การทางพิเศษ แจงเก็บค่ารักษา Easy Pass เฉพาะผู้ไม่ใช้งานเกิน 1 ปี

ทางด่วน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย Easy Pass M-Flow
ภาพจาก การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ชี้แจงการเก็บค่ารักษาบัญชี Easy Pass เฉพาะผู้ที่ไม่ใช้งานเกิน 1 ปี เริ่มเก็บจริง 1 ตุลาคม 2566

วันที่ 24 กันยายน 2565 จากกรณีการเก็บค่ารักษาบัญชี Easy Pass ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษาแล้วนั้น

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชี้แจ้งผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ โดยระบุว่า ตามที่มีข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กรณี การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะเรียกเก็บเงินค่ารักษาบัญชีบัตร Easy Pass จำนวน 25 บาท ต่อเดือน โดยจะเริ่มเก็บภายในสิ้นเดือนตุลาคม 2565 นั้น

กทพ. ขอชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง นั่นก็คือ กทพ.จะเรียกเก็บค่ารักษาบัญชีเฉพาะผู้ใช้บัตร Easy Pass ที่ไม่ได้ใช้งาน หรือไม่มีการเคลื่อนไหว เติมเงิน เท่านั้น ไม่ได้เรียกเก็บกับผู้ใช้ Easy Pass โดยทั่วไป และจะเริ่มเก็บค่ารักษาบัญชีจากผู้ใช้บัตร Easy Pass ที่ไม่มีการเคลื่อนไหว ภายใน 1 ปี ในเดือนตุลาคม 2566

เนื่องจากการให้บริการบัตร Easy Pass กทพ. ต้องจัดหาตัวอุปกรณ์บัตร OBU และบัตรสมาร์ทการ์ดให้ โดย กทพ. ได้ให้ผู้ใช้ทางพิเศษใช้บริการฟรี เพียงแต่ต้องเติมเงินค่าผ่านทางในบัตร ซึ่ง กทพ. ต้องมีการบริหารจัดการในทุกบัญชี

ดังนั้น ผู้ใช้บริการควรต้องใช้บริการตามวัตถุประสงค์ที่ขอสมัครไว้ และหากผู้ใช้บริการมีความจำเป็นที่จะไม่ใช้บัตร Easy Pass อาทิ ไปทำงานต่างประเทศ หรือเหตุอื่น ๆ ก็สามารถติดต่อ กทพ. เพื่อขอยกเลิกการใช้งาน ซึ่งจะได้รับเงินในบัตรคืน

อย่างไรก็ตามก่อนจะครบกำหนด 1 ปี กทพ. จะส่ง SMS หรืออีเมล แจ้งให้กับผู้ใช้บริการ Easy Pass ที่ไม่มีการเคลื่อนไหวให้ทราบล่วงหน้าว่าจะเริ่มเก็บค่ารักษาบัญชี

สำหรับระบบ Easy Pass เป็นระบบที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย นำเข้ามาใช้เพื่อรองรับการชำระค่าผ่านทางแบบอัตโนมัติ ตั้งแต่ปี 2553 และร่วมมือกับกรมทางหลวง พัฒนาให้ระบบ Easy Pass ของ กทพ. และ M Pass ของกรมทางหลวง สามารถชำระค่าผ่านทางได้อัตโนมัติทั้งด่านบนทางด่วนพิเศษ (Expressway) และด่านบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway)\

ปัจจุบัน กทพ. เปิดให้ผู้ใช้ Easy Pass สามารถลงทะเบียนปรับปรุงข้อมูล และอัปเกรดเป็น Easy Pass Plus เพื่อรองรับการใช้งานระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) โดยใช้เงินคงเหลือใน Easy Pass ชำระค่าผ่านทางที่ช่อง M-Flow ได้ทันทีที่เปิดให้บริการ Easy Pass Plus

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับระบบ M-Flow บนทางด่วนพิเศษ กทพ. มีแผนการเปิดให้บริการระบบ M-Flow ดังนี้

ระยะที่ 1 ทางพิเศษฉลองรัช ทั้ง 3 ด่าน ได้แก่ ด่านจตุโชติ ด่านสุขาภิบาล 5-1 และด่านสุขาภิบาล 5-2 กำหนดเปิดให้บริการในปลายปี 2565

ระยะที่ 2A ทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก รวมทั้งสิ้น 60 ด่าน กำหนดเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2567

ระยะที่ 2B ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกนอกกรุงเทพมหานคร และทางพิเศษอุดรรัถยา รวมทั้งสิ้น 70 ด่าน กำหนดเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2567

ข่าวที่เกี่ยวข้อง