดังนั้น ความชัดเจนในการสนทนาเพื่อซื้อขาย จึงเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้คุยกัน เพราะราคาของมิตรภาพนั้นยังไม่มีประกันบริษัทไหนก็ยังออกมาคุ้มครองให้ได้