กรมวิทย์ เผยป้องกันโควิดแบบสมบูรณ์ ต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นทุก 3-4 เดือน

วัคซีนโมเดอร์นา
FILE PHOTO : Leon Neal / POOL / AFP

หากไม่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น จะมีความเสี่ยงของการติดเชื้อ หรือป่วยรุนแรงบ้าง แต่ยังน้อย แต่อย่างน้อยหากฉีด 3 เข็มโอกาสเสียชีวิตจะต่ำมาก

วันที่ 5 กันยายน 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้สายพันธุ์โควิดพบมาก คือ BA.5 ส่วนการเฝ้าระวัง BA.2.75 มี 13 ราย ซึ่งยังน้อย เมื่อเทียบกับ BA.4 และ BA.5 มีมากเกือบ 100% โดยใน BA.5 มีเกือบ 6 เท่าของ BA.4

หมายความว่า ขณะนี้ BA.5 ครองตลาดในไทยมากที่สุด ส่วน BA.2.75 ยังไม่มีวี่แววว่าจะเข้ามาแทนที่ ขณะที่ BA.4.6 ก็ยังไม่มีในประเทศ

อย่างไรก็ตามหากไม่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น จะมีความเสี่ยงของการติดเชื้อ หรือป่วยรุนแรงบ้าง แต่ยังน้อย แต่อย่างน้อยหากฉีด 3 เข็มโอกาสเสียชีวิตจะต่ำมาก และหากต้องการแบบสมบูรณ์จะต้องกระตุ้นทุก 3-4 เดือน

ดังนั้นเป้าของไทยจึงวางไว้ที่ 3 เข็ม ประมาณ 70-80% และหนึ่งในนั้นมีกลุ่ม 608 กลุ่มเสี่ยงได้ฉีดกระตุ้นสูง ๆ ยิ่งดี เพราะจะลดความรุนแรงของเชื้อ ลดอัตราการเสียชีวิตได้

ส่วนวัคซีนรุ่นใหม่ที่หลายบริษัทกำลังพัฒนานั้น หากชั่งน้ำหนักว่าเราฉีดมาแล้ว 5 เข็ม ทำให้มีภูมิ ในระดับหนึ่ง และหากไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ก็อาจจะรอดูสถานการณ์ได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อด้วย เพราะหากเกิดการกลายพันธุ์และรุนแรงก็ต้องพิจารณาใหม่อีกครั้ง

แม้มีข่าวว่ามีความพยายามอนุมัติให้ฉีดวัคซีนสายพันธุ์ BA.1 แต่ในความเป็นจริง ผู้ที่ติด BA.1 ก็สามารถติด BA.5 ได้ จึงเกิดคำถามว่าวัคซีนที่ผลิตออกมาใหม่ มีความต่างจากเดิมมากแค่ไหน

เพราะหากต่างกันไม่มาก อาจไม่คุ้มค่า ซึ่งเชื่อว่าวัคซีนไล่ไม่ทันสายพันธุ์ เช่น แม้วันนี้จะมี BA.5 มาขายแต่อีกไม่กี่เดือนก็มีไวรัสตัวใหม่อีก

นพ.ศุภกิจ ย่ำว่า การปูพื้นด้วยวัคซีนเชื้อตายนั้นไม่เสียเปล่า และเป็นฐานที่ดีช่วยให้เมื่อได้รับการกระตุ้นด้วยวัคซีนอื่นก็ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูง