10 ปี คดี “เดอะบีช” เมื่ออ่าวมาหยาพัง เพราะการถ่ายทำภาพยนตร์ ?

23 ปี คดี

ย้อนเส้นทาง 10 ปี คดี “เดอะบีช” เมื่อการถ่ายทำภาพยนตร์ ทำธรรมชาติพัง และกลายเป็นคดีฟ้องร้อง

วันที่ 13 กันยายน 2565 จากกรณีคำพิพากษาคดีข้อพิพาทการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “เดอะบีช” ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ องค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ และพวกรวม 19 ราย ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมป่าไม้, อธิบดีกรมป่าไม้, บริษัท ซันต้า อินเตอร์เนชั่นแนล ฟิล์มฯ และบริษัท ทเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์นั้น

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวน ย้อนเส้นทาง คดี “เดอะบีช” ที่เป็นเรื่องฟ้องร้องตลอด 23 ปีที่ผ่านมา เพียงเพราะซีนถ่ายทำเพียงซีนเดียว

เรื่องราวเริ่มต้นจากวันที่ 11 มิถุนายน 2541 ทเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์ ผู้สร้างภาพยนตร์ “เดอะบีช” ติดต่อทางการไทยเพื่อขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์บนอ่าวมาหยา เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ โดยจะมีการปรับแต่งชายหาด เพื่อนำต้นมะพร้าวมาปลูกประมาณ 100 ต้น ภายหลังลดลงเหลือ 60 ต้น และขุดทรายหน้าหาด ปรับพื้นที่หาดทรายให้กว้างออกไปกว่าเดิม เพื่อการถ่ายทำฉากเล่นฟุตบอลชายหาดตามที่มีในฉบับนิยาย เพียงฉากเดียว

30 กรกฎาคม 2541 บริษัทยื่นหนังสือต่อกรมป่าไม้ เพื่อขอใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาตินพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี กรมป่าไม้อนุญาตให้มีการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ แต่กรมป่าไม้ไม่มีอำนาจอนุญาต ให้กองถ่ายนำอุปกรณ์เข้าไปตกแต่งพื้นที่หาดมาหยาและปลูกมะพร้าว ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

อ่าวมาหยา หาดมาหยา
(แฟ้มภาพ) หาดมาหยาระหว่างเตรียมการถ่ายทำภาพยนตร์

อ่าวมาหยา หาดมาหยา

อธิบดีกรมป่าไม้อนุญาตกองถ่ายใช้พื้นที่ตามอำนาจ พ.ร.บ.อุทยานฯ

แต่นายปลอดประสพ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนขณะนั้นว่า “ผมมีอำนาจตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 19 ว่าด้วยการสนับสนุน ให้การศึกษา การท่องเที่ยว การอำนวยประโยชน์ การบริการในอุทยานแห่งชาติ โดยให้เจ้าหน้าที่กำกับดูแล จึงอนุญาตให้บริษัท ดำเนินการใด ๆ ภายใต้การกำกับของกรมป่าไม้”

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2541 เป็นต้นมา ภาพการขุดอ่าวมาหยาเริ่มปรากฏต่อสาธารณชน มีการนำเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้ามาขุดชายหาดและสันทราย ขุดย้ายพันธุ์ไม้ชายหาด เช่น รักทะเล พลับพลึงทะเล เตยทะเล ผักบุ้งทะเล และพบเรือแพบรรทุกต้นมะพร้าวเข้ามาบริเวณหาดอ่าวมาหยา แล่นผ่านแนวปะการังน้ำตื้นขึ้นมาบนชายหาด

รวมถึงสั่งห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยว และบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตขึ้นอ่าวมาหยาอย่างเด็ดขาด โดยในระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำดูแลอย่างใกล้ชิด

จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น นำมาสู่การตั้งข้อสังเกตและความห่วงกังวลของนักวิชาการ นักอนุรักษ์ต่อสภาพอ่าวมาหยาที่เปลี่ยนแปลงไป

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียน และอดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับอ่าวมาหยาหลังผ่านการถ่ายทำไป 1 ปี ผ่าน นิตยสารสารคดี ว่า “หาดทรายถูกคลื่นซัดจนแนวหาดร่นเข้าไป 2-3 เมตร เป็นแนวยาว สันทรายเบื้องหน้าอยู่ในสภาพทรุดโทรม จากการกัดเซาะของคลื่น จนสันทรายบางส่วนพังทลายลงมา ทำให้ต้นไม้หลายชนิดที่ไม่มีทรายรองรับหักโค่นลง”

ศาลรับฟ้องครั้งแรกเมื่อปี 2555

จากกรณีดังกล่าว นำมาสู่ความกังวลของนักวิชาการสิ่งแวดล้อม และเกิดการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกระบวนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม บนอ่าวมาหยา เป็นเงิน 100,000,000 บาท ซึ่งศาลรับคำฟ้องครั้งแรกเมื่อปี 2555 หรืออีกกว่า 10 ปีถัดจากเหตุการณ์ดังกล่าว และมีการไกล่เกลี่ยคดีอยู่หลายครั้ง

21 เมษายน 2561 โจทก์และจำเลย มี การไกล่เกลี่ย ตั้งนักวิชาการร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ศาล โจทก์ และจำเลย ลงพื้นที่อ่าวมาหยา รวบรวมรายละเอียดเพื่อเป็นแนวทางการฟื้นฟู โดยบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์มีความประสงค์จะตั้งกองทุนฟื้นฟูอ่าวมาหยา ตามที่โจทก์ยื่นฟ้อง

และคดีมาถึงจุดสิ้นสุดในวันนี้ เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้กรมป่าไม้ (จำเลยที่ 2) ปรับปรุงแก้ไขหาดมาหยาให้กลับคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทําแผนการแก้ไขฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบริเวณอ่าวมาหยา เพื่อเสนอแผนการฟื้นฟูระบบนิเวศนี้ และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบริเวณอ่าวมาหยาต่อศาลเพื่อพิจารณาการปฏิบัติตามแผนของคณะทํางาน

สำหรับจำเลยที่ 4-5 (บริษัท ซันต้าฯ และบริษัท ทเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์) ศาลให้รับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งตามสัญญานั้น จำเลยที่ 5 ประสงค์และยินดีจะอำนวยการช่วยเหลืออนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยมอบเงิน 10 ล้านบาท เพื่อให้โจทก์ที่ 1-2 นำไปใช้เพื่อการอนุรักษ์ตามอำนาจหน้าที่ และโจทก์ที่ 1 จะรายงานผลการปฏิบัติงานต่อศาลทุกกำหนด 1 ปีต่อเนื่องกันเป็นเวลา 3 ปีหรือจนกว่าเงินจะหมด ส่วนจําเลยที่ 1 (รมว.เกษตรและสหกรณ์) และจำเลยที่ 3 (อธิบดีกรมป่าไม้) ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง