ชัชชาติ เข้มสำนักงานเขตลุย Traffy Fondue เตรียมพร้อม ลอยกระทง-เอเปค

ชัชชาติประชุมหัวหน้าหน่วยงาน กทม. ตามติดนโยบาย 216 ข้อ ประชันความสำเร็จแก้ปัญหาผ่าน Traffy Fondue ติวเข้มความปลอดภัยเอเปค-ลอยกระทง

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 11/2565 นายชัชชาติได้เผยว่า

การประชุมครั้งนี้มีการติดตามนโยบายตามแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ทั้ง 216 ข้อ ซึ่งได้ผลักดันลงที่สำนักที่รับผิดชอบหลักในแต่ละนโยบาย และได้เริ่มดำเนินการไปแล้วหลายร้อยเรื่อง จากนี้จะลงไปสู่การปฏิบัติให้ละเอียดมากขึ้นและลงไปที่รายเขตด้วย

ซึ่งวันนี้มาซักซ้อมความเข้าใจกัน และให้ทางสำนักและเขตลงแผนปฏิบัติให้เข้มข้นจริงจัง รวมถึงการกำหนดเครื่องมือในการประเมินผลโดยมีกรอบเวลาที่ชัดเจนแบบ OKR (Objective and Key Results) ซึ่งเปลี่ยนแนวคิดจากการวัดแบบ KPI (Key Performance Indicator) เพื่อให้วัดประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น

อีกทั้งยังมีประเด็นอื่น ๆ ในการประชุมคือ

สำนักงานเขตแก้ปัญหาผ่าน Traffy Fondue ชิงรางวัล

นายชัชชาติได้เน้นย้ำกับผอ.เขต เรื่อง  Traffy Fondue เป็นการเน้นเส้นเลือดฝอย โดยให้ประชาชนมีสิทธิในการแจ้งปัญหาต่าง ๆ ซึ่งถึงวันนี้มีคนแจ้งเหตุประมาณ 170,000 เรื่อง ทำเสร็จแล้ว 110,000 เรื่อง ขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคน ถือเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน สิ่งสำคัญและน่าดีใจคือ การสร้างความไว้ใจแก่ประชาชน

ประชาชนเชื่อว่าเราจะแก้ไขปัญหาให้ เขาจึงกล้าแจ้งเรื่องเข้ามา ซึ่งต่อไปจะต้องทำต่ออย่างเข้มข้น โดยจะมีการแบ่งเขตออกเป็น 4 กลุ่ม ตามลักษณะของปัญหา เช่น เขตชานเมือง เขตชุมชนหนาแน่นปานกลาง หนาแน่นมาก เขตในเมือง และให้แต่ละกลุ่มแข่งขันกันว่าทำ Traffy Fondue ได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน และจะมีรางวัลเป็นกำลังใจให้ช่วงปลายปีและทุกปี

“ผมเชื่อว่าเรามาถูกทางแล้ว ที่ประชาชนแจ้งเหตุเข้ามาจำนวนมาก เน้นย้ำว่าต้องทำต่อ หากติดขัดตรงไหนให้เสนองบประมาณเพื่อนำมาสนับสนุนตรงนี้ เช่น หน่วยงานไหนที่มีร้องเรียนเรื่องถนนเยอะ แต่ไม่มีงบประมาณทำ ก็ต้องเตรียมงบประมาณเพื่อให้ตอบโจทย์ประชาชนที่ขอร้องมา เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการจัดสรรงบประมาณของตัวเอง ผ่านการร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue” นายชัชชาติกล่าว

กทม. พร้อมรับประชุมเอเปคเต็มที่ 100%

นายชัชชาติกล่าวต่อในประเด็นความพร้อมในการจัดการประชุมเอเปคในส่วน กทม.ว่า ส่วนเรื่องเอเปคได้เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ในการต้อนรับ ตั้งแต่เรื่องการดูแลสถานที่ต่าง ๆ สวนเบญจกิติ เรื่องการเดินทางต่าง ๆ ซึ่งตอนนี้ กทม.พร้อม 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว

ส่วนเรื่องการปิดถนนอย่างไร ปิดสวนเมื่อไหร่ คงต้องรอรายละเอียดจากทางตำรวจและฝ่ายความมั่นคงอีกครั้ง ตอนนี้ที่ปิดคือสวนป่าเบญจกิติ จะปิดให้บริการในวันที่ 12 พ.ย.เป็นต้นไป รวมทั้งถนนรัชดาภิเษก และสถานีรถไฟฟ้า MRT สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ด้วย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด

เข้มมาตรการปลอดภัยลอยกระทง

สำหรับมาตรการความปลอดภัยในเทศกาลลอยกระทง ได้เน้นย้ำให้เขตเอาจริงเอาจัง ซึ่งในแต่ละเขตจะมีพื้นที่จัดลอยกระทงแน่นอน ต้องดูว่าทางเข้าออกเป็นอย่างไร ต้องมีคนที่อยู่ข้างในแจ้งความหนาแน่น โดยนำเหตุการณ์ที่เกาหลีใต้มาเป็นบทเรียน

การจัดงานลอยกระทงคงไม่ได้แออัดกันมาก แต่กลัวว่าคนจะเบียดกันตกน้ำ ดังนั้น ต้องมีมาตรการเลยว่าเมื่อไรจะหยุดคนเข้าพื้นที่ ถ้ามีคนตกน้ำจะช่วยเหลืออย่างไร ลำดับการบริหารจัดการเป็นอย่างไร ขอให้ ผอ.เขตไปตรวจทุกโป๊ะโดยละเอียด เอาคนเข้าไปยืนจริง ๆ ตามที่กำหนด เช่น รับน้ำหนัก 60 คน เอาคนไปยืน 60 คน รับน้ำหนักได้จริงหรือไม่ รวมถึงทางเข้าทางออกต่าง ๆ

“ปัญหาคือ 2 ปีที่ผ่านมาไม่ได้จัดงาน บางทีเราคิดว่าโป๊ะอยู่ในสภาพใช้งานแต่จริง ๆ อาจจะใช้งานไม่ได้ และโป๊ะที่มีสภาพเสียหายอยู่ต้องปิดไม่ให้คนเข้า และต้องปิดจริง เพราะสุดท้ายแล้วอาจจะมีคนพยายามลงไปลอยกระทง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดูแลอย่างจริงจังและเข้มงวด รวมถึงการเข้าออกในแต่ละจุด ทั้งนี้ ได้สั่งการทุกเขตแล้ว และไม่ให้เน้นเรื่องการขายของ การละเล่น ให้เน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนเรื่องขายของให้พ้นจากพื้นที่น้ำไป เพื่อให้คนเดินเข้าออกจากพื้นที่ลอยกระทงได้ง่ายขึ้น” นายชัชชาติกล่าว