กทม.คุมเข้มสถานบริการ บูรณาการทราฟฟี่ ฟองดูว์ เช็กน้ำท่วม

ผับ บาร์ ร้านอาหารกลางคืน

กทม.เตรียมปรับระบบลูกจ้าง กทม. บูรณาการแผนที่น้ำท่วมเชื่อม Traffy Fondue และกำชับเขตตรวจเข้มสถานบริการ

วันที่ 8 สิงหาคม 2565 นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 16/2565

ภายหลังการประชุม รองผู้ว่าฯ วิศณุเปิดเผยว่า การประชุมผู้บริหารในวันนี้มีเรื่องในการประชุม 3 เรื่อง 1.การเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากร กทม. 2.การบูรณาการแก้ปัญหาน้ำท่วม 3.การตรวจสภาพสถานบันเทิง

วิศณุ ทรัพย์สมพล
วิศณุ ทรัพย์สมพล

เพิ่มประสิทธิภาพบุคลากร กทม.

การเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากร กทม. โดยจะมีการปรับระบบลูกจ้าง กทม. มี 3 ประเด็นหลัก คือ

1.การปรับระดับชั้นงานของลูกจ้างประจำ ซึ่งมีเรื่องขยายกรอบเงินเดือนเพิ่มขึ้น 4 ตำแหน่ง เช่น ตำแหน่งพนักงานเทศกิจ

2.ปรับมาตรการการเกษียณอายุราชการของลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว

3.การปรับการกำหนดกรอบลูกจ้างประจำเพิ่มใหม่ ซึ่งในปีหน้าจะมีการปรับใช้กรอบอัตราลูกจ้างประจำมาใช้กรอบอัตราลูกจ้างชั่วคราวแทนในบางส่วน เพื่อให้สามารถกำหนดกรอบอัตราลูกจ้างประจำเพิ่มใหม่ในปี 2566-2570 เป็นต้นไป สำหรับรายละเอียดหลักเกณฑ์ ก.ก.จะมีการพิจารณาอีกครั้ง นอกจากนี้ มีเรื่องการใช้องค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชมาช่วยส่งเสริมศักยภาพของเจ้าหน้าที่ กทม. ทั้งลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว พยายามให้มีการอบรมโดยใช้องค์ความรู้ที่เรามีให้มากขึ้น

เชื่อม Traffy Fondue เช็กข้อมูลน้ำท่วม

นายวิศณุกล่าวว่า อีกเรื่องหนึ่งคือการบูรณาการแผนที่น้ำท่วมในพื้นที่เส้นเลือดฝอย บริเวณจุดน้ำท่วมตามตรอก ซอก ซอย ที่ท่านผู้ว่าฯกทม. ให้ทางเขตรายงานเข้ามา ตอนนี้สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ได้พัฒนาระบบการนำเข้าข้อมูลเส้นทางน้ำท่วมจากสำนักงานเขต และสำนักการระบายน้ำผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

ตอนนี้อยู่ระหว่างพัฒนาระบบเพื่อเชื่อมต่อกับ Traffy Fondue เพื่อให้สามารถดูผลย้อนหลังได้ว่า ตำแหน่งน้ำท่วมบริเวณใดเกิดซ้ำซากบ้าง ปริมาณน้ำฝนเท่าไหร่ถึงจะท่วม เป็นต้น เพื่อจะได้หาทางป้องกันในอนาคต นี่คือการบูรณาการข้อมูลให้ออกมาเชิงแผนที่ และจะพยายามประมวลผลให้สื่อสารง่ายกับประชาชน ตอนนี้มีการปรับระบบให้สามารถนำเข้าข้อมูลผ่านมือถือ (Smart Phone) ได้ เพื่อการนำเข้าข้อมูลได้สะดวกรวดเร็วขึ้น นายวิศณุกล่าว

คุมเข้มสถานบันเทิง

นายวิศณุกล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าเรื่องสถานประกอบการ เมื่อเดือนที่แล้วได้ออกตรวจ 494 แห่ง มีการตรวจพบ 83 แห่งที่ยังไม่ถูกต้อง ตอนนี้ได้สั่งปิดไปแล้ว 3 แห่ง อยู่ระหว่างการดำเนินคดี 2 แห่ง ผู้ประกอบการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว 4 แห่ง ออกหนังสือให้แก้ไขแล้ว 12 แห่ง อยู่ระหว่างออกหนังสือแก้ไข 62 แห่ง

ด้าน ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า ตามนโยบายของท่านผู้ว่าฯกทม. ตั้งแต่เข้ามาบริหารกทม. มีเรื่องไฟไหม้อยู่บ้าง ทำให้มีการกวดขันเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากหลังสถานการณ์โควิด-19 สถานบริการเปิดมากขึ้น และมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น จึงมีการตรวจที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารทั้งหมด และลักษณะการใช้พื้นที่ด้วย

ทวิดา กมลเวชช
ทวิดา กมลเวชช

โดย 83 แห่งที่ตรวจพบว่าไม่ได้มาตรฐานอย่างที่ควรจะเป็น มีช่วงเวลาที่สถานประกอบการปรับปรุง บางรายได้ตักเตือนด้วยวาจาเพราะสามารถดำเนินการได้โดยเร็ว หรือที่พบว่าเป็นอันตรายไม่สามารถเปิดได้ ให้ปิดเพื่อแก้ไข หากไม่แก้ไขก็เปิดไม่ได้

ทั้งนี้ ก่อนคณะผู้บริหารชุดผู้ว่าฯชัชชาติ เข้ามา เดิมกทม.ใช้ ศบค.กทม. ในการตรวจสถานประกอบการอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาอาจเป็นการตรวจที่มุ่งเน้นในการตรวจโรค เรื่องการเป็นแหล่งแพร่เชื้อ หรือคลัสเตอร์ พอท่านผู้ว่าฯชัชชาติ เข้ามาบริหารกทม. จึงให้ตรวจในเรื่องของความปลอดภัยด้วย

สำนักเทศกิจและสำนักงานเขตต้องรายงานทุกอาทิตย์ ว่ามีสถานประกอบการที่ตั้งข้อสงสัยว่ามีการดำเนินการไม่ถูกต้องทั้งในเรื่องโรคและการประกอบการที่ไม่ถูกต้อง และอาจจะมีบางจุดที่มีความเสี่ยง เป็นการตรวจทุกอาทิตย์ ซึ่งการตรวจในแง่ของความปลอดภัยสามารถตรวจทั้ง 2 เรื่องไปพร้อม ๆ กันได้ โดยสำนักงานเขตมีการตรวจวนรอบทุกอาทิตย์ โดยมีรายละเอียดอยู่แล้วว่าร้านไหนเป็นอย่างไร ก็ช่วยทำให้เราติดตามได้มากขึ้น ผศ.ดร.ทวิดากล่าว

อีกส่วนหนึ่งคือ สำนักงานเขตมีแผนการตรวจในเรื่องของความปลอดภัยอยู่แล้ว นอกจากการตรวจของสำนักการโยธา ซึ่งเป็นการตรวจเรื่องโครงสร้าง การใช้พื้นที่ตามมาตรฐาน นอกจากนี้ ยังมีการตรวจร่วมกับสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแง่ของความปลอดภัย เช่น มีวัสดุมีความเสี่ยง สายไฟอยู่ใกล้กับหม้อแปลงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งสำนักงานเขตตรวจด้วย และยังมีที่สำนักงานเขตตรวจเองนอกจากรอบ 7 วัน เช่น ตรวจตามข้อร้องเรียนเพิ่มเติม พยายามอย่างยิ่งที่จะตรวจให้ครบทุกที่ที่มีข้อสงสัยให้ได้ และร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือหน่วยงานอื่นที่เป็นกองตรวจพิเศษ เพื่อให้รอบคอบและรัดกุมขึ้น

รองผู้ว่าฯ ทวิดากล่าวต่อว่า ที่สำคัญที่สุด ขอให้สถานประกอบการและประชาชนที่เข้าไปใช้บริการ ควรมีการสื่อสารที่เห็นได้ชัดเจน ประตูทางออกฉุกเฉินมีอยู่ตรงไหนบ้าง วัสดุมีอยู่ตรงไหนบ้าง ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะเมื่อถึงเวลาเข้าไปภายในร้านอาจจะมืด คนอาจจะเยอะ อยู่ดี ๆ อาจจะมีวัสดุกีดขวาง ทั้งที่ตอนไปตรวจทุกอย่างดี แต่พอเกิดอะไรขึ้นจะเกิดการสับสน เพราะฉะนั้นทางผู้ประกอบการก็ต้องทำสัญลักษณ์ต่าง ๆ ให้เห็นได้ชัด และต้องสื่อสารเวลาที่มีลูกค้าไปใช้บริการ ถ้าหากช่วยกันเชื่อว่าจะสามารถทำให้ปลอดภัยขึ้นได้

นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานครมีการตรวจทุกอาทิตย์ ตรวจทั้งสถานประกอบการและเรื่องของโควิด-19 โดยตรวจทุกเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัย ตั้งแต่ประตูทางเข้าจนถึงประตูทางออก ซึ่งผู้ว่าฯกทม. มอบนโยบายให้ตรวจทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อให้เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร และในช่วงเวลาเปิดบริการเป็นอย่างไร กำชับด้วยว่าห้ามเปิดเกินเวลาที่กำหนด และให้คำแนะนำผู้ประกอบการ จากการตรวจสอบล่าสุด ในส่วนของเขตจตุจักร มีร้านที่ไม่ได้มาตรฐาน 38 แห่ง

สำหรับสถานประกอบการที่ไม่ได้มาตรฐานและมีการแสดงดนตรีให้ยกเลิกการแสดงดนตรีทั้งหมดถ้าไม่ถูกต้อง เพราะจะไปคล้ายกับสถานบริการ ให้ขายอาหารได้อย่างเดียว