ศบค.จับตา 44 จังหวัดป่วยโควิดพุ่ง เปิดประเทศโกยรายได้แล้ว 5.5 แสนล้าน

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน (แฟ้มภาพ)

ศบค.ห่วง 44 จังหวัดยอดติดเชื้อโควิดกลับมาเพิ่ม พบลักษณะเป็น small wave ขณะที่ 33 จังหวัดทำได้ดียอดป่วยลดลง จี้ลดกลุ่มป่วยหนัก-ใส่ท่อช่วยหายใจ เผยไทม์ไลน์ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ลดบทบาท ศบค. มีผล 1 ตุลาคม 2565 ปลื้มหลังผ่อนคลายมาตรการ-เปิดประเทศ ต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากว่า 1 ล้านคน  ล่าสุดโกยรายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศแล้วกว่า 5.5 แสนล้าน

วันที่ 19 สิงหาคม 2565  นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ( ศบค. ) แถลงภายหลังการประชุมศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค. เป็นประธานว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ. )ได้รายงานภาพรวมการติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกลดลง ส่วนของไทยจะเห็นภาพคล้ายกัน พบว่าการรักษาตัวที่โรงพยาบาลลดลง และการเสียชีวิตทรงๆ ไม่มีนัยะสำคัญที่แตกต่างไปจากเดิม

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อ-เสียชีวิตทั่วโลก

จี้เร่งลดตัวเลขผู้เสียชีวิต

วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยรายใหม่ (รักษาตัวใน รพ.) จำนวน 2,110 ราย ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 อยู่ที่ 2,406,875 ราย ส่วนตัวเลขผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่แต่ 2563 อยู่ที่ 4,630,310 ราย หายป่วยวันนี้ 2,028 ราย หายป่วยแล้ว 2,409,797 ราย หายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4.5 ล้านราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้นวันนี้ 27 ราย เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 31,971 ราย

“ตัวเลขผู้เสียชีวิตวันนี้นำมาสู่การป้องกัน มีการพูดในที่ประชุมกันพอสมควร ทำอย่างไรที่เราจะลดตรงนี้ลงได้อีกไหม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการป้องกัน หรือการใช้วัคซีน” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดล่าสุด 19 สิงหาคม 2565

สำหรับการติดเชื้อรายสัปดาห์ อยู่ที่ 15,293 ราย จำนวนปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจลดลง แต่การเสียชีวิตสะสมรายสัปดาห์ดูเหมือนว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 236 ราย จาก 195 ราย เมื่อดูข้อมูลการลงทะเบียนแบบกักตัวอยู่ที่บ้าน หรือลงทะเบียนในOPSI หรือผู้ป่วยที่ตรวจด้วย ATK รายงานผู้ป่วยในสัปดาห์ที่ 32 พบผู้ป่วยอยู่ที่ 218,042 ราย เฉลี่ยติดเชื้อวันละประมาณ 31,000 กว่าราย ใกล้เคียงกับตัวเลขเดือนที่แล้วหรือของเดือนกรกฎาคม

ยังพบการระบาดต่อเนื่อง

“หมายความว่า ยังมีการระบาดในกลุ่มประชากรของเรา ซึ่งโดยส่วนใหญ่อาการไม่มากนัก” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว และว่า

เมื่อมาดูรายละเอียดจำนวนผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่ย้อนหลังกลับไปดู พบว่า กลุ่ม 608 หรือกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ไม่ได้รับวัคซีน เสียชีวิต 117 ราย คิดเป็น 51% กลุ่มที่ไม่ใช่ 608 เสียชีวิต 4 ราย คิดเป็น 3% ได้รับวัคซีน 1 เข็ม เสียชีวิต 7 ราย คิดเป็น 3% วัคซีนเข็ม 2 ไม่ได้รับเข็มกระตุ้นและมีโรคประจำตัว อายุมาก 62 ราย

ซึ่งทั้งหมดจะต้องลงไปดูรายละเอียดเพื่อหาวิธีการป้องกัน โดยค่าอายุเฉลี่ยหรือค่ามัธยฐานของผู้เสียชีวิตจะอยู่ที่ 77.5 ปี ถึงแม้จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ แต่เราก็ไม่อยากให้ผู้สูงอายุเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่เราเราต้องรณรงค์กัน

เพราะฉะนั้น ปัจจัยสำคัญในการป้องกันซึ่งทั่วโลกยอมรับกัน คือเรื่องของการฉีดวัคซีน ตรงนี้ฝากเป็นข้อสรุปที่อยากให้พี่น้องประชาชน ลูกหลานที่ดูแลผู้สูงอายุ ฝากพาผู้สูงอายุมาฉีดวัคซีน โดยเฉพาะเข็มกระตุ้นที่จะช่วยได้มาก และช่วยได้เยอะทีเดียวขณะที่

สถานการณ์เตียงผู้ป่วยโควิด

อัตราการครองเตียง สธ.รับได้

ส่วนเรื่องสถานการณ์เตียง อัตราการครองเตียงอยู่ที่ 14.8% จำนวนผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยวิกฤตเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เกินศักยภาพการดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ยังสามารถดูแลได้

33 จังหวัดยอดป่วยลดลง

“ขอชื่นชม 33 จังหวัดที่สามารถควบคุมโรคในลักษณะที่ลดลงได้ อาทิ เชียงราย กำแพงเพชร พิษณุโลก พะเยา เพชรบูรณ์ ศรีสะเกษ แพร่ ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ อุทัยธานี สิงห์บุรี เพชรบุรี ชัยนาท นครพนม บุรีรัมย์ บึงกาฬ ตราด เป็นต้น ซึ่งก็ต้องขอร้องให้พี่น้องในจังหวัดเหล่านี้รักษาตัวเลขเหล่านี้เอาไว้” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

จับตา 44 จังหวัด เกิด Small Wave เพิ่ม

“ส่วนกลุ่มที่กำลังลดลง แต่มี small wave เพิ่มขึ้นบ้างยังมีอีก 44 จังหวัด นำโดย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี กาฬสินธุ์ กาญจนบุรี ชัยภูมิ สมุทรปราการ นครปฐม ตาก นราธวาส ลพบุรี ฯลฯ โดยตัวเลขของจังหวัดที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน (วงสีแดง) ไม่ว่าจะเป็น นครปฐม ตาก นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม หนองคาย ลพบุรี จะเห็นได้ชัดว่าตัวกราฟมันชันขึ้น ก็ขอความร่วมมือทุก ๆ ท่านได้ช่วยกัน โดยเฉพาะเรื่องของการสวมใส่หน้ากากอนามัย และทำอย่างไรที่จะให้คนต่างชาติที่เดินทางเข้ามาได้ใส่หน้ากากอนามัยด้วย ซึ่งก็จะเป็นเรื่องที่ดี”

 

“ป่วยหนัก-ใส่ท่อช่วยหายใจ” แตะเส้นสีแดง

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์การคาดการณ์ในส่วนของผู้ติดเชื้อรายใหม่เราอยู่ต่ำกว่าเส้นสีเขียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่พอไปดูผู้ป่วยอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจไปแตะที่เส้นสีแดง นั่นหมายความว่าในกลุ่มของคนที่มีโรคประจำตัวและอายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เชื้อลงไปถึงปอดระดับล่างเลย และรายที่เสียชีวิตก็ไปแตะที่เส้นสีแดง สอดคล้องกับกลุ่มที่ใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งตรงนี้ต้องช่วยกันในการพาไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นก็จะช่วยลดตรงนี้ได้

“ที่ประชุมได้เน้นย้ำเรื่องการสื่อสารว่า การเสียชีวิตยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องขอให้ทุกๆท่านได้รับทราบข้อมูลที่ตรงกัน หลายคนบอกว่าติดก็ติดไป ไม่เห็นเป็นอะไรเลย แต่ตัวเลขที่พวกเราในฐานะคนดูแลทางด้านสาธารณสุขก็ต้องดูแลและสะท้อนภาพในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งจะต้องป้องกันกันดี ๆ และคนที่แข็งแรงถึงแม้ยังแข็งแรงดีอยู่ แต่เรื่องของลองโควิด หรือพยาธิสภาพหลังการติดเชื้อมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นร่างกายและจิตใจมีอยู่ ซึ่งในต่างประเทศมีการตั้งคณะกรรมการติดตามเรื่องนี้เลย เพราะฉะนั้นการไม่ติดเชื้อดีที่สุด” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

 

ยันสถานการณ์เรื่องยามีพอ

ส่วนสถานการณ์ยาฟาวิพิราเวียร์ ยังเหลืออยู่ 5 ล้านเม็ด โมลนูพิลาเวียร์ เหลือ 6.7 ล้านเม็ด เพราะฉะนั้นยังคงมีเพียงพอ และแนวโน้มการใช้ยาในกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ต้องใช้อย่างมีเหตุผล ซึ่งโดยรวมแนวโน้มจากกราฟการใช้ยาลดลง ทั้งฟาวิพิราเวียร์ และโมลนูพิลาเวียร์ โดยรวมลดลง ประชาชนมีความเข้าใจดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้ยากับผู้ป่วยทุกราย เพราะโดยทั่วไปของไวรัส จะหายเองถ้าภูมิคุ้มกันดี ก็จะเก็บยาไว้ใช้สำหรับคนที่มีความเสี่ยงจริง ๆ

สถานการณ์ยารักษาดควิด-19

สำหรับการเตรียมความพร้อมเรื่องยา ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งรัดเรื่องการจดทะเบียน เราทำหน้าที่กันตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม องค์การเภสัชกรรมมีการสำรองยาและพยายามให้มีการกระจายยาไปยังคลินิกเวชกรรมให้ได้ โดยในเดือนกันยายนนี้ หน่วยบริการนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขก็จะมีการจัดซื้อยาให้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 และร้านยาสามารถจ่ายยาให้กับผู้ป่วยตามใบสั่งแพทย์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 นี้

“นี่คือสิ่งที่มีการกระจายการบริการลงไปในระดับของชุมชน สังคม ส่วนหน่วยบริการในกระทรวงสาธารณสุข เริ่มจัดซื้อยาตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 นั่นหมายความว่าจะมีความคล่องตัวมากขึ้น จะมีสต๊อกของตัวเอง สามารถจัดซื้อยาตามปริมาณผู้ป่วยที่ตัวเองต้องการ นี่คือสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุข นำเสนอต่อ ผอ.ศบค.”

 

กรอบนโยบายสู่ภาวะ Post Pandemic

เรื่องที่ 2 ความคืบหน้าการจัดทำกรอบนโยบายแนวทางปฏิบัติ และห้วงเวลาในการการดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะ Post Pandemic เพื่อการเฝ้าระวังและการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ทางอธิบดีกรมควบคุมโรคได้นำเสนอแนวคิดใน 2 ส่วน คือ การประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงและการป้องกัน มี 4 ประเด็น

1.ทั่วโลกยังมีการเพิ่มจำนวนของการติดเชื้อหลังจากที่โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 ระบาด เนื่องจากการกลายพันธุ์ที่รวดเร็ว แต่จำนวนผู้ที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน BA.1.2 หรือเดลต้า

2.ผลการสำรวจภูมิต้านทานของประชาชนไทย มีการไปสำรวจในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565 พบว่าประชาชนมากกว่า 90% มีภูมิต้านทานแล้ว

3.ข้อมูลศึกษาประสิทธิผลของวัคซีน พบว่าการฉีด 3 เข็มขึ้นไปในทุกสูตร สามารถป้องกันอาการรุนแรงและลดการเสียชีวิตได้กว่า 90% และต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 6 เดือน

4.คาดการณ์ว่าโควิด-19 จะมีลักษณะการเกิดโรคในประชากรคล้ายกับการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี แต่อาจมีการระบาดในบางช่วงเวลา โดยการป่วยที่รุนแรงและเสียชีวิตส่วนใหญ่จะเกิดกับกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน และกลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่ม 608 ที่มีโรคร่วม หรือได้รับวัคซีนไม่ครบ

ส่วนด้านการรักษา จะประเมินผู้ป่วยที่มีแนวโน้มไม่รุนแรง ยกเว้นกลุ่ม 608 และกลุ่มที่มีปัจจัยเสียงต่อโรค และไม่ได้รับวัคซีน การใช้ยาต้านไวรัส ควรให้เฉพาะกลุ่มที่มีอาการ หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ส่วนการจัดการสถานพยาบาล พิจารณาอาการผู้ป่วย ถ้าไม่มีอาการให้รักษาที่บ้าน ยกเว้นกลุ่มที่มีโรคประจำตัวร่วมกับปัจจัยเสี่ยงหรือกลุ่ม 608 หรือกลุ่มที่มีออกซิเจนในเลือกต่ำกว่า 94% ค่อยเอามาโรงพยาบาล

ส่วนระยะเวลาในการแยกกักตัว กรณีที่ไม่มีอาการหรือมีเพียงเล็กน้อย ให้แยกกักอยู่ที่บ้านได้ ใช้สูตร 5+5 คือแยกกักหลังตรวจพบอย่างน้อย 5 วัน จากนั้นให้ปฏิบัติตนแบบ DMH คือเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ ใส่หน้ากากอนามัย อย่างเคร่งครัดอย่างน้อยอีก 5 วัน

“เป้าหมายที่เราวางไว้คือให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัยและสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ และต้องสื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบ มีการเตรียมความพร้อมหากมีการระบาดผิดปกติกลับขึ้นมา” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวย้ำ

ตุลาคม ลดบทบาท “ศบค.”ลง

“ส่วนไทม์ไลน์กรอบแนวปฏิบัติด้านต่าง ๆ ตามห้วงเวลา ดังนี้ ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ยังคงใช้ระบบที่ทำอยู่ ส่วนเดือนตุลาคม คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จะมีการประกาศออกมา หากมีการระบาดเฉพาะพื้นที่ เมื่อมีเหตุจำเป็น โดยบทบาทของ ศบค.ก็จะโทนดาวน์ลง และทางศูนย์อีโอซี หรือศูนย์ปฏิบัติฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ/คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร จะเป็นคนที่นำไปสู่การทำงานลักษณะที่ทำกันอยู่เป็นประจำ นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น (ตารางกรอบแนวปฏิบัติ)

กรอบแนวปฎิบัติการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

“มีข้อสังเกตคือ ยังไม่มีการพูดคุยกันว่า เราจะยกเลิกเรื่องของ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือไม่ จะมีการประเมินกันต่อ เรายังมีเวลาประเมินถึงเดือนหน้า เพราะฉะนั้นตรงนี้ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนใด ๆ เพราะมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปจนถึงเดือนกันยายนอยู่แล้ว ซึ่งที่ประชุมก็รับทราบและตั้งเป็นข้อสังเกต รอดูสถานการณ์ต่อไปอีกระยะหนึ่ง และให้ทุกคนทำงานอย่างเต็มที่”

หากทุกคนต้องการให้มีการผ่อนปรนต่าง ๆ คงต้องคงสภาพการติดเชื้อ ป่วย ตาย ให้อยู่ในระดับสีเขียว เพื่อจะได้เปลี่ยนผ่านตรงนี้ไปให้ได้ ซึ่งที่ประชุมได้มอบให้ผู้เกี่ยวข้องจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านนี้ระหว่างที่เรายังมี ศบค.อยู่ และมอบให้กรมประชาสัมพันธ์ได้สื่อสารให้ประชาชนมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมถึงการปรับเปลี่ยนเตรียมพร้อมตามนโยบาย ซึ่งก็ต้องให้ทุก ๆ คนได้ช่วยกัน

คามก้าวหน้าวัคซีนรักษาดควิดของไทย

เผยความก้าวหน้าพัฒนาวัคซีนของไทย

เรื่องที่ 3 คือเรื่องความก้าวหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศ มีการรายงานว่า มีความคืบหน้าของวัคซีนของจุฬาฯ มีไบโอเน็ต มีใบยาของ สวทช. และขององค์การเภสัชกรรม มีความก้าวหน้าอยู่ 2 ระดับ คือของจุฬาฯ และขององค์การเภสัชกรรมที่มีความคืบหน้าพอสมควรซึ่งของจุฬาฯมีแผนที่จะขึ้นทะเบียนภายในปี 2567 ปี 2566 จะศึกษาในคลินิกในระยะที่ 3 ส่วนของทางองค์การเภสัชกรรม (GPO) จะทำวิจัยทางคลินิกในปลายปี 2565 และรอขึ้นทะเบียนในปี 2566 ซึ่งก็เป็นข่าวดีของคนไทย

เรื่องที่ 4 เป็นแผนการให้บริการวัคซีน ที่จะช่วยของการลดป่วย ลดการเสียชีวิตลงได้ ทางอธิบดีกรมควบคุมโรครายงานว่า ตอนนี้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เข็มที่ 2 ได้ไปแล้ว 80.6% เข็ม 3 อยู่ที่ 50% ส่วนนักเรียนเข็มที่ 2 ได้ไปแล้ว 80.4% แต่เข็ม 3 อยู่ที่ 22.4% ทางอธิบดีกรมควบคุมโรคได้แจ้งว่า ส่วนหนึ่งพอเปิดเรียนก็มีการติดเชื้อกันขึ้นมา เลยยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เลยทำให้ตัวเลขตรงนี้ต่ำลงไปบ้าง

ส่วนข้อมูลของคนที่กลัวการฉีดวัคซีน กลัวเรื่องผลข้างเคียง หรือมีอาการไม่พึงประสงค์ ล่าสุดเรามีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 142 ล้านโดส อาการที่เจอเยอะ ๆ คือมีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว ส่วนการเสียชีวิตคงที่อยู่ที่ 6 ราย มานานพอสมควรแล้ว ซึ่งถือว่าต่ำมาก ๆ

ก็อยากจะสื่อสารให้ทุกคนได้เข้าใจ ซึ่งก็อยากจะส่งมอบข้อมูลที่ถูกต้องไปให้ประชาชนได้รับทราบ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ขณะที่คนที่ไม่ได้รับวัคซีนนั้นเสียชีวิตเยอะที่สุด 5,260 ราย หรือคิดเป็น 56.12% ซึ่งเป็นข้อมูลที่ต้องมาวางแผนในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อไป รวมถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี ขณะที่วัคซีนคงคลังยังมีเพียงพอ 8 ล้านโดส ไม่ต้องจัดหาเพิ่มเติม

ผ่อนคลาย-เปิดประเทศ โกยรายได้แล้ว 5.5 แสนล้าน

เรื่องสุดท้าย ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการท่องเที่ยวและกีฬา (ศปก.กก.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานำเสนอว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความมั่นใจในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และประเทศไทยได้รับคำชื่นชมอย่างมาก สื่อต่างประเทศก็นำไปลงข่าว นักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความมั่นใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย

“กราฟเพิ่มขึ้นชัดเจน เดือนกรกฎาคม เดือนเดียวเดินทางเข้ามาประมาณ 1,070,000 คน รวมเม็ดเงินที่เข้ามาตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ประมาณ 176,311 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยวสะสม 3.7 ล้านคน นักท่องเที่ยวที่เข้ามามากสุดเป็น มาเลเซีย 5.3 แสนคน อินเดีย 3.9 แสนคน สิงคโปร์ 2.1 แสนคน สหราชอาณาจักร 1.8 แสนคน เวียดนาม 1.7 แสนคน” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยมากสุด

ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทย หรือไทยเที่ยวไทย ตั้งแต่1 มกราคม-17 สิงหาคม 2565 มีจำนวน 86 ล้านคน-ครั้ง มีรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยระหว่าง 1 มกราคม-17 สิงหาคม 2565 จำนวน 377,740 ล้านบาท รวมรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งสองส่วน 554,051 ล้านบาท

ขยายเวลาต่างชาติพำนักในไทยเพิ่ม

โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการท่องเที่ยวและกีฬา (ศปก.กก.) เสนอเรื่อง การขยายระยะเวลาการพำนักของผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพิ่มรายได้ทางการท่องเที่ยว โดยกระตุ้นให้เกิดการเดินทาง และเพิ่มค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ดังนี้

ขยายระยะเวลาพำนักสำหรับผู้ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราในการเข้าประเทศ ทั้งที่ไทยให้แต่ฝ่ายเดียว และที่มีความตกลงระหว่างกัน จากไม่เกิน 30 วัน เป็นไม่เกิน 45 วัน

ขยายระยะเวลาพำนักสำหรับผู้ได้รับ Visa on Arrival จากไม่เกิน 15 วัน เป็นไม่เกิน 30 วัน

การขยายระยะเวลาพำนักของผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรข้างต้น ให้มีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 31 มีนาคม 2566

มอบหมายกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามมติ ศบค. ต่อไป

“ท่านนายกฯยังมีความเป็นห่วงอยู่ 2 เรื่องที่มีการรายงานเข้ามาจากปลัดสำนักนายกฯ คือเรื่องของผู้ที่ขนส่งพัสดุและอาหารที่ไปส่งตามบ้าน มีการร้องเรียนเรื่องของสุขลักษณะต่าง ๆ รวมถึงเรื่องขยะติดเชื้อ ซึ่งทาง รมว.มหาดไทยได้รับข้อสั่งการขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนได้ช่วยกันแยกขยะด้วย โดยเฉพาะเรื่องหน้ากากอนามัย ซึ่งควรจะแยกถุงขยะติดเชื้อโดยเฉพาะ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะต้องช่วยกัน” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวในตอนท้าย